หลังการประกาศร่วมทุนของ 2 กลุ่มทุนไทยระดับตำนาน 70 ปี ดุสิตธานีและกลุ่มเซ็นทรัล โดยเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) เพื่อพัฒนาบิ๊กโปรเจกต์ใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดินหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ได้ปิดตัวไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 ในวัย 50 ปี
ล่าสุด “ดุสิตธานีและซีพีเอ็น” ได้เผยโฉมโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่า 37,700 ล้านบาท ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2567
มาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการเปิดตัว “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”
1. มิกซ์ยูส 4 ธุรกิจ
การร่วมทุนพัฒนาโปรเจกต์ มิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) ของ “ดุสิตธานี” ที่มีประสบการณ์กว่า 70 ปี กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์กว่า 40 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล ที่ทำธุรกิจค้าปลีกมากว่า 70 ปี เช่นกัน เพื่อสร้างโปรเจกต์พลิกโฉมกรุงเทพฯ เชื่อมย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งย่านเก่าเยาวราชกับย่านใหม่ศูนย์การธุรกิจ ผ่านรถไฟฟ้า 2 สาย บีทีเอสและเอ็มอาร์ที
โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ตั้งอยู่บนที่ดินเดิมของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ขนาด 23 ไร่ โดยบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารของโรงแรมดุสิตธานี ได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 30 ปี และได้สิทธิเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี
“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ดำเนินการภายใต้บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ ดุสิตธานี ถือหุ้น 60% และเซ็นทรัลพัฒนา ถือหุ้น 40% โครงการมิกซ์ยูสประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจ คือ โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ภายใต้แนวคิด “Here For Bangkok” การร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ สู่อีกมหานครเทียบชั้นระดับโลก โดยโครงการจะทยอยเปิดตัวที่ละเฟส เริ่มที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ต้นปี 2565 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567
2. มิกซ์ยูส ทุกอาคารเห็นวิวสวนลุม
โครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่ประกอบไปด้วย 3 อาคารสูง คือ โรงแรม, สำนักงาน, อาคารที่พักอาศัย และพื้นที่ค้าปลีกส่วนที่อยู่บนดิน ทุกอาคารจะมองเห็นวิว “สวนลุมพินี”
การออกแบบโครงการผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยและความทันสมัย (Heritage & Innovation) นอกจากนี้ยังเป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เชื่อมต่อกับการจราจรทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที โดยพื้นที่ค้าปลีกส่วนที่อยู่ใต้ดินจะเชื่อมกับเอ็มอาร์ที รวมทั้งการจราจรบนท้องถนน
3. โรงแรมดุสิตธานี เปิดปี 65
ส่วนของโรงแรมที่จะก่อสร้างใหม่ยังคงใช้ชื่อ “ดุสิตธานี กรุงเทพ” โดยเป็นโรงแรมขนาด 250 ห้อง ความสูง 39 ชั้น ซึ่งเป็นโครงการที่จะเปิดให้บริการเป็นลำดับแรกในต้นปี 2565
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC บอกว่า โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ สร้างใหม่ ทุกห้องจะเห็นวิวสวนลุมพินีแบบ 360 องศา ห้องมีขนาดใหญ่ขึ้น เพดานสูงขึ้น โดยจำนวนห้องลดลงเท่าตัวเมื่อเทียบกับโรงแรมเดิมที่มีจำนวน 500 ห้อง แต่จะมีรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม จากการปรับราคาห้องเพิ่มขึ้น
4. เปิดจุดชมวิวรูฟท็อป “เสาชฎาสีทอง”
การสร้างโรงแรมดุสิตธานีใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการเก็บเรื่องราว องค์ประกอบที่เป็นอัตลักษณ์เดิมของโรงแรมดุสิตธานี ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ น้ำตก ห้องอาหารไทย “เบญจรงค์” รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง จะถูกนำมาไว้ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งใหม่
นอกจากนี้รูฟท็อปชั้น 39 สูงสุดของโรงแรมจะทำเป็นพื้นที่ “สกายวอล์ก” เพื่อให้คนได้มาสัมผัสยอดเสาสีทอง ที่ถือเป็นอีกเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเปรียบเป็น “ยอดชฎาสีทอง” สถาปัตยกรรมเดิม ได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณ ซึ่งของเดิมไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้ เพียงแต่เห็นได้จากด้านนอก แต่ดีไซน์ของโรงแรมที่สร้างใหม่ “เสาสีทองบนชั้น 39” สามารถเข้าไปสัมผัสจับต้องได้ และมีบันไดเวียนเดินขึ้นไปได้ และใช้บริการชั้นรูฟท็อป ที่จะมีบาร์และกิจกรรมยามค่ำคืน และมี VR โชว์มุมต่างๆ ของโรงแรม
5. ดุสิตลงทุนเรสซิเดนท์ครั้งแรก
สำหรับ อาคารที่พักอาศัย อาคารสูง 69 ชั้น พื้นที่ 80,000 ตารางเมตร มี 2 แบรนด์ รวม 389 ยูนิต คือ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” ชั้น 30-69 ขนาด 2-4 ห้องนอน พื้นที่ 120-600 ตารางเมตร จำนวน 159 ยูนิต และ “ดุสิต พาร์คไซด์” ชั้น 9-29 ขนาด 1-2 ห้องนอน ขนาด 60-260 ตารางเมตร จำนวน 230 ยูนิต ที่อยู่อาศัยเป็นรูปแบบเช่าสิทธิระยะยาว (Leasehold) สัญญา 30 ปี บวก 30 ปี รวม 60 ปี
วางกลุ่มเป้าหมายครอบครัวขนาดกลางและใหญ่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งนักธุรกิจที่เดินทางมาทำงานและอยู่ประจำในประเทศไทย
โครงการที่พักอาศัยจะเปิดให้จองในปีนี้ คาดมียอดขาย 16,000-17,000 ล้านบาท การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จเป็นส่วนสุดท้ายของทั้งหมด โดยจะเปิดให้อยู่อาศัยได้ในปี 2567
ปัจจุบันดุสิตธานีมีธุรกิจรับบริหารที่พักอาศัย แต่โครงการ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซด์” ถือเป็นการลงทุนสร้างที่พักอาศัยครั้งแรกของดุสิต
6. สำนักงาน-ค้าปลีกเปิดปี 66
ส่วนอาคารสำนักงานเกรดเอ “เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิเซส” (Central Park Offices) อาคารสูง 43 ชั้น พื้นที่ 90,000 ตารางเมตร จะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2566 พร้อมกับศูนย์การค้า Central Park พื้นที่ 7 ชั้น 80,000 ตารางเมตร โดยจะมีพื้นที่ส่วนใต้ดินและบนดิน
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค นำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคต ผสมผสานไลฟ์สไตล์อินดอร์และเอาต์ดอร์เข้าด้วยกัน โดยมี Rooftop Park พื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง รวมทั้งมีแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทยเปิดช็อปในโครงการ
7. สร้างซูเปอร์คอร์ซีบีดี
การลงทุนโปรเจกต์มิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า เป็นความร่วมมือของ “ซีพีเอ็นและดุสิต” เพื่อสร้างโครงการมากกว่ามิกซ์ยูสทั่วไป แต่เป็นการพลิกโฉมกรุงเทพฯ และสร้างซูเปอร์คอร์ซีบีดี (Super Core CBD) ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งสู่ใจกลางเมือง
ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ เจริญกรุงทางทิศใต้ สุขุมวิททางทิศตะวันออก และ เยาวราชทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็น The New Junction ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ
โครงการจะเป็น “แลนด์มาร์ก” แห่งใหม่ระดับโลก ซึ่งมีทั้งที่พักอาศัย พื้นที่ทำงาน และช้อปปิ้ง ในโครงการที่อยู่ติดกับสวนลุมพินี ที่ถือเป็นปอดขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับย่านดังต่างๆ ในมหานครระดับโลกอย่างลอนดอน และนิวยอร์ก.