ไมเนอร์ฟู้ด ยกเครื่อง “1112Delivery” กดปุ่มลุย “เดลิเวอรี่” เต็มสูบ อุดช่องว่าง กดเบอร์เดียวได้ 7 แบรนด์

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว “ไมเนอร์ฟู้ด” บอกว่าตัวเองคือเชนร้านอาหารรายแรกในเมืองไทยที่เสิร์ฟให้ผู้บริโภคถึงหน้าบ้าน หรือที่เรียกว่า “เดลิเวอรี่” จากจุดเริ่มต้นด้วยวิธีโทรสั่งในปี 1989 ขยับสู่การสั่งผ่านหน้าเว็บไซต์ในปี 2007 และในปี 2019 “ไมเนอร์ฟู้ด” ยังอยากเป็น First Move อีกครั้งด้วยการเปิดตัว “1112Delivery”

ทำไม “เดลิเวอรี่” ถึงน่าสนใจ? ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตลาดบริการสั่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) ทั้งเชนร้านอาหารและร้านอาหารทั่วไปปี 2017 มีมูลค่า 2.6 – 2.7 หมื่นล้านบาท ปี 2018 เติบโตกว่า 12 – 15% จึงไม่แปลกที่ในเวลานี้จะมีสารพัดคนขับรถมอเตอรไซค์ใส่เสื้อหลากสีสันวิ่งทั่วกรุงเทพฯ ทั้ง Grab Food, Line Man, Food Panda, Lalamove ซึ่งทุกรายต่างโตเอาๆ

และถึงจะนอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็มีอาหารเคาะประตูมาส่งถึงหน้าบ้าน จนกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นเคยของคนในเมืองหลวงไปแล้ว แต่จริงๆ แล้ว “พอล เคนนี่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เดอะ ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า “เดลิเวอรี่” ยังมี Pain Point คือ หากต้องการสั่งอาหารหลายๆ แบรนด์มากินที่บ้านพร้อมกันจะต้องสั่งใหม่ทุกร้านและต้องเสียเงินค่าส่งทุกรอบ 40 บาท บ้าง 50 บาทบ้าง

“พอล” บอกว่าธุรกิจจะเติบโตได้ต้องทำให้ทุกอย่าง “ง่าย” สำหรับผู้บริโภค หลังจากศึกษาตลาดและเตรียมความพร้อมของระบบหลังบ้านจึงกลายเป็นที่มาของ “1112Delivery” ที่เข้ามาอุด Pain Point ด้วยการใช้วิธีวันออเดอร์ (One Order) วันเพย์เมนต์ (One Payment) และวันไดรเวอร์ (One Driver) สั่งครั้งเดียวได้ทุกเมนูในร้านอาหารทั้ง 7 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เดอะพิซซ่า คอมปะนี, เดอะคอฟฟี่คลับ, ไทยเอ็กซ์เพรส, สเวนเซ่นส์, แดรี่ควีน, ซิซซ์เล่อร์ และเบอร์เกอร์คิง

ที่สำคัญ ปี 2018 ไมเนอร์ฟู้ดมียอดขายจากช่องทางเดลิเวอรี่ 3,000 ล้านบาท เฉพาะเดอะพิซซ่า ซึ่งมียอดขาย 10,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 30% มาจากเดลิเวอรี่ เมื่อเห็นแล้วว่า “เดลิเวอรี่” โตแน่ๆ ไมเนอร์ฟู้ดจึงตัดสินใจ “ยกเครื่อง” บริการ 1112Delivery ให้รองรับกับเทรนด์การเติบโต

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าเบื้องต้นจะเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ก่อน สั่งได้ทั้งแอปพลิเคชั่นการโทรและเว็บไซต์ โดยเมื่อคำสั่งซื้อเข้ามาจะให้คนขับรถซึ่งเป็นของแบรนด์เดอะพิซซ่า คอมปะนีที่มีอยู่ราว 2,000 คนทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดส่งสินค้า เพราะมีจำนวนคนมากพอรองรับได้ ซึ่งจะไม่ใช่ Food Delivery เจ้าอื่นๆ เพื่อต้องการจัดการอาหารเสร็จก่อนหลังได้เอง

Ffp เริ่มเปิดให้บริการวันแรกตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นแล้ว 2 หมื่นครั้ง ช่วงแรก “ประพัฒน์” ยอมรับว่าคงไม่สามารถสั่งได้ 7 แบรนด์ในทุกพื้นที่แต่ที่แน่ๆ เดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ และแดรี่ควีน จะเป็น 3 แบรนด์ที่ส่งได้ทุกพื้นที่ด้วยมีสาขากระจายอยู่ทั่ว

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจัดส่งจะไม่รับประกันภายใน 30 นาทีเหมือนสั่งแบรนด์เดียว เพราะแต่ละร้านไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกัน 

ความท้าทายในการออกบริการใหม่อยู่ที่การเทรนด์พนักงาน เพราะต้องมีการส่งสินค้าทั้งร้อนและเย็นในเวลาเดียวกัน การรับสินค้าที่ไม่ได้มีเพียงจุดเดียวเหล่านี้ ต้องเทรนพนักงานใหม่หมดเลย

หลังจากนี้ “ไมเนอร์ฟู้ด” จะทยอยปิดช่องทางเดลิเวอรี่ที่มีอยู่เพื่อใช้ “1112Delivery” ที่เดียว ยกเว้นเดอะพิซซ่า คอมปะนี และเบอร์เกอร์คิง ที่จะใช้ช่องทางของแบรนด์เองควบคู่ไปด้วย ภายในครึ่งปีวางแผนขายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เฟสที่สองจะไปภาคตะวันออกและภาคเหนือก่อน เฟสสามจะขยายไปภาคใต้และอีสาน โดยในต่างจังหวัดมีคนขับส่งอาหารของเดอะพิซซ่า คอมปะนีประมาณ 1,000 คน

ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลด 1 ล้านครั้ง ด้านยอดขายจากช่องทางเดลิเวอรี่ได้ตั้งเป้าจาก 3,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็น 4,500 ล้านบาท และเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิลอีก 30% จากเฉลี่ย 500 บาทต่อบิล.