Game Changer เดอะมอลล์ กรุ๊ป ศุภลักษณ์ อัมพุช ผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ดึงผู้บริหารต่างชาติ ทรานส์ฟอร์มจากไทยแท้สู่มัลติเนชั่นแนล หวังเดินเกมใหม่ ด้วย “เอนเตอร์เทนเมนต์”

เมื่อค้าปลีกรายใหญ่ของไทย “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ต้องลุกขึ้นจัดกระบวนทัพครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการมาของอีคอมเมิร์ซ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันบ่อยๆ สำหรับการจัดประชุมแบบทาวน์ฮอลล์ ของเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ให้พนักงานระดับแมเนจเมนต์ทุกฝ่ายมารวมตัวกันในโรงภาพยนตร์ที่จุคนกว่า 300 ที่นั่ง เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ของแม่ทัพหญิงขององค์กร ศุภลักษณ์ อัมพุช พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของแต่ละฝ่ายที่ต้องมีส่วนปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพื่อผนึกองค์กรให้ขับเคลื่อนไปสู่การแข่งขันยุคใหม่พร้อมกัน

แต่เป็นเดอะมอลล์กรุ๊ปต้องประกาศ 2 เรื่องสำคัญให้พนักงานทราบ เรื่องแรก เดอะมอลล์กรุ๊ปต้องการประกาศให้ทุกคนรู้ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเปลี่ยนถ่ายผู้บริหารรุ่นเก่า และมีการเลือกมืออาชีพที่เป็น “ผู้บริหารหลากหลายเชื้อชาติ” จากสาขาต่างๆ มีประสบการณ์ทั้งจากองค์กรและการทำงานในต่างประเทศ เข้ามาร่วมงานในบริษัทตำแหน่งสำคัญๆ ด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อต้องการทรานส์ฟอร์มจากองค์กรไทยแท้ๆ ไปสู่การ “มัลติเนชั่นแนลคอมปะนี” หรือตามคอนเซ็ปต์ที่ศุภลักษณ์เรียกขานว่า M Transformation

เรื่องที่สอง คือ แผนการลงทุนตามโรดแมปในช่วงปี 2562-2566 จะใช้เงินราว 80,000 – 1 แสนล้านบาท เพื่อนำพาเดอะมอลล์กรุ๊ปมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งในวงการค้าปลีกไทย ซึ่งนอกจากแผนการขยายสาขาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการปรับตัวครั้งสำคัญโดยเฉพาะการติดอาวุธด้านไอที ติดตั้งระบบ SAP ที่ใช้เงินลงทุนสูง การใช้ “บิ๊กดาต้า” เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าแบบถูกต้องและแม่นยำ และไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังรวมถึงต่างชาติ และที่สำคัญที่สุดที่ถือเป็นการต่อยอดจากธุรกิจค้าปลีกให้กินอาณาเขตธุรกิจกว้างขึ้นไปครอบคลุมถึงธุรกิจบันเทิง

โดยหนึ่งในโครงการหลักที่จะเกิดขึ้นภายใต้งบ 5 ปีมูลค่า 80,000 ล้าน แบ่งเป็น 10,000 ล้านเป็นส่วนที่เดอะมอลล์กรุ๊ปร่วมลงทุนกับ AEG ผู้บริหารธุรกิจบันเทิงอันดับหนึ่งของโลกจากอเมริกาที่จะสร้างสถานที่สำหรับรองรับธุรกิจ MICE พร้อมกัน 2 แห่งทั้งเอ็มไลฟ์ที่สุขุมวิทในเอ็มดิสทริค และในโครงการบางกอกมอลล์ ต้นถนนบางนา

เป้าหมายสำคัญของการจับมือกับ AEG เป็นส่วนหนึ่งของเปลี่ยนจากการทำ “ศูนย์การค้า” ในรูปแบบเดิมๆ ไปสู่ธุรกิจ entertainment ที่ศุภลักษณ์ มองว่า นี่คืออาวุธสำคัญที่จะรับมือกับการถูก disrupt

“ความบันเทิง เป็นอะไรที่ไม่มีถูกดิสรัปต์ อย่างสยามพารากอน เราต้องมีแอทแทร็กชั่นที่เป็นที่ให้คนมาใช้เงินด้วย ไม่ได้มีแค่ช้อปปิ้ง ซึ่งโครงการต่อๆ ไปเราจะทำมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่จะเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็น Hub of Entertainment ซึ่งต้องอาศัยสิ่งที่คนสร้างขึ้นมา เพราะเมืองไทยพึ่งการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวจะพึ่งแค่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวไม่ได้”

แต่กระนั้นก็ตาม ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมถอยลง ก็ยังถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกยังอยากมาเมืองไทย และเป็นเหตุผลที่ทำให้เออีจีตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งความร่วมมือกับเออีจีถือได้ว่าเป็นจะเริ่มต้นของการก้าวสู่ธุรกิจบันเทิงของเดอะมอลล์กรุ๊ป รวมทั้งจะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์เรื่องบันเทิงของประเทศที่ยกระดับขึ้น

ศุภลักษณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในนิยามของความบันเทิงที่ทำให้คนยอมจ่าย ซึ่งคนที่เสพความบันเทิงล้วนเป็นคนที่จ่ายเงิน โดยบันเทิงที่ว่ารวมถึงเรื่องของแฟชั่น ศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เดอะมอลล์พยายามสร้างส่วนผสมเหล่านี้เข้าไปในศูนย์

“วิชั่นของเดอะมอลล์คือ เราไม่ได้ทำแค่ศูนย์ใหม่หรือห้างใหม่ แต่โครงการที่เราทำจะต้องเป็นหนึ่งเดียวเป็นสิ่งที่เมืองไทยไม่มี เหมือนสยามพารากอนที่มีที่เดียว และหลักการในการพัฒนาจะต้องบาลานซ์ความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่เน้นเรื่องจิตใจหรือความสุข เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีแม้จะสำคัญแต่เปลี่ยนทุกวันและไม่ยั่งยืน ตามอย่างไรก็ไม่ทัน แต่ทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่เป็นพื้นที่ของการใช้ชีวิตมนุษย์ เป็นประสบการณ์ใหม่มากกว่า”

หากแบ่งสัดส่วนเงินลงทุน 80,000-100,000 ล้านบาท ตามยุทธศาสตร์ในโรดแมป 5 ปี จะประกอบด้วย

การลงทุนในโครงการบางกอกมอลล์ จำนวน 50,000 ล้านบาท โดยเป็นรูปแบบ MIXED USE COMPLEX เป็นทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ

ปรับปรุงในส่วนของเอ็มดิสทริค 10,000 กว่าล้านบาท ภายใต้แผนที่จะทำดิเอ็มโพเรียมและดิเอ็มดิสทริคมาปักธงใหม่

  • ปรับปรุงเดอะมอลล์ 2, 3 (ถ.รามคำแหง) 20,000-30,000 ล้านบาท
  • ปรับปรุงเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเดอะมอลล์ ท่าพระ 10,000 ล้านบาท
  • ส่วนอีก 20,000 ล้านบาท เป็นงบที่คาดว่าจะใช้สำหรับอีก 2 โครงการใหม่ในปี 2567

สำหรับด้านรายได้ หลังจากนี้ 5 ปี เดอะมอลล์กรุ๊ปคาดว่าน่าจะเติบโตจากปัจจุบันสองเท่า หรือมีรายได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท

ศุภลักษณ์ เล่าว่า ส่วนหนึ่งมาจากการ “ยกเครื่อง” การบริหารพื้นที่ค้าปลีก จากเดิมที่ใช้วิธี “เซ้ง” ระยะสัญญา 30 ปี มาสู่การให้เช่าแทน ซึ่งพื้นที่เซ้งได้ทยอยหมดสัญญา 30 ปีที่ให้ไว้เกือบหมดแล้ว อย่างตอนนี้เฉพาะรายได้จากเอ็มควอเทียร์พอๆ กับพารากอนทั้งที่มีพื้นที่เยอะกว่ามาก เพราะเอ็มควอเทียร์ให้เช่า แต่พารากอนยังเป็นการเซ้งอยู่” ศุภลักษณ์กล่าว

M Transformation เปลี่ยนอย่างไร จากบริษัทไทยแท้ให้เป็นมัลติเนชั่นแนล

ด้านการปรับขบวนทัพใหม่ ศุภลักษณ์ เล่าว่า เริ่มมาได้ 2 ปี โดยเริ่มเปลี่ยนจากผู้บริหารรุ่นเก่า มาเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 40-50 ปี มีประสบการณ์ทำงานหลากหลาย เชี่ยวชาญในวงการค้าปลีกจากทั้งในและต่างประเทศ โดยบุคลากรใหม่ในส่วนสำคัญ ที่เริ่มเข้ามาทำงานกับเดอะมอลล์กรุ๊ปแล้ว ได้แก่     

โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเซล รับผิดชอบในตำแหน่ง CEO, RETAIL GROUP ตั้งแต่กันยายน 2561 ขึ้นตรงกับศุภลักษณ์ โดยดูแลกลุ่มธุรกิจรีเทล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, พารากอน และบลูพอร์ต หัวหิน และมีทีมแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

• กลุ่มบริหารสินค้า (MERCHANDISE) ทุกแผนกตั้งแต่ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ อาหาร ฯลฯ

• กลุ่มปฏิบัติการ (OPERATION)

• กลุ่มกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาธุรกิจ และความสามารถบุคลากร ซึ่งมีชาวต่างชาติอีกราย ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ CHIEF STRATEGY OFFICER ช่วยรับผิดชอบดูแลและกำหนดการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงตั้งเป้าหมายองค์กรในอนาคต   

• กลุ่มทรัพยากรมนุษย์ โดยมี วิลเลียม ฤทธิเรือง CHIEF HR OFFICER ดูแลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ร่วมวางแผนกำหนดคน และพัฒนาศักยภาพของพนักงานเดอะมอลล์ กรุ๊ป ทุกคน เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร

กลุ่มระบบสารสนเทศ มี สก๊อต คาเมรอน CHIEF INFORMATION OFFICER รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการบริหารการใช้เทคโนโลยี ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในองค์กร

ในส่วนของศูนย์การค้าย่าน ดิ เอ็มดิสทริค มี เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารศูนย์การค้าทั้ง 3 แห่ง คือ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ และในส่วนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป มี อัญชลี พัฒนอนันต์สุข CHIEF LEASING & PROPERTY MANANGEMENT OFFICE ดูแลบริหารงานศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา

ด้านการพัฒนาโครงการมีขุนพลหลัก คือ FRANZ KRAATZ, CHIEF PROJECT DEVELOPMENT OFFICE เข้ามาดูแลด้านการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ด้านการพัฒนาธุรกิจ นำทีมโดย กันยารัตน์ โชคอุ่นกิจ, CHIEF BUSINESS  DEVELOPMENT OFFICE  มาดูแลการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มเดอะมอลล์ทั้งหมด

สำหรับการบริหารการตลาดที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีก อยู่ภายใต้การดูแลของ วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ CHIEF MARKETING OFFICER ดูแล CORPORATE MARKETING ทั้งศูนย์การค้าเดอะมอลล์ทุกสาขา และห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ พารากอน และบลูพอร์ต หัวหิน ตลอดจนดูแลในส่วนของ M CARD, ONLINE และการตลาดต่างประเทศ

กรุ๊ปสายการเงิน มี วรรณา เพิ่มสุวรรณ CHIEF FINANCIAL OFFICER และมี ต่อศักดิ์ มังกรเวช ผู้อำนวยการใหญ่บัญชี ช่วยเสริม

ศุภลักษณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรเป็นไปตามนโยบายองค์กรภายใต้แนวคิด M TRANSFORMATION ซึ่งจะเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเดอะมอลล์ กรุ๊ป สู่การเป็น THE MALL 4.0 ในทศวรรษที่ 4 เพื่อยกระดับกลุ่ม เดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่.


อ่านประกอบ

ไขเบื้องหลัง ศุภลักษณ์ อัมพุช ปิดดีลคว้า AEG เป็นพันธมิตรในครึ่ง ชม. คว้าทุนหมื่นล้าน ต่อยอดสู่ธุรกิจไมซ์ มูลค่า 1.7 แสนล้าน