“ทีวีไดเร็ค” ยกเลิกซื้อช่อง ”สปริงนิวส์” กลับสู่โหมดเดิม เช่าเวลาทีวีดิจิทัล-ทีวีดาวเทียม

หลังจาก “ทีวีไดเร็ค” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2561 ในการเข้าซื้อหุ้น ทีวีดิจิทัล “สปริงนิวส์” สัดส่วน 90.1% มูลค่าพันล้านบาท โดยต้องเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าในท้ายที่สุดแล้วดีลนี้ต้องจบลงและยุติการซื้อขายไปในที่สุด

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์มูลค่า 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 949 ล้านบาท และค่าจ้างสปริงนิวส์ทำข่าวอีก 130 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินเดือนละ 8.7 ล้านบาท จำนวน 124 เดือน ตลอดอายุสัญญาในอนุญาตทีวีดิจิทัลถึงปี 2572 โดยสปริงนิวส์ ต้องเคลียร์หนี้ก่อนเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือนธันวาคม 2561   

แต่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้มีการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นสำหรับทีวีดิจิทัลไปจัดการประมูล 5 จี แล้วนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งค่าประมูลที่ยังเหลือค้างจ่ายรวม 15,000 ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (Mux) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ Must Carry ทำให้ทีวีไดเร็คและสปริงนิวส์ได้เลื่อนการซื้อขายไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนมาตรการช่วยเหลือของ กสทช.

โดยในการประชุมบอร์ดทีวีไดเร็ค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 จึงมีมติให้  “ยุติ” ซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ หันมาเช่าเวลาทีวีดิจิทัล-ทีวีดาวเทียม   

ทรงพล กล่าวว่าหลังจากยุติดีลการซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว “ทีวีไดเร็ค” จะไม่กลับไปเจรจาเพื่อซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์อีก โดยจะใช้รูปแบบเช่าเวลาวันละ 12 ชั่วโมงกับช่องสปริงนิวส์เหมือนเดิม โดยจะมีการเซ็นสัญญากันใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันยังใช้สัญญาเดิมเช่าเวลาช่องสปริงนิวส์นำเสนอโฮมช้อปปิ้งวันละ 18 ชั่วโมง จนถถึงเดือนกรกฎาคม 2562

ปัจจุบันทีวีไดเร็คเช่าเวลาทีวีดิจิทัลทั้งหมด 18 ช่อง โดยหลังจากยกเลิกแผนซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว จะมีการเช่าเวลาทีวีดิจิทัลเพิ่ม และจะเช่าเวลาช่องทีวีดาวเทียมเพิ่มอีก 10 ช่อง นอกจากนี้จะขยายช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้กลยุทธ์ “ออมนิ แชนแนล” โดยปีนี้วางเป้าหมายยอดขาย 4,800 ล้านบาท เติบโต 20%

พงษชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานบริหารสถานีโทรทัศน์ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การยุติดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ เนื่องจากมีมาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลของ กสทช. ซึ่งยังไม่สามารถสรุปแนวทางที่ชัดเจนได้

แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ กสทช. ระบุว่าจะชดเชยเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย ซึ่งสปริงนิวส์ จ่ายเงินงวดที่ 5 ไปแล้วจำนวน 219 ล้านบาท โดยไม่ได้ขยายเวลาจ่ายเงินตาม มาตรา 44 ดังนั้นหากเป็นไปตามมาตรการเยียวยาของ กสทช. สปริงนิวส์จะได้เงินค่าประมูลงวดที่ 5 คืน ทำให้ราคาการซื้อขายที่ประกาศไว้ในเดือนกันยายา 2561 ต้องกลับมากำหนดราคาใหม่ ทีวีไดเร็คจึงต้องยุติการซื้อขายไปในที่สุด

Now 26 เปลี่ยนเป็น Spring 26

ทางด้านบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW 26 ได้แจ้งการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท สปริง 26 จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 และจะเปลี่ยนชื่อสถานีทีวีดิจิทัล ช่อง Now 26 เป็น Spring 26 (สปริง 26) ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอรายการและข่าว โดยใช้เทคโนโลยีสตูดิโอ AR และ Visual Effect ที่เดียวในประเทศไทย และเชื่อมต่อผู้ชมจากทีวีสู่ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ

นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรคอนเทนต์หลัก คือ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ผลิตสารคดีระดับโลก และ แม็กซ์ มวยไทย ผู้จัดรายการชกมวยชื่อดัง

ปัจจุบันทีวีดิจิทัล Now 26 ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้ SD เป็นธุรกิจในเครือบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ภายใต้การบริหารของ “ฉาย บุนนาค” ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของ NMG มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562.