แกะพฤติกรรมช้อปออนไลน์ของคนไทย! 51% ของนักช้อปตัวยงอายุ 25 – 34 ปี และนิยมช้อปตอน 6 โมงเย็น

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้น 10 เท่า ข้อมูลจาก ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ในปี 2017 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน และมี Mobile Subscriber กว่า 124.8 ล้านราย

สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นคือ พฤติกรรมต่างๆ ก็หันไปช่องทางออนไลน์แทนทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “การช้อปออนไลน์” ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง จนเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ศูนย์การค้ามีคนมาเดินน้อยลง

โดยในปี 2018 มีแนวโน้มว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซของเมืองไทยจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น 11.11, 12.12, Black Friday ที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำเพื่อดึงยอดขาย ในปีที่ผ่านมาคาดว่าอีคอมเมิร์ซบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งชื่อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้นในระยะ 3 วัน 

โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์

แต่นั้นเป็นเพียงภาพกว้างๆ เท่านั้น “Picodi.com” เว็บไซต์ที่รวบรวมส่วนลด รหัสคูปองต่างๆ จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ของนักช้อปชาวไทย ซึ่งจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2019 ก่อนจะได้เป็นรายงานชิ้นนี้ออกมา

สิ่งที่พบคือ แม้ว่าการค้าในโลกออนไลน์เดสก์ทอปกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่กลับกลายเป็นว่าคนไทยนิยมใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าเดสก์ทอป ตามข้อมูลล่าสุด จำนวน 1 ใน 2 ของจำนวนการซื้อขายออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนในปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยมักใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อใช้ช้อปปิ้งโดยเดสก์ทอป เมื่อพวกเขาช้อปปิ้งด้วยเดสก์ทอปค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,350 บาท น้อยกว่าการใช้สมาร์ทโฟนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และผู้ใช้ iOS ใช้จ่ายมากกว่าผู้ใช้ Android จำนวน 1,742 บาท และ 1,314 บาท

ผู้หญิงช้อปปิ้งมากกว่าผู้ชาย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์คือ 59% และ 41% ตามลำดับ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 51% คือช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี และตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 35-44 ปี (21%) และ 18-24 ปี (16%) ส่วนที่เหลืออีก 12% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี

ในขณะเดียวกันค่าเฉลี่ยของการช้อปปิ้ง ของนักช้อปคนไทยจะสูงสุดในเดือนตุลาคม 1,956 บาท ตามด้วยเดือนธันวาคม 1,918 บาท และเดือนกุมภาพันธ์ 1,642 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการสั่งซื้อโดยเฉลี่ยมูลค่าประมาน 1,616 บาทในเดือนพฤศจิกายน อาจจะทำให้แปลกใจ เพราะทั้งหมดนี้เป็นช่วงเวลาของโปรโมชั่น Black Friday และ เทศกาล 11.11

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแม้ว่า อัตราการซื้อของจะน้อยกว่าในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อดูที่กิจกรรมการซื้อของจะเห็นว่าในเดือนพฤศจิกายนนั้น ตัวเลขการซื้อขายสูงที่สุด มากกว่า 1 ใน 5 ที่ทำการซื้อขายตลอดทั้งปี ลำดับต่อมาในเดือนที่คึกคักที่สุดคือเดือนธันวาคม 13% ตามด้วยมีนาคม 9.4%

คนไทยมีใช้จ่ายอย่างคล่องตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน และช่วงที่ตลาดซบเซาลงมากที่สุดคือช่วงเดือนสิงหาคม และค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดในเดือนมิถุนายน คิดเป็น 1,072 บาท

นักช้อปชาวไทยซื้อสินค้ามากขึ้นในวันอังคารกับวันศุกร์ และลดลงช่วงสุดสัปดาห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักช้อปที่ช้อปด้วยเดสก์ทอปจะมีจำนวนน้อยลงในช่วงสุดสัปดาห์

มีข้อมูลบ่งชี้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบที่จะช้อปในช่วงเย็น : ยอดขายสูงสุด (จากโทรศัพท์มือถือ) จะอยู่ในช่วงเวลาประมาน 18.00 ช่วงเวลาที่นิยมมากที่สุดของวันสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์โดยใช้เดสก์ทอปคือช่วงเวลาบ่าย คิดเป็น 44.15% ของการช้อปปิ้งทั้งหมด

โดยหมวดหมู่การซื้อของที่ได้รับความนิยมสูงสุด สำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร รองเท้า สินค้ากีฬา และด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทั้ง 35 ประเทศทั่วโลก และเปรียบเทียบจากอุปกรณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 56% ของยอดสั่งซื้อทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ถือว่าใช้โทรศัพท์ในการช้อปปิ้งเป็นหลัก 

แต่เมื่อพูดถึงมูลค่าโดยเฉลี่ยสำหรับคนไทยนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐ (1,446 บาท) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 79 ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง : ช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทย