MOJO…MAGIC

นับจากนี้ คำว่า “MOJO” น่าจะเป็นแบรนด์ที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 3G คุ้นเคยมากขึ้น ในฐานะของ 1 ใน 5 ตัวแทน MVNO ที่ต้องทำหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันในการบุกตลาด 3G ให้กับทีโอที

ถึงแม้ชื่อแบรนด์ “MOJO” ซึ่งมาจากคำว่า MAJIC จะเป็นชื่อแบรนด์ใหม่ที่ผู้ใช้ยังไม่รู้จัก ยิ่งชื่อบริษัท M Conzult Asia ก็ยิ่งไม่คุ้น แต่ที่มาของบริษัทผู้ถือหุ้นทั้งสามกลับไม่ธรรมดา จัดเป็นระดับบิ๊กเนมที่คร่ำหวอดอยู่แวดวงสื่อสารโทรคมนาคมมานาน เป็นเดิมพันครั้งใหม่ที่จะกลับมายืนอยู่แถวหน้าตลาดอีกครั้ง

เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ อยู่ในแวดวงสื่อสารของไทย ไม่น้อยกว่า 20 ปี ผ่านงานมาแล้วทั้งบริษัทสื่อสารและไอทีทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น กลุ่มชินคอร์ป โมโตโรล่า เอชพี ล่าสุดเขานั่งเก้าอี้ประธานบริษัท M Conzult Asia ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า หน้าที่เขาเปรียบเป็น “สถาปนิก” ก่อร่างสร้างบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาโดยดึงบริษัททั้ง 3 แห่งซึ่งมีจุดแข็งแตกต่างกันมาร่วมมือกันทำธุรกิจ MVNO ให้กับทีโอที

โดยอาศัยจุดแข็งของเอ็มคอนซัลต์ เคยเป็นโอเปอเรเตอร์ 3G ในกัมพูชา มีประสบการณ์เป็น MVNO ให้กับโอเปอเรเตอร์ AXITI ที่สวีเดนมาแล้ว จะช่วยการบุกเบิกธุรกิจช่วงแรกได้ดี รวมทั้งการผลิตเนื้อหาต่างประเทศ ส่วน “เจมาร์ท” ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านค้านโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ มี 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีไอที จังก์ชั่น และ Call Center รวมถึงการผลิตเนื้อหา Local Content จะทำให้เข้าถึงลูกค้าทั่วไปได้ง่ายขึ้น ส่วนไฮเทค เน็ทเวิร์ค ในเครือคอมลิงค์ ช่วยในเรื่องเงินทุน และการวางกลยุทธ์ในภาพรวม

เป็น 3 แรงแข็งขันที่เชิดศักดิ์มองว่าจะช่วยให้การเป็น MVNO ของ M Conzult สะดวกโยธินยิ่งขึ้นในการเจาะตลาดที่ต้องอาศัยพลังการตลาด ช่องทางจำหน่าย และแอพพลิเคชั่นเป็นหัวหอก

“ทีโอทีเขารับผิดชอบเรื่องของการขยายเครือข่าย ส่วน MVNO จะรับผิดชอบเรื่องการขาย การทำตลาด จัดทำแพคเกจการขาย รวมถึงแอพลิเคชั่น เนื้อหาต่างๆ และการสร้างแบรนด์ ระยะต้นจะใช้เงินลงทุนหลักร้อยล้าน ใช้ไปในทั้งเรื่องของคน สร้างบริการเสริม และแอพพลิเคชั่น”

การทำตลาด 3G นั้น จะขายแบบ 2G ที่แข่งกันเรื่องของราคาไม่ได้ เพราะความต้องการใช้งานของลูกค้าที่ใช้ 3G จะใช้เรื่องของข้อมูล และความสะดวกในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นหลักดังนั้นลูกค้า 3G จะมาฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 17-18 ล้าน เป็นหลัก มากกว่าจะย้ายมาจากลูกค้า 2G

“ ต้องเริ่มจากการเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และนำเสนอแอพพลิเคชั่น หรือบริการ ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ขายเป็นแพ็กเกจ ซึ่ง MVNO ทั้ง 5 ราย ก็มีจุดขายแตกต่างกันไป”

สำหรับ Positioning ของ MOJO จะมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม กลุ่มแรก – ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการง่าย กลุ่มที่สอง – ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลในการทำงานเป็นจำนวนมาก (Mobile Workforce) กลุ่มที่สาม – กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัย กลุ่มที่สี่ – สถาบันการศึกษาใช้ในการเรียนการสอน และบันเทิง และห้า – กลุ่มองค์กรธุรกิจ

ช่วงแรก ความต้องการใช้งาน 3G จะมุ่งเน้นไปที่การต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Access ด้วยความเร็วสูง และบริการวีดีโอคอลล์ (เห็นหน้าคู่สนทนา) จากนั้นขยับไปที่ “เนื้อหา” และบริการเสริม ซึ่ง MOJO จะมุ่งเนื้อหาทางด้าน บิสซิเนส และไลฟ์สไตล์

“ต่อไปจะมีบริการเชื่อมต่อกับธนาคาร หรือการจับมือกับรายการ MTV เผยแพร่รายการบนมือถือ 3G 3G จะทำให้การดำรงชีวิตจะเปลี่ยนไป ต่อไปคนไม่ต้องเข้าสำนักงาน อยู่ตรงไหนก็ทำได้ ออฟฟิศจะใช้เนื้อที่น้อยลง การติดต่อจะเร็วขึ้นและสั้นลง” เชิดศักดิ์ยกตัวอย่าง

เลขหมาย 5 แสนที่ทีโอทีนำมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้าผ่าน MVNO ทั้ง 5 ราย “ถือว่าน้อยมาก ผมเชื่อว่าไม่พอ เพราะถ้าเครือข่าย 3G พร้อม ผมว่าภายใน 2 ปี ต้องได้ 5 ล้านเลขหมาย และภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 10 ล้านเลขหมาย”

ส่วนบริการ MOJO จะสร้างความมหัศจรรย์ให้กับทีโอทีในการบุก 3G เหมือนกับความหมายหรือไม่นั้น ต้องติดตามในช่วงต้นปี 2553 ที่เชิดศักดิ์บอกว่า จะพร้อมให้บริการได้อย่างเป็นทางการ

ความเร็วในการส่งเนื้อหาผ่าน 3G
เนื้อหาและกราฟิก 5 เท่า
MMS มัลติมีเดียคลิป 7 เท่า
วิดีโอ 9 เท่า