“เถ้าแก่น้อย” ดึงไอดอลจีน F4 นั่งพรีเซนเตอร์ครั้งแรก ดันยอดตลาดจีนทำรายได้เท่าไทย

หลังใช้บริการไอดอล เกาหลี 2PM และ GOT7 มาเป็นพรีเซนเตอร์ สร้างแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ไต่ระดับสู่ “ริจินัล แบรนด์” ของเอเชียมาแล้ว ปีนี้ ถึงคิว “F4” ไอดอลจากจีน ที่นับเป็นครั้งแรกกับตำแหน่งพรีเซนเตอร์เถ้าแก่น้อยกับภารกิจดันตลาดสาหร่ายจีนเติบโต 10% พร้อมปั้น “บิ๊กโรล” ให้เป็นอีกโปรดักต์ ฮีโร่

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตัวเลขผลประกอบการในปีที่ผ่านมามียอดขาย 5,662 ล้านบาท เติบโต 10% มาจากตลาดไทย 40% ตลาดจีน 40% และตลาดส่งออกอื่นๆ อีก 20%

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์

วันนี้ตลาดจีนสามารถทำยอดขายได้เท่าตลาดไทยและยังมีแนวโน้มโตต่อ

ปัจจุบันสแน็กสาหร่าย “เถ้าแก่น้อย” ส่งออกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ตลาดหลักคือ เอเชีย โดย 5 ตลาดยอดขายส่งออกสูงสุด คือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวันและเวียดนาม

ดึงไอดอลจีน F4 นั่งพรีเซนเตอร์

กลยุทธ์การทำตลาดเถ้าแก่น้อยที่ใช้มาต่อเนื่องคือ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ส่งออกสินค้าทำตลาดจีนและวางเป้าหมายยอดขายปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จึงใช้งบการตลาด 40 ล้านบาท ดึง 4 หนุ่ม F4 ซุปตาร์ระดับเอเชีย ที่ประกอบด้วย ดีแลน หวัง (Dylan Wang) ดาร์เรน เฉิน (Darren Chen) ลีออน เหลียง (Leon Leong) และซีซาร์ อู๋ (Caesar Wu) มาเป็นพรีเซนเตอร์ใหม่

โดยถือเป็นครั้งแรกของ “ไอดอลจีน” กับแบรนด์เถ้าแก่น้อย เพื่อทำตลาดในช่วงซัมเมอร์นี้ เจาะฐานแฟนคลับทั้งจีนและไทย รวมทั้งเอเชีย โดย F4 โด่งดังจากซีรีส์รีเมค รักใสใสหัวใจ 4 ดวง” เวอร์ชั่น Meteor garden (F4 2018) ในประเทศจีน และกำลังจะมาออกอากาศทางทีวีในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

แฟนคลับ F4

การเลือกพรีเซ็นเตอร์ของเถ้าแก่น้อย จะดูจากกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเป็นหลัก ที่ผ่านมามีทั้งไอดอล เกาหลีใต้และไทย กลยุทธ์ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” เป็นการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่แบรนด์ใช้สื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับของไอดอล เพื่อให้ติดตามสินค้าที่ไอดอลเป็นพรีเซนเตอร์ ที่จะส่งผลต่อยอดขายในท้ายที่สุด

ปั้นตลาด “บิ๊กโรล”

สำหรับพรีเซนเตอร์ใหม่ 4 หนุ่ม F4 จะมีภาพยนต์โฆษณาชุดใหม่ภายใต้ธีม “Big Roll อร่อย…ม้วนเดียวไม่จบที่เน้นทำตลาดสาหร่ายประเภทย่างแบบม้วน “บิ๊กโรล” (Big roll) โดยมีการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ Limited Edition ที่มีการนำภาพทั้ง 4 หนุ่มมาไว้บนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้แฟนคลับได้สะสมอีกด้วย

การใช้พรีเซนเตอร์ F4 โฟกัสไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ “บิ๊กโรล” เพราะปี 2561 สาหร่ายประเภทย่าง เติบโต 24.5% เป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดสาหร่ายในประเทศไทยปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 3,032 ล้านบาท เติบโต 5.2% ประกอบไปด้วยสาหร่ายประเภททอด อบ ย่างและเทมปุระ

4 หนุ่ม F4 ไอดอลจีน

สาหร่ายประเภทย่างปีที่ผ่านมา บิ๊กโรล สาหร่ายม้วนย่าง ถือเป็นผู้ขับเคลื่อนตลาดให้เติบโตสูง เพราะมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดเกือบ 50% และเติบโต 35% “บิ๊กโรล” จึงเป็นหนึ่งในแบรนด์สำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับเถ้าแก่น้อย

กลยุทธ์การทำตลาดปีนี้ จึงมุ่งสร้างแบรนด์ บิ๊กโรล ขยายสู่กลุ่มนักเรียน วัยรุ่น นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ รสกิมจิ ที่มีความเข้มข้นแบบเกาหลี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคนอกจากรสคลาสสิคและสไปซี่

ปัจจุบันบิ๊กโรล มียอดขายรวม 300 ล้านบาท จากการรุกตลาดต่อเนื่องบริษัทตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ขณะที่ภาพรวมตลาดสาหร่ายในประเทศไทยปี 2561 มีมูลค่า 3,032 ล้านบาท เถ้าแก่น้อย เป็นผู้นำ มีส่วนแบ่งตลาด 69% ปีนี้เชื่อว่าจะเติบโตได้อีก 10%

ยอดขายจีนเท่าไทย    

ในตลาดส่งออกกว่า 50 ประเทศ “จีน” ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเถ้าแก่น้อย ปีที่ผ่านมามียอดขาย 2,195 ล้านบาท เป็นมูลค่าเท่ากับตลาดไทย โดย “บิ๊กโรล” ถือเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน มีสัดส่วนกว่า 60% และอีก 40% ประเภททอด อบและเทมปุระ

ปัจจุบันตลาดสแน็กสาหร่ายในจีนมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสาหร่ายนำเข้า 40% โดยเถ้าแก่น้อยเป็นผู้นำตลาด โดยมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีน 3 ราย ครอบคลุมหัวเมืองหลัก เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เถ้าแก่น้อย ได้เปิดแฟลกชิปสโตร์ ในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ TMall ซึ่งจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในเมืองรองที่สามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

แนวโน้มตลาดจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 2-3 ปีจากนี้ยังเติบโตได้ 10% ทุกปี และยอดขายจะแตะ 3,000 ล้านบาทได้แน่นอน

นอกจากตลาดส่งออกจีนที่เติบโตแล้ว นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย  ยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้อสาหร่ายเถ้าแก่น้อย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของยอดขายตลาดไทย

ลุยตลาดยุโรป-สหรัฐ

หลังจากบุกตลาดเอเชีย จนก้าวสู่ ริจินัล แบรนด์ ปีนี้เถ้าแก่น้อยจะออกไปทำตลาดในยุโรป ที่อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐ มากขึ้น โดยต้องสร้างวัฒนธรรมการรับประทานสแน็กสาหร่ายในตลาดดังกล่าว

โดยไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว แบรนด์ใหม่ชื่อ “NORA” (โนระ) ในสหรัฐ เนื่องจากชื่อ เถ้าแก่น้อย ออกเสียงได้ลำบาก จึงต้องสร้างแบรนด์ใหม่ ซึ่งได้รับผลการตอบรับดี โดยแบรนด์เถ้าแก่น้อย มีจำหน่ายใน grocery store ของชาวเอเชียในสหรัฐด้วยเช่นกัน

การดำเนินงานของเถ้าแก่น้อยในตลาดต่างประเทศ ยังเป็นไปตามเป้าหมายปี 2024 ที่จะก้าวสู่ “โกลบอล แบรนด์” โดยต้องมียอดขาย 10,000 ล้านบาท และสัดสัวนยอดขาย 50% มาจากตลาดส่งออก วันนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน ปัจจุบันมีผู้บริโภคสาหร่ายเถ้าแก่น้อยทั้งตลาดไทยและต่างประเทศวันละ 1 ล้านคน