17 ตุลาคม 2561 ถือเป็นวันแรกที่ “โอสถสภา” บริษัทเก่าแก่อายุ 128 ปีของเมืองไทย ติดนามสกุลมหาชนเป็นครั้งแรก โดยสามารถระดุมทุนได้ทั้งหมด 12,278.2 ล้านบาท มาดูกันว่าผลงานในปีแรกนี้จะเป็นอย่างไร?
ในปี 2561 “โอสถสภา” มี “รายได้” รวม 24,297 ล้านบาท ลดลง 2.9% สาเหตุหลักคือการที่สิ้นสุดสัญญาการจำหน่ายกับ “ยูนิชาร์ม” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ‘มามี่โพโค’ ‘โซฟี’ และ ‘ไลฟ์รี่’ ที่ตัดสินให้ดึงกลับไปจัดจำหน่ายเอง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากรายได้ของ OEM โดยเฉพาะการจำหน่ายขาดแก้วลดลง 33.7% เนื่องจากปิดปรับปรุงเตาหลอมแก้วตอนต้นปี 2561
ยังดีหน่อยที่ “กำไร” สามารถเติบโตราว 6.1% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 3,005 ล้านบาท จากปี 2560 ที่ทำได้ 2,834 ล้านบาท โดยสามารถแยกย่อยลงไปใน 3 ธุรกิจหลัก ดังนี้
“เครื่องดื่ม” ยอดขายหาย 400 ล้านบาท
“กลุ่มเครื่องดื่ม” มียอดขายทั้งสิ้น 18,575 ล้านบาท ลดลง 2.1% หรือ 400 ล้านบาทจากที่เคยทำได้ในปีก่อน 18,975 ล้านบาท เมื่อมองลึงเข้าไปอีกจะพบยอดขายภายในประเทศอยู่ที่ 14,902 ล้านบาท ลดลง -0.4% ลดลง หรือ 65 ล้านบาท โดยการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ “โสมอินซัม” ช่วยให้ยอดขายโตขึ้นกว่า 109.1%
และยังมีการเปิดตัวเครื่องดื่มฉลามผสมกระชายดำในเดือนสิงหาคม ช่วยหยุดยั้งการลดลงยอดขายของ “ฉลาม” ได้เป็นอย่างดี ทั้งปีลดลงเพียง 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ลดลดถึง 15% ซึ่งสินค้าตัวใหม่นี้เข้ามากระตุ้นให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 18% นอกจากนี้ “กาแฟเอ็ม–เพรสโซ” ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วยให้ยอดขายเครื่องดื่มโตด้วย
“โอสถสภา” ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศไทยที่ 54% เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดย “เอ็ม-150” มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 37.9% เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
ที่น่าห่วงคือ รายได้จากต่างประเทศลดลง 335 ล้านบาท หรือ 8.4% คิดเป็นรายได้ 3,673 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและยอดขายที่ลดลงใน “กัมพูชา” แม้รายได้ใน “เมียนมา” ซึ่งเป็นตลาดหลัก จะยังคงเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ก็ตามที
“ของใช้ส่วนบุคคล” กวาดยอดขายเพิ่ม 257 ล้านบาท
สำหรับกลุ่ม “ของใช้ส่วนบุคคล” มียอดขายทั้งสิ้น 2,452 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.7% หรือ 257 ล้านบาท การเติบโตหลักๆ มาจาก “เบบี้มายด์” ทำไป 1,637 ล้านบาท เพิ่ม 13.5% และ “ทเวลฟ์พลัส” เติบโต 10.1% คิดเป็นยอดขาย 705 ล้านบาท
เมื่อแยกเป็นยอดขายจากเมืองไทยเติบโต 8.5% หรือ 2,165 ล้านบาท หลักๆ ก็มาจาก 2 สินค้าหลัก เบบี้มายด์โต +10.1% ทเวลฟ์พลัสโต 7.4% “โอสถสภา” คาดหวังสินค้า 2 ตัวนี้จะเป็นหัวหอกในการฟันยอดขายต่อไป เพราะได้มีปรับหน่วยสินค้า ออกสินค้าใหม่ที่มีกำไรสูงขึ้น และตวบคุมค่าใช้จ่ายจากโฆษณา
ด้านนึ้ยอดขายจากต่างประเทศเติบโตอย่างสวยหรู ด้วยตัวเลข 287 ล้านบาท เติบโตถึง 42.8% คิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท
“ซัพลายเชน” ร่วงหนักสุด
ยอดขายในกลุ่ม “ซัพลายเชน” ร่วงหนักสุด 582 ล้านบาท หายไป 16% คิดเป็นยอดขายปี 2561 อยู่ที่ 3,063 ล้านบาท โดยเหตุผลหลักมาจากสิ้นสุดสัญญาการจำหน่ายกับ “ยูนิชาร์ม” และการจำหน่ายขวดแก้วลดลงจากการปิดเตาหลอม
แม้จะมีรายได้จากเครื่องดื่ม ซี–วิต จะเติบโตถึง 74.6% ภายหลังการขยายกำลังการผลิต โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25.0% สูงกว่าเบอร์ 2 ถึง 2.9%
อนึ่งภายหลังการเข้าตลาดอย่างเป็นทางการ “โอสถสภา” ได้ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักไป 2 บริษัทคือในเดือนกันยายนได้ขาย “อินเตอร์แอคทีฟ คอมมิวนิเคชั่นส์” เป็นเอเยนซี่โฆษณาให้กับ “YDM Thailand” ตามที่ Positioning ได้รายงานดีลไปก่อนหน้านี้ (https://positioningmag.com/1208375)
และในเดือนพฤศจิกายนได้ขาย “บริษัท ไวท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ซึ่งประกอบธุรกิจการค้าเคมีภัณเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และการให้บริการซ่อมบำรุง การขายทั้ง 2 ส่วนนี้สร้างกำไร 158 ล้านบาท
เตรียมบุก “เวียดนามและจีน”
ในปี 2562 “โอสถสภา” คาดเติบโตรายได้และกำไรเป็นตัวเลข “หลักเดียว” โดยวางแผนเปิดเครื่องดื่มใหม่ 2-4 ชนิก เน้นกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ นอกจากนี้ในกลุ่ม “ของใช้ส่วนบุคคล” มีแผนที่จะขยายเข้าสู่กลุ่มดูแลผิวหน้าและผิวพรรณ
กัมพูชา เมียนมา และลาว เป็นตลาดหลักของเครื่องดื่มในต่างประเทศ ตลาดใหญ่สุดเป็นเมียนมา โดยเตรียมเพิ่มเกมการตลาดให้กับชาร์คเมียนมาและเอ็ม-150 พัฒนาช่องทางการขาย ส่วนโรงงานคาดเสร็จในปีนี้
ขณะนี้ “โอสถสภา” กำลังศึกษาตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามและจีน พร้อมกับสนใจธุรกิจการจำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติ คาดสามารถตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในสิ้นปี 2562.