Lululemon แบรนด์กีฬาจากแคนาดามุ่งลุย “ตลาดจีน” เต็มที่ เป้าขยายสาขาเพิ่ม 3 เท่าใน 5 ปี

แบรนด์กีฬาจากแคนาดา “Lululemon” ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 4 เท่า นับจากปี 2021 ถึง 2026 โดย “ตลาดจีน” นับเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของแบรนด์ วางแผนขยายสาขาจีนเพิ่ม 3 เท่าภายใน 5 ปี หลังจากแบรนด์ไปได้ดีในแดนมังกร รายได้เติบโตสะสม 60% ในรอบสามปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว China Daily รายงานว่า Lululemon Athletica วางตลาดจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของแบรนด์ภายในปี 2026 ผ่านการขยายสาขาหน้าร้านอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแบรนด์มีหน้าร้าน 71 สาขา ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 220 สาขาภายใน 5 ปี และจะมีการตั้งสาขาที่เป็น “แฟลกชิป สโตร์” ด้วย

“เป้าหมายใหม่ของเราคือจะเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเป็น 4 เท่าภายในปี 2026” คาลวิน แมคโดนัลด์ ซีอีโอของ Lululemon กล่าว “จีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นสัดส่วนใหญ่ในโอกาสนั้น เมื่อเราลงทุนต่อเนื่องในตลาด ทั้งส่วนการขยายหน้าร้าน การขายผ่านดิจิทัล และสร้างชุมชนลูกค้าของแบรนด์”

จากข้อมูลของ MarketBeat พบว่าแบรนด์ Lululemon สามารถทำรายได้เติบโตได้ถึง 60% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงล็อกดาวน์ของจีนจะทำให้ 1 ใน 3 ของสาขาทั้งหมดต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากโควิด-19

Lululemon_Yoga
เสื้อผ้าโยคะและฟิตเนสเป็น Hero Product ของแบรนด์

แบรนด์ Lululemon นั้นเป็นแบรนด์ประเภท ‘athleisure’ ชื่อดัง โดยก่อตั้งที่แคนาดาในปี 1998 เริ่มจากการผลิตเสื้อผ้าโยคะของผู้หญิง ก่อนจะขยายมาสู่กลุ่มเสื้อผ้าผู้ชาย และขยายไปในเสื้อผ้ากลุ่มฟิตเนสและกีฬาวิ่งด้วย ถือว่าเป็นแบรนด์ที่เข้ามาแบ่งส่วนแบ่งตลาดกับเสื้อผ้ากีฬาดังอย่าง Adidas และ Nike

ในช่วงปี 2018-2021 บริษัทสามารถทำรายได้เติบโตเป็น 3 เท่า และเป้าปี 2021-2026 แบรนด์ต้องการจะเติบโตเป็น ‘เท่าตัว’ อีกซึ่งจะทำให้บริษัททำรายได้สูงถึง 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.58 แสนล้านบาท) โดยมีกลยุทธ์การขยายตัวในต่างประเทศเป็นสำคัญ นอกจาก “ตลาดจีน” ที่สำคัญมาก แบรนด์ยังตั้งเป้าจะเปิดตลาดใหม่ๆ ในทวีปเอเชียแปซิฟิกและทวีปยุโรป ประเทศที่มีแผนการเปิดสาขาแรกเร็วๆ นี้ ได้แก่ สเปน และ อิตาลี

ปี 2022 แบรนด์เพิ่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นไลน์สินค้ารองเท้า

การเข้าสู่ตลาดจีนของ Lululemon นั้นใช้วิธีที่ชาญฉลาด โดยในปี 2013-2016 แบรนด์ไม่ได้เข้ามาเปิดขายสินค้าทันที แต่มาเปิด ‘โชว์รูม’ สำหรับจัดอีเวนต์ด้านกีฬาและทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ก่อน พร้อมกับส่งสินค้าให้ KOLs ชาวจีนรีวิว ก่อนที่จะเริ่มขายสินค้าจริงผ่านช่องทางดิจิทัลในปี 2015 ผ่านแพลตฟอร์ม Tmall และจนถึงปลายปี 2016 แบรนด์จึงค่อยเริ่มเปิดหน้าร้าน 3 สาขาแรกในกรุงปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้

การเปิดตลาดจีนของแบรนด์ต่างประเทศนั้นมีโอกาสที่ดีจากจำนวนประชากรแต่ก็มีความท้าทายสูงมากด้วย หลายแบรนด์ตะวันตกที่เข้ามาและต้องม้วนเสื่อกลับไป ยกตัวอย่างเช่น 3 แบรนด์ในเครือ Inditex จากสเปน ได้แก่ Pull&Bear, Bershka และ Stradivarius ที่ไม่ประสบความสำเร็จในจีนจนต้องทยอยปิดสาขาหน้าร้านทั้งหมดไปเมื่อปี 2021 เพราะตลาดจีนแข่งขันสูงมากและรสนิยมชาวจีนมีความละเอียดอ่อน

จากตัวเลือกที่มีมากมายในตลาด และบริษัท/สตาร์ทอัพจีนก็พร้อมจะเปิดแบรนด์มาแข่งขันในกลุ่มสินค้าเดียวกัน ทำให้แบรนด์ต่างชาติต้องระมัดระวัง Lululemon เองก็กำลังเผชิญกับแบรนด์ท้องถิ่นจีนอย่าง ‘Keep’ แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาหน้าตาคล้ายกันแต่ทำราคาถูกกว่า

Source: InsiderRetail, Lululemon Corporate, Rehub Tech