เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน! ทำไมรีเทลต้องเป็น Third Place

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์ทุกแวดวง นับเป็นโจทย์ท้าทายอันดับต้นๆ ของธุรกิจที่ไม่สามารถใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ เพื่อทำธุรกิจในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความแตกต่าง ในทุกองศาของการใช้ชีวิต 

วันนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งรายเก่าและรายใหม่ ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ที่มุ่งขายสินค้าอีกต่อไป แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนมาใช้ชีวิตและประสบการณ์กับเซอร์วิสต่างๆ ที่นำเสนอ เพราะสินค้าซื้อที่ไหนก็ได้ หรือไม่ต้องไปถึงสถานที่ ด้วยเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ ก็สามารถสั่งซื้อได้ทุกที่ ทุกเวลาเพียงปลายนิ้วคลิก 

ธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้จึงต้องปรับตัว สร้างพื้นที่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันด้วยกันเอง

บนพื้นที่ 43 ไร่ ย่านสุขุมวิท 101 เดิมคือ โครงการปิยะรมย์ ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาของ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ได้ใช้การวิจัยความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในระยะ 3 กิโลเมตรรอบโครงการ มาใช้วางคอนเซ็ปต์พัฒนาพื้นที่รีเทล ตอบโจทย์ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนย่านนี้ พื้นที่รีเทลจึงออกมาเป็นโครงการ “101 The Third Place @True Digital Park” เป็นการรวมที่อยู่อาศัย-สถานที่ทำงาน-แหล่งพักผ่อน” ไว้ในพื้นที่เดียวกัน 

ต้อง Third Place ถึงแตกต่าง 

ทำไมต้องเป็น Third Place!! ณิชา ศรีสงวนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายงานบริหารพื้นที่พาณิชย์และค้าปลีก MQDC ให้คำตอบว่ามาจากการวิจัยผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ ที่ต้องการพื้นที่รีเทล ที่มาพร้อมกับสถานที่พักผ่อนแตกต่างจากค้าปลีกเดิมๆ เห็นได้ว่าตั้งแต่พระโขนงมาถึงบางนา ไม่มี พื้นที่ค้าปลีกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเป็นแหล่งพักผ่อน ช้อปปิ้งและใช้ชีวิตแบบทั้งวันในสถานที่เดียวกัน  

แนวคิด Third Place เข้ามาเติมช่องว่างในตลาดค้าปลีกและสร้างความแตกต่างจากพื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ ด้วยการเป็นไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์ แห่งแรกของกรุงเทพฯ

โดย 101 The Third Place เป็นพื้นที่รีเทล สถานที่สุดโปรด รองจากที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ลงทุน 30,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วยร้านอาหาร ร้านค้า บริการ พื้นที่สำหรับออกกำลังกาย โดยมีพื้นที่สีเขียว 3 ไร่ หรือ 32% ของพื้นที่โครงการ ปกติโครงการที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ จะอยู่ที่  5-10%

การให้พื้นที่สีเขียว ไร่ ซึ่งจะมีทั้งภายในอาคาร สวนบนดาดฟ้าและภายนอกอาคาร ก็เพื่อตอบโจทย์การเป็น Third Place ทั้งกลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียม 3 อาคารรวม 2,000 ยูนิต และกลุ่มคนทำงานในพื้นที่สำนักงานและโคเวิร์กกิ้ง สเปซของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค รวมทั้งต้องการเป็น Third Place ของคนที่พักอาศัยและทำงานในย่านนี้ในรัศมี 3 กิโลเมตรมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน 

ส่องโซนไฮไลท์ ใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง 

ในพื้นที่ “101 The Third Place” ที่เรียกว่าเป็นโซนไฮไลท์ คือ Hillside Town จึงถูกออกแบบ ให้มีทั้งร้านค้า สไตล์ต่างๆ ผสมกับประสบการณ์การช้อปและชิม โดยออกแบบให้เหมือนอยู่กลางหุบเขา ลัดเลาะตามทางเดินบนเนินที่โค้งตัวไปมาให้อารมณ์เดินดูสินค้า

ไอเดียการพัฒนาพื้นที่ Hillside Town มาจากการวิจัยความต้องการของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการเดินช้อปสินค้า หรือเดินส่องร้านอาหารแบบเดิมๆ ที่เรียงกันแถว 

คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบการท่องเที่ยวญี่ปุ่น Hillside Town จึงมีต้นแบบมาจากพื้นที่ร้านค้าปลีกที่สอดแทรกอยู่ตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น ย่าน รปปงหงิ” ซึ่งเป็นรูปแบบร้านค้าปลีกที่ตอบโจทย์การช้อปปิ้งและพักผ่อนตามคอนเซ็ปต์ของ Third Place

อีกไฮไลท์ คือ พื้นที่ 24-Hour Street ที่ร้านค้าส่วนใหญ่จะให้บริการถึงเที่ยงคืน และส่วนหนึ่งเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งพื้นที่นี้คิดจากโจทย์ ชีวิตคนเมืองไม่เคยหยุดนิ่ง และคนทำงานรุ่นใหม่ ธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่สำนักงานและโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ใน ทรู ดิจิทัล พาร์คซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้ทำงาน 24 ชั่วโมง อีกทั้ง ไทม์ โซน ของบริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่แตกต่างจากไทย กลางคืนไทยเป็นช่วงเวลาทำงานของฝั่งตะวันตก 

เรียกได้ว่าเซอร์วิสต่างๆ ของ 24-Hour Street ถนนที่ไม่มีวันหลับจะเข้ามาตอบไลฟ์สไตล์ได้ในจุดนี้ ในพื้นที่มี 18 ร้านค้าให้บริการ อันดับแรกก็ต้องเป็น ร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านสะดวกซื้อ เพื่อตอบโจทย์คนนอนดึก ในแต่ละช่วงจะมีการจัดอีเวนท์ เพื่อนำร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังมาให้บริการด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันพื้นที่รีเทลกว่า 97 ร้านค้า เปิดให้บริการแล้ว 85% คาดว่าเดือนมีนาคมนี้จะให้บริการได้เต็มพื้นที่ โดยมีพื้นที่ร้านค้าใหม่ๆ เช่น Red Fox ร้านจำหน่ายเกมและคาเฟ่

วางเป้าหมายคนใช้บริการ 40,000-50,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้ 5,000 คนเป็นผู้อาศัยในคอนโดมิเนียมทั้ง 3 อาคาร และอีก 20,000 คนเป็นคนทำงานใน ทรู ดิจิทัล พาร์ค

สำหรับพื้นที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ถูกวางให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก (Global Destination) ของคนดิจิทัลเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และครบวงจรแห่งแรกของกรุงเทพฯ เปิดให้บริการพื้นที่สำนักงานเช่าและโคเวิร์กกิ้ง สเปซ เฟสแรก 30,000 ตารางเมตรในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เจาะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ส่วนเฟส 2 อีก 40,000 ตารางเมตร จะก่อสร้างแล้วเสร็จอีก 2 ปี.