“Functional Foods” เทรนด์อาหารแห่งอนาคต น่านน้ำใหม่ของ SME

ไม่ว่าอย่างไรคนเราก็ต้องกินอาหารทุกวันอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ ไม่นับรวมของว่างระหว่างวัน นั้นทำให้อุตสาหกรรมอาหารมูลค่า 409,000 ล้านบาทกลายเป็นกลิ่นที่หอมหวาน ดึงดูดให้คนที่สนใจพุ่งเข้ามา ที่ผ่านมาจึงมีผู้ที่ประกอบธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างในปี 2017 มี 1,317 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ถึง 372 ราย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นเพราะธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากและต้นทุนการค้นคว้าสูตรต่ำ เมื่อกำแพงไม่สูงมากเลยมีผู้เล่นเข้ามาอยู่ตลอดเวลา หากการขายสินค้าที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนักกลับเป็นผลเสียกำไรที่ควรจะมากหากความเป็นจริงไม่สูงเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิอยู่ราว 2.8%

นั้นเป็นเพียงภาพผิวเผินเท่านั้น จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมอาหารยังมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ต้องโฟกัสให้ถูกจุด เลี่ยงการแข่งขันที่สูงเพื่อลดผลกระทบ และการเข้าไปยังกลุ่มที่ยังไม่เคยมีใครทำมา ก่อนจะสร้างความได้เปรียบและตลาดที่ว่านั้นคือ “Functional Foods” หรืออาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้าน

Functional Foods ช่องว่างของ SME

Functional Foods เป็นอาหารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอาหารที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ถึงกับเป็นอาหารทางการแพทย์ โดยจะเป็นอาหารอาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง ในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ของอาหารทั่วไป

เช่น การเสริมโปรตีน วิตามิน คอลลาเจน หรือลดทอนลงไปทั้ง เกลือ น้ำตาล โซเดียม อาหารที่จะนับเป็น Functional Foods ต้องไม่อยู่ในรูปแคปซูล/ผงเหมือนยา ไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา แต่ให้ผลโดยตรง

วันนี้ในตลาดบ้านเราเริ่มเห็นได้เยอะแล้วทั้งโทฟุซังซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่เป็นเจ้าแรกๆ มีการออกนมถั่วเหลืองที่เพิ่มงาดำ ซึ่งมีคุณสมบัติแคลเซียม การเพิ่มโปรตีน

นม Bed Time Milk” ของบริษัท แดรี่โฮม ที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นม ที่มีระดับสารเมลาโทนินธรรมชาติสูง ช่วยให้นอนหลับสนิท และดีเวอร์เอนเนอร์จี้เจลเครื่องดื่มให้พลังงานช่วยเสริมร่างกายนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกายให้ดูดซึมได้ง่าย

ดรพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส และ อภินันทร์ สู่ประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันกล่าวว่า

จุดนี้เป็นที่สังเกตว่า แบรนด์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาด ยังเป็นแบรนด์เล็กๆ หรือ SME ในขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ ยังไม่ลงมาเล่นในตลาดมากนัก จึงถือว่าน่านน้ำที่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับ SME”

เติบโตจากเทรนด์สุขภาพ

ทำไม Functional Foods ถึงน่าสนใจ? ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าตลาดนี้ในเมืองไทยมีมูลค่า 46,000 ล้านบาท ถือว่ายังไม่เยอะเมื่อเทียบกับตลาดโลกมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6.361 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ 5 ปีต่อจากนี้เติบโตปีละประมาณ 4% แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคืออัตรากำไรสุทธิทำได้สูงกว่า 3 เท่า หรือเฉลี่ย 7.3%

เนื่องจากอาหารเหล่านี้ เป็นอาหารที่ตอบสนองกับผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Niche) จึงสามารถทำราคาได้สูงกว่าอาหารทั่วไปมากถึง 200–400% เช่น นม Lactose free 155%, นมช่วยการนอนหลับ 183%, นม High Protein 238% และโปรตีนบาร์ 436%

ที่สำคัญยังเป็นอาหารที่เข้ามาเทรนด์สุขภาพ (Health & Wellness) ที่กำลังเติบโตอย่างสูง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภค ที่ให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้นและมีแนวคิดว่าการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค รวมทั้งต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่ยา ยืนยันด้วยผลวิจัยที่ธนาคารกรุงไทย ได้รวบรวมข้อมูลจากสถาบันอาหาร, Nielsen 2015, Mintel 2018 พบว่า

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 32% ของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปมองว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารมีผลมากต่อการตัดสินใจซื้อ, 46% ของผู้บริโภคน้ำผลไม้ในสหรัฐฯ อยากให้เพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มเติมส่วนประเทศที่กำลังพัฒนา 53% ของผู้บริโภคชาวจีนที่มีบุตรตั้งแต่อายุ 4-12 ปีต้องการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมพัฒนาการทางสมอง

ส่วนในเมืองไทยพบ 81% ของผู้บริโภคในเมืองใหญ่บริโภค Functional Foods and Drinks อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 79% ของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ต้องการมีโภชนาการที่ดีขึ้น และ 38% ของผู้บริโภคคนไทยมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบำรุงสมอง

ยิ่งไปกว่านั้น Functional Foods มีที่ว่างในตลาดให้จับจองอีกมากเพราะแตกเป็นเซ็กเมนต์ยิบย่อยจำนวนมากบางตลาดยังมีผู้เล่นไม่มากนัก และบางตลาดยังไม่มีเจ้าตลาดที่แท้จริง รวมไปถึงแบรนด์ยักษ์ใหม่ยังเข้าไม่ถึง

โดยสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยเห็นมี 2 กลุ่มที่กำลังเป็นเทรนด์เมื่อวัดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคได้แก่ 1. ให้พลังงานและควบคุมน้ำหนัก เช่น ให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บหลังแข่ง ควบคุมน้ำหนักและช่วยสมานแผล เป็นต้น และ 2. เสริมภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ Functional Foods ยังเป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve จึงทำให้ได้รับประโยชน์ จากการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีและเงินสนับสนุนการทำวิจัย

แนะวิธีก่อนเข้าสู่ Functional Foods

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเข้าสู่ตลาด Functional Foods ควรสำรวจความต้องการของตลาด ศึกษาสารอาหารที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และควรเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยทำวิจัย เช่น ผู้ผลิตสารอาหารเฉพาะด้าน (Functional Ingredients) และหน่วยงานวิจัยจากภาครัฐ หรือสถาบันการศึกษา 

เพื่อลดความเสี่ยงในการทำวิจัยเอง และช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องของรสชาติที่อร่อย การรักษาคุณสมบัติของสารอาหารให้คงเดิมและได้มาตรฐานการผลิต ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาคุณค่าของสารอาหารก้าวหน้าไปมาก เช่น เทคโนโลยี Encapsulation ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างชั้นป้องกันสารสำคัญจากปฏิกิริยาหรือสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีในการรักษารสชาติสี กลิ่น ให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์อาหารเดิม

การจะเจาะเข้าสู่ตลาดนี้ให้มุ่งไปหาผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche) ไปเลยไม่ต้องสนใจกลุ่มแมส โดยสินค้าที่ออกมานั้นควรจะเป็น Ready to Eat หรืออาหารพร้อมรับประทานไปเลย ที่สำคัญต้องบอกให้ชัดเจนว่าหากผู้บริโภคทานอาหารนี้เข้าไปแล้วจะมีประโยชน์อะไรบ้าง แต่ทั้งนี้การโฆษณาต้องไม่ขัดต่อกฎหมายกำหนด