“อาร์เอส” อัพเลเวล เฮลท์&บิวตี้ แสนล้านน้อยไป “เฮียฮ้อ” ขอชิงค้าปลีก 2.5 ล้านล้าน

ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสื่อยกแรกของ “อาร์เอส” เมื่อ 4 ปีก่อน “เฮียฮ้อ” ขอขายครีม ประกาศเข้าสู่ตลาดเฮลท์แอนด์บิวตี้ “แสนล้าน” วันนี้อัพเลเวลอีกครั้ง เข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ด้วยโมเดล MPC ย้ำ 3 ปีนี้ต้องเห็นรายได้ 10,000 ล้านบาท

ย้อนไปปี 2557 “อาร์เอส” ที่เพิ่งคว้าไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัลมาหมาดๆ เปิดตัวช่อง 8 สู้ศึกอุตสาหกรรมสื่อทีวี ที่มีเม็ดเงินโฆษณา 7 หมื่นล้านบาทให้ช่วงชิง แต่ผ่านไปเพียงปีเดียว ก็ประกาศขยายธุรกิจใหม่ “ไลฟ์สตาร์” ในปี 2558 กับสนามรบ “เฮลท์แอนด์บิวตี้” ที่มีมูลค่านับ “แสนล้านบาท” ให้กอบโกย

จากรายได้หลัก “ร้อยล้านบาท” ในปีแรกของไลฟ์สตาร์ การก้าวสู่ปีที่ 4 ของธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) ที่อาร์เอสเป็นผู้พัฒนาบิสสิเนสโมเดลขึ้นเอง ประกาศเป้าหมายรายได้ MPC ปีนี้ที่ตัวเลข 3,000 ล้านบาท กับสถิติ New High ทุกปี

ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจพาณิชย์มีสัดส่วน 53% สูงกว่าธุรกิจสื่อ วันที่ 29 มีนาคมนี้ “อาร์เอส” จึงย้ายหุ้นจากหมวดธุรกิจสื่อไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกของตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเกมรุกเต็มรูปแบบ

เป้าหมาย 3 ปี “หมื่นล้าน”

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ธุรกิจ MPC ของบริษัทไม่ได้มีแค่กลุ่มเฮลท์แอนด์บิวตี้ แต่ยังมีสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและไลฟ์สไตล์ กลุ่มเครื่องประดับและความเชื่อ และศึกษาธุรกิจอีกหลายแคทิกอรี่ อาร์เอสจึงอยู่ในธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก ที่มีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของธุรกิจ MPC ในอนาคต

หลังจากปี 2561 ธุรกิจ MPC ทำยอดขายได้ 2,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% ขณะที่รายได้รวมบริษัทอยู่ที่ 3,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจ MPC ยังโตต่อได้ ปี 2562 อาร์เอสวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% รายได้ MPC อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เติบโต 41% ทำ “นิวไฮ” เช่นเดิม

“จากบิสสิเนสโมเดลที่พัฒนาขึ้นเอง ปีนี้ถือเป็นปีสำคัญในรอบ 37 ปีของอาร์เอส ในการก้าวสู่ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกเต็มตัว เราวางเป้าหมายเชิงรุก 3 ปีจากนี้ หรือปี 2565 รายได้ต้องแตะ 10,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 30% ทุกปี รายได้จาก MPC มีสัดส่วน 60% ธุรกิจสื่อ 30% เพลงและอื่นๆ 10%”

เฟส 2 ทรานส์ฟอร์มจับมือพันธมิตร

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจของอาร์เอส จากธุรกิจสื่อสู่ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก จบเฟสแรกไปแล้ว ปี 2562 เป็นการเริ่มต้นเฟสสอง ที่ว่าด้วยเรื่องการขยายธุรกิจ “แนวราบ” ร่วมกับ “พาร์ตเนอร์”         

ประเดิมไตรมาสแรกกับความร่วมมือ “ไทยรัฐทีวี” พันธมิตรด้านช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ถือว่า win win ทั้งคู่ ฝั่งอาร์เอสได้กลุ่มลูกค้าใหม่จากฐานผู้ชมไทยรัฐทีวี ส่วนไทยรัฐทีวี ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลา “นอนไพร์มไทม์” มาสร้างรายได้จากรายการโฮมช้อปปิ้ง คาดรายได้ปีนี้ อยู่ที่ 350 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 455 ล้านบาท

ปัจจุบันอาร์เอสอยู่ระหว่างเจรจากับทีวีดิจิทัลอีกหลายช่อง เพื่อเป็นพันธมิตรด้านช่องทางจำหน่าย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าช่วงนอนไพร์มไทม์ทีวีดิจิทัล ยังมีเวลาว่างที่ขายโฆษณาไม่เต็ม

พาร์ตเนอร์ต่อมาคือ โรงงานผลิตสินค้า อาร์เอสมีแผนจะเข้าไป “ร่วมทุน” กับเป็นผู้ผลิต Original Equipment Manufacturer (OEM) การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด และ Original Brand Manufacturer (OBM) การผลิตแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งจะชัดเจนช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

บิสสิเนสโมเดลที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิต อาร์เอสไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก แต่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ผลิตที่จะได้รับออร์เดอร์ผลิตสินค้าของอาร์เอสต่อเนื่อง สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60-70% ของกำลังการผลิต เป็นการการันตีรายได้ระยะยาว และการร่วมทุนจะทำให้อาร์เอสมีรายได้จากฝั่งธุรกิจสินค้าอีกทาง

“หลังจับมือกับพาร์ตเนอร์โรงงานผลิตสินค้าแล้ว อาร์เอสจะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

ส่วนเฟส 3 การทรานส์ฟอร์ม จะอยู่ในปี 2564 ที่จะรุกตลาดต่างประเทศ ด้วย 2 รูปแบบ คือ การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า และการทำบิสสิเนสโมเดล MPC เข้าไปทำตลาด โดยจะเริ่มในกลุ่ม CLMV และประเทศจีน ที่เป็นตลาดกำลังซื้อมหาศาล