ภารกิจใหม่ TCP ก้าวสู่ยอดขาย “9 หมื่นล้าน” ใน 3 ปี ส่งแบรนด์บุกนอกให้มากกว่า “กระทิงแดง”

TCP 9 หมื่นล้าน
  • กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเป้าหมายใหม่ ก้าวสู่ยอดขาย “9 หมื่นล้าน” ภายใน 3 ปี (2565-67) เติบโต 2 เท่าตัว ดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ Fulfilling, Growing และ Caring
  • เพิ่มพอร์ตสินค้าทั้งกลุ่ม Energy Drink และ Non-Energy Drink รุกตลาดต่างประเทศ โดยจะผลักดันแบรนด์อื่นนอกเหนือจาก “กระทิงแดง” (RedBull) ให้มากขึ้น
  • ตั้งงบลงทุน 12,000 ล้านบาท ลุยสร้างโรงงานใหม่ในจีน เพิ่มกำลังการผลิต ใช้เทคโนโลยีใหม่ลดต้นทุน
  • เป้าด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2567

ย้อนไปเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ “กระทิงแดง” ทำการรวมกลุ่มแบรนด์ในเครือให้อยู่ภายใต้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” และมีการตั้งเป้าหมายที่ ‘aggressive’ อย่างมาก ต้องการจะเพิ่มยอดขายจากกว่า 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น ขึ้นไปเป็น 3 เท่าตัว แตะ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2565

แต่ใครจะคาดถึงว่าระหว่างทางจะเผชิญวิกฤตร่วมกับทั้งโลก ตั้งแต่โรคระบาด COVID-19 สงครามความขัดแย้ง นำมาสู่ค่าพลังงานพุ่ง และเงินเฟ้อ ทำให้การเร่งตัวของ TCP ไม่เป็นดั่งใจนึก แต่ก็ยังเติบโตได้ดีจนปี 2564 ปิดยอดขายที่เกือบ 45,000 ล้านบาท

TCP 9 หมื่นล้าน
“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

หลังผ่านช่วงวิกฤต ในที่สุดบริษัทพร้อมจะลุยเต็มที่อีกครั้งโดย “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเป้าหมายใหม่กับภารกิจ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ต้องการทำยอดขาย 90,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (2565-67) เติบโตเป็น 2 เท่าตัว โดยมีกลยุทธ์ที่จะใช้ 3 ด้าน คือ

  1. Fulfilling ปลุกพลังแบรนด์สินค้า
  2. Growing ปลุกพลังธุรกิจเติบโต
  3. Caring ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม

 

ไม่ทิ้ง “กระทิงแดง” แต่ “แบรนด์ใหม่” ก็ต้องไปสู่ตลาดโลก

กลยุทธ์แรกที่จะปลุกพลังแบรนด์สินค้า ในรอบ 3 ปี TCP จะมีการออกสินค้าใหม่ ดังนี้

  • “แบรนด์กระทิงแดง” จะเปิดสินค้าใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 SKUs โดยจะสร้างความน่าตื่นเต้น ใหม่ทั้งด้านรสชาติ ส่วนผสม จุดขาย ภาพลักษณ์สร้างความทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เกิดความพรีเมียมในตลาด
  • “แบรนด์ใหม่” จะเปิดตัวใหม่อย่างน้อย 5 แบรนด์ โดยมุ่งเน้นในกลุ่ม Health & Wellness เพราะเป็นเทรนด์ของโลก
แบรนด์ใหม่ โปรดักส์แบบใหม่ที่ออกมาทดลองตลาด ด้านซ้ายคือ “Hopster” เครื่องดื่มกลิ่นฮอปไม่มีแอลกอฮอล์ และขวาคือ “มายด์เบอรี่” เครื่องดื่มเยลลี่บำรุงความจำ

ปัจจุบันกลุ่ม TCP ยังมี ‘ฮีโร่ โปรดักส์’ เป็นกลุ่ม Energy Drink อยู่ แบรนด์อย่าง กระทิงแดง (RedBull), เรดดี้, โสมพลัส, วอริเออร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของยอดขายรวม ขณะที่ Non-Energy Drink เช่น กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ สปอนเซอร์ กลุ่มฟังก์ชันนอลดริงก์ แมนซั่ม และ ไฮ่! x DHC กลุ่มชา เพียวริคุ หรือขนมขบเคี้ยว ซันสแนค ยังคิดเป็นเพียง 15% ในพอร์ต

โดยเฉพาะ “กระทิงแดง” ที่เป็นที่รู้จักและแทบจะเป็นแบรนด์เดียวที่ทำยอดขายในต่างประเทศได้ แต่แผนใหม่ 3 ปีจากนี้บริษัทต้องการจะดันสินค้าอื่นให้โตในต่างประเทศได้เหมือนกัน

“เราคิดว่าเราสามารถผลักดันให้แบรนด์อื่นประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้เหมือนกัน เราไม่ควรติดยึดกับกระทิงแดงตัวเดียว”

สราวุฒิเล็งเป้าหมายแบรนด์ที่จะดันไว้ที่ “สปอนเซอร์” กำลังทดลองตลาดว่าจะตอบรับกับชื่อแบรนด์นี้แค่ไหน โดยเห็นโอกาสทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่หากไม่เวิร์กจริงๆ ก็พร้อมที่จะปั้นแบรนด์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของตลาด เหมือนอย่าง “วอริเออร์” ที่เข้าไปชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนามได้ 5%

“เราคิดว่าเราสามารถผลักดันให้แบรนด์อื่นประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้เหมือนกัน เราไม่ควรติดยึดกับกระทิงแดงตัวเดียว” สราวุฒิกล่าว

แบรนด์สปอนเซอร์ เครื่องดื่มที่มีโอกาสผลักดันเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

 

ลงทุน 12,000 ล้าน กันงบ 60% ตั้งโรงงานจีน

กลยุทธ์ที่สองคือการลงทุนเพื่อเติบโต 3 ปีนี้ TCP จะลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น

  • 60% ใช้ในการลงทุนโรงงานแห่งใหม่ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน
  • 20% ใช้เพิ่มกำลังผลิตโรงงานเดิม
  • 20% ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ ใช้ระบบออโตเมชันเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มฟังก์ชันรักษาสิ่งแวดล้อม

โปรเจ็กต์ใหญ่ที่สำคัญคือการตั้งโรงงานจีนนี้เอง โดยสราวุฒิท้าวความก่อนว่าแต่เดิม “กระทิงแดง” มีจอยต์เวนเจอร์สัญญา 20 ปีกับพาร์ทเนอร์ชาวจีน แต่เมื่อสัญญาหมดลง และพาร์ทเนอร์รายใหม่ไม่ราบรื่น ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าบริหารเองทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2561

TCP 9 หมื่นล้าน
พิธีวางรากฐานโรงงานแห่งใหม่กระทิงแดง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

จากเดิมที่มีโรงงานแห่งเดียวบนเกาะไห่หนาน บวกกับการจ้างโรงงาน OEM จีน 4 แห่ง ไม่เพียงพอตอบสนองตลาดจีนอีกต่อไป จึงมีโครงการสร้าง โรงงานแห่งที่ 2 มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 1,100 ล้านหยวน กำลังผลิต 1,400 ล้านกระป๋องต่อปี เริ่มสร้างแล้วในมณฑลเสฉวน เพราะเป็นพื้นที่ที่สินค้าขายดี และรัฐบาลสนับสนุน อำนวยความสะดวก

ตลาดจีนมีความสำคัญกับ TCP มาก เพราะขนาดตลาดใหญ่ เศรษฐกิจเติบโต มีโอกาสรออยู่สูง สราวุฒิประเมินว่าบริษัทต้อง ‘เพิ่มกำลังผลิตอีก 2 เท่า’ ถึงจะพอรองรับ และเชื่อว่าอนาคตจีนจะเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของกลุ่ม (ปัจจุบันอันดับ 1 คือไทย ตามด้วยเวียดนาม และจีน)

 

เป้ารักษ์โลก ลดคาร์บอน รีไซเคิล คืนแหล่งน้ำ

สุดท้ายคือการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสราวุฒิกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ ‘รอไม่ได้อีกแล้ว’ และต้องการให้เห็นว่ากลุ่ม TCP ทำจริง ไม่ได้ตั้งโครงการเพื่อใส่ไว้ในรายงานประจำปี เป้าหมายที่จะทำทั้งหมด ได้แก่

  • ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
  • ต้องการเป็น Circular Economy ภายในปี 2567 บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มจะรีไซเคิลได้ 100% โดยเริ่มทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และองค์กรระดับโลกแล้วเพื่อเปลี่ยนทั้งซัพพลายเชน
  • ต้องการเป็นบริษัท Water Net Positive ภายในปี 2573 เนื่องจากบริษัทมีการใช้น้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตมาก ดังนั้น บริษัทจะคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้ได้มากกว่าที่ดึงมาใช้ผลิต โดยจะช่วยผ่านการรักษาอนุรักษ์น้ำตามธรรมชาติ

ทั้งหมดคือแผนและเป้าของ TCP ซึ่งสราวุฒิมองว่ายังเป็นแผนที่ ‘aggressive’ เช่นเคย ยังคงท้าทาย แต่มองเห็นความเป็นไปได้ ท่ามกลางปัจจัยลบที่กระหน่ำอยู่ในโลกขณะนี้

“ถ้าเราตอบว่าเรามั่นใจกับสถานการณ์ภายนอกคือเราโกหก แต่เรามั่นใจกับแผนของเรา มีการพูดคุยกับซัพพลายเชนให้โตไปพร้อมกับเราได้ ปูพื้นวัฒนธรรมการทำงานของคนในองค์กรให้ตอบรับกับโลกยุคหลัง COVID-19 เราไม่ได้มั่นใจ 90-100% เหมือนในสมัยก่อนแล้วค่อยลงทุน เราต้องเดินต่อไป เพราะโลกทุกวันนี้คือการต้องลองทำไปก่อน” สราวุฒิกล่าวปิดท้าย