หลังเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีดิจิทัล ช่วงต้นปีนี้ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่พอเข้าสู่ช่วงซัมเมอร์ เดือนมีนาคม มูลค่าโฆษณาทีวีกลับมากระเตื้องอีกครั้ง ขึ้นมาแตะที่ระดับ 6,000 ล้านบาท แม้เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนยังติดลบ 3.8%
สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานข้อมูล “นีลเส็น” ด้านการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทีวีดิจิทัล ไตรมาสแรกปีนี้ ล่าสุดเดือนมีนาคม 2562 มียอดรวม 6,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ราว 1,385 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23%
แต่หากเปรียบเทียบมูลค่าการโฆษณาเดือนมีนาคม 2562 กับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน พบว่าลดลง 3.8% โดยเดือนมีนาคม 2561 มูลค่าอยู่ที่ 6,310 ล้านบาท หรือมากกว่าปีนี้ประมาณ 240 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัล เดือนมีนาคม 2562 แบ่งตามหมวดหมู่ช่องรายการ พบว่า โฆษณาของช่องสาธารณะมีมูลค่า 346 ล้านบาท, ช่องข่าวสารและสาระ 210 ล้านบาท, ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 52 ล้านบาท, ช่องความคมชัดปกติ (SD) 1,670 ล้านบาท และช่องความคมชัดสูง (HD) 3,792 ล้านบาท
โฆษณา ก.พ.เกือบ 5 พันล้าน
มาย้อนดูข้อมูลมูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัล เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มียอดรวม 4,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 253 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.19% โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มูลค่าอยู่ที่ 4,819 ล้านบาท
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มูลค่าการโฆษณาทีวีดิจิทัล แบ่งตามหมวดหมู่ช่องรายการ พบว่าโฆษณาช่องสาธารณะมีมูลค่า 275 ล้านบาท, ช่องข่าวสารและสาระ 197 ล้านบาท, ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 40 ล้านบาท, ช่องความคมชัดปกติ (SD) 1,344 ล้านบาท และช่องความคมชัดสูง (HD) 3,064 ล้านบาท
เม็ดเงิน ม.ค.เพิ่มขึ้น 3%
ขณะที่มูลค่าการโฆษณาทีวีดิจิทัล เดือนมกราคม 2562 มียอดรวม 4,667 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 913 ล้านบาท หรือลดลง 16% หากเปรียบเทียบมูลค่าการโฆษณาเดือนมกราคม 2562 กับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 3% โดยเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่าโฆษณา 4,528 ล้านบาท
เมื่อแบ่งตามหมวดหมู่ช่องรายการ พบว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ช่องสาธารณะมูลค่า 261 ล้านบาท, ช่องข่าวสารและสาระ 206 ล้านบาท, ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 46 ล้านบาท, ช่องความคมชัดปกติ (SD) 1,285 ล้านบาท และช่องความคมชัดสูง (HD) 2,869 ล้านบาท