“ดีแทคต้องเป็นมากกว่าธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการกลับมาเติบโตในธุรกิจอีกครั้ง” นี่คือสิ่งที่ “อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2018 คาดหวังไว้
ก้าวแรกในการขยายธุรกิจของ “อเล็กซานดรา” กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว เมื่อ “ดีแทค” ได้ประกาศขยายธุรกิจสู่ “ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า” (Electric Vehicle Connectivity Platform) หรือ EV อย่างเป็นทางการในงาน Thailand Mobile EXPO 2019
เรียกว่าเป็นการเปิดตัวอย่าง “ถูกที่ถูกเวลา” เสียจริง ในภาวะที่คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญสถานการณ์ที่มลพิษทางอากาศ “ฝุ่น PM 2.5” อยู่ในเกณฑ์ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ กระตุ้นให้กระแสรักสิ่งแวดล้อมปะทุขึ้นมาในสายตาของคนกรุงเทพฯ อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 เชื่อว่ามาจากควันของรถต่างๆ รวมไปถึง “รถมอเตอร์ไซค์”
“เมืองไทย” ถูกนับให้เป็นตลาดที่ใหญ่สุดของรถมอเตอร์ไซค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 12 ของโลก แต่ละปีมียอดขายกว่า 2 ล้านคน เกือบ 100% เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมมากนัก กำแพงภาษีทำให้ราคาแพงกว่ารถที่ขับเคลื่อนน้ำมันกว่า 30,000 – 40,000 บาท อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังไม่มีรองรับ
แต่ดีแทคเชื่อว่าจะสามารถจุดพลุ “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” ให้เกิดได้ เพราะได้ดึงพันธมิตรหลายๆ รายเข้ามาเสริมให้เกิดเป็นอีโคซิสเต็ม ทั้ง “เอ็ม วิชั่น” ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วย คือผู้จัดงาน Mobile EXPO ที่ดีแทคต้องเข้าร่วมอยู่แล้ว มาเป็นตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าจากเมืองจีน ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตมือถือ เช่น เสี่ยวมี่ ออปโป้ และวีโว่ เป็นเจ้าของอยู่ในเบื้องหลัง
และยังให้ ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เจ้าของตู้บุญเติมที่มีกว่า 1.3 แสนตู้ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางในการเติมเงินสำหรับดีแทค มาเปิดจุดบริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านตู้อัจฉริยะ ส่วนดีแทคจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม EV Connectivity จะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรถไฟฟ้า EV บริษัทประกัน บริษัทเช่าซื้อและสถาบันการเงินและสินเชื่อ บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ
บริการการรับชำระเงินผ่านระบบบิลลิ่งของดีแทคและพันธมิตร รวมถึงบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย ซึ่งเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ผ่านการเชื่อมต่อของซิมดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นหัวใจในการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชั่นที่ดีแทคเป็นผู้พัฒนาขึ้น
เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกทีเดียวหลายตัว ทั้งกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรดังที่กล่าวมา และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับดีแทค ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องมีค่าใช้จ่ายค่าบริการของซิม นอกจากนี้ดีแทคยังอาจได้รับค่าแนะนำของผู้กู้ จากผู้ที่ซื้อรถแบบผ่อน วิธีนี้ยังเป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้ หากดีแทคยังไม่ยืนยัน ที่แน่ๆ จะไม่กระโดดเข้าไปเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแน่นอน
ในเฟสแรกจะมีการเปิดจุดบริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ 10 จุด เริ่มจากทำเลเขตบางกะปิและรามคำแห่ง ด้วยมองว่ามีความท้าทายในการขับขี่ รถค่อนข้างติดคนจึงนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์ และยังมีกำลังซื้อ ในอนาคตอยากให้มีจุดบริการทุกๆ 5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งการขยายจุดต่อไปได้ทาง “ฟอร์ท สมาร์ท” มองว่าจะต้องมีรถในระบบอย่างน้อย 50,000 – 100,000 คันก่อน
ส่วนรถเบื้องต้นจะมีการนำเข้ามาทั้งหมด 5 รุ่น ราคา 40,000 – 100,000 แสนบาท โดยภายในงานดีแทคได้เปิดจองทั้งหมด 200 คัน โดยหากเป็นลูกค้ารายเดือนจะใช้ได้ทันที ถ้าไม่ใช่จะต้องเปิดเบอร์ใหม่ขั้นต่ำ 349 บาทเป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้เรื่องช่องทางจำหน่ายกำลังอยู่ในระหว่างพูดคุย อาจจะนำช็อปดีแทคบางสาขาที่เป็นไปได้มาจัดแสดงรถ แต่ไม่ได้ขาย จะไปยังช่องทางอื่นๆ ที่แน่ๆ ต้องไปยังร้านขายมอเตอร์ไซค์
ดีแทคเชื่อว่าจะสามารถดันให้เกิดได้ ด้วยการชูความประหยัดที่มากกว่า 50% ซึ่งแบตเตอรี่ 2 ก้อนจะสามารถขับได้ 200 กิโลเมตร ในส่วนของงแบตเตอรี่มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับโมเดล 2 ข้อ คือซื้อขาดและให้เช่า ซึ่งอย่างหลังจะทำให้สามารถเปลี่ยนแบตที่จุดบริการได้ทันที โดยที่ไม่ได้เสียเวลารอชาร์จ และยังทำให้ราคาถูกลงอีกด้วย เพราะปัจจุบันรถบางคันแบตเตอรี่คิดเป็นต้นทุนถึง 70% เลยทีเดียว
“โมเดลธุรกิจจะลองไปเรื่อยๆ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองการให้บริการ ตอนนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น เมื่อลงตัวก็จะขยายต่อ อนาคตอาจจะมีบริการให้รถก็เป็นไปได้ แต่ตอนนี้ต้องทำให้แข็งแรงก่อน”
รถมอเตอร์ไซค์ EV ทั้งหมดภายใต้แพลตฟอร์มของดีแทค จะเริ่มทำตลาดเต็มรูปแบบ และมอบรถภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายน.