บีอีซี เวิลด์ ยักษ์ใหญ่วงการทีวีแห่งอาณาจักรกลุ่มช่อง 3 รายงานผลประกอบการประจำปี 2561 ขาดทุน 330 ล้านบาท รายได้ค่าโฆษณาทั้งปีวูบ 10% แถมต้องจ่ายค่าจ้างพนักงานออกอีก 250 ล้านบาท
การที่ผลประกอบการทั้งปีของบีอีซี เวิลด์ ขาดทุนในปี 2561 นี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2539 เป็นต้นมา ที่ไม่เคยมีผลประกอบการรายปีขาดทุนเลยสักครั้งเดียว มีแต่เพียงผลประกอบการรายไตรมาสที่ขาดทุน ซึ่งเริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 แต่ผลประกอบการโดยรวมของปี 2560 ยังมีกำไรรวมอยู่ที่ 61 ล้านบาท
บีอีซี เวิลด์ ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในปี 2561 บริษัทมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 10,375 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,226 ล้านบาท หรือลดลง 6% มาจากรายได้จากค่าโฆษณาที่ลดลง
โดยรวมทั้งปี 2561 บีอีซี มียอดรายได้จากค่าโฆษณารวมอยู่ที่ 8,878 ล้านบาท ลดจาก 9,890 ล้านบาท ในปี 2560 หรือลดลง 10.2% แม้ว่าในปีที่ผ่านมานี้ ช่อง 3 มีละคร “บุพเพสันนิวาส” เป็นรายการดัง ที่ทำเรตติ้งสูงสุดของปี และตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 13.384 แต่ดูเหมือนว่ารายได้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามเรตติ้ง
ทั้งนี้ รายได้หลักจากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซี นั้นยังคงเป็นรายได้หลักถึง 85.6% ของรายได้รวมและมาจากการขายเวลาโฆษณาของ “ช่อง 3” เป็นหลัก การลดลงของการขายเวลาโฆษณา ของ “ช่อง 3” ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม BEC นั้น บีอีซีชี้แจงว่า มีการลดลงตามสภาวะที่การแข่งขันในตลาดที่สูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ผู้ลงโฆษณาใช้เงินโฆษณาอย่างจำกัดกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกันรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ในปี 2561 อยู่ที่ 368.5 ล้ำนบาท ลดลง 85.7 ล้านนบาท หรือ 18.9% จากปี 2560 ที่ 454.2 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์หลายรายการ เช่น Disney On Ice, Ninja Exhibition, BRICK LIVE LEGO SHOW, B5 Now 15 Concert, และการจัดการประกวด Miss Thailand World 2018 และมีการรับจ้างจัดคอนเสิร์ตได้แก่ Bruno Mars, Harry Styles, Celine Dion Mike Shinoda of Linkin Park, Sam Smith และCharlie Puth เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ในครึ่งหลังของปี 2558 ได้มีโอนย้ายกิจกรรมการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในประเทศไทย ออกไปให้ บริษัท ไลฟ์ เนชั่น บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ
รายได้ขายลิขสิทธิ์ และออนไลน์โต
เมื่อแยกสัดส่วนรายได้ในกลุ่มลิขสิทธิ์ และรายได้อื่น ที่รวมถึงธุรกิจออนไลน์นั้น ปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,054.8 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 436.2ล้านบาท หรือ 70.5% จากปี 2560 ที่ 618.6 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจออนไลน์ที่ผ่านแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ของกลุ่ม BEC เช่น CH3Thailand และ Mello รวมถึงแพลตฟอร์มพันธมิตร และเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ (Global Content Licensing)
ทั้งนี้ มีรายงานว่า รายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมดมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 348 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2560 มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 136 ล้านบาท
ปรับโครงสร้าง ลดพนักงาน อ่วม รับภาระถึง 250 ล้านบาท
ภาระใหญ่ของกลุ่มบีอีซีอีกเรื่องในปี 2561 คือภาระในการปรับลดพนักงานของกลุ่มเป็นครั้งแรก และครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัท จากบริษัทที่ไม่เคยมีโครงการ early retied เอาพนักงานออกมาก่อน แถมยังมีพนักงานจำนวนมากที่ทำงานตั้งแต่ก่อนปี 2545 ไม่มีระบบเกษียณอายุ ทำให้ในปี 2561 ต้องใช้เงินในส่วนนี้ประมาณ 250 ล้านบาท แบ่งเป็น 109.7 ล้านบาท สำหรับมูลค่าหนี้สินสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงาน และ 141 ล้านบาท สำหรับการจ่ายชดเชยพนักงาน
นอกจากนี้ยังต้องตั้งสำรองวงเงินอีกจำนวน 134.8 ล้านบาท สำหรับในส่วนพนักงาน เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2561 กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้ำง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่ำชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความพยายามลดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน พบว่ามีอัตราการลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของการลดต้นทุนการขายและบริการ และค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการ โดยค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการมีการลดลงทั้งปี 284 ล้านบาท จาก 5,910.7 ล้านบทในปี 2560 มาอยู่ที่ 5,626.7 ล้านบาทในปี 2561
ในปีที่ผ่านมา ยังเป็นปีที่กลุ่มบีอีซีมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารมากมาย โดยมีกลุ่มผู้บริหารที่เข้ามาใหม่จากการปรับโครงสร้างในปี 2560 เริ่มทยอยลาออกไป จากผลประกอบการที่ลดลงเรื่อยๆ จนทำให้กลุ่มบริษัทมีแผนที่จะปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่ และดึงเอา “คนนอก” มาบริหารอีกครั้ง ท่ามกลางข่าวลือว่ามีการทาบทามผู้บริหารหลายราย รวมถึง “อริยะ พนมยงค์” จากไลน์ทีวี แต่ล่าสุด ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา.