ชำแหละ คสช. ผ่าทางตัน อุ้มค่ายมือถือ-ช่วยทีวีดิจิทัล รับเทศกาลสงกรานต์

หลังจากมีข่าวลือมาเป็นเวลานาน ในที่สุด วันนี้ (11 เมษายน 2562) คสช. ก็ออกคำสั่ง 4/2562 ช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัลมาในฉบับเดียวกันเบ็ดเสร็จ โดยยืดการจ่ายเงินประมูลก้อนโตของค่ายมือถือ เอาไปผูกกับเงื่อนให้ประมูลคลื่น 700 MHz ของทีวีดิจิทัล เพื่อเอาไปทำ 5G พร้อมชดเชยค่าเสียคลื่นให้กับทีวีดิจิทัล

หัวใจสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ การรวมการแก้ปัญหาใหญ่ของวงการโทรคมนาคม และวงการทีวีดิจิทัลทั้งระบบแบบเบ็ดเสร็จ จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ความช่วยเหลือค่ายโทรคมนาคมมากเป็นพิเศษด้วย

ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม คือ ภาระการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ที่มีกำหนดจ่ายในปี 2563 เป็นวงเงินรวมกัน 3 รายทั้งหมดประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นจากทรูและเอไอเอสรายละ 6 หมื่นล้านบาท และดีแทค 2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการประมูลคลื่นราคาสูงมาก จนทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีแนวโน้มว่า จะไม่สามารถจ่ายเงินประมูลในปีหน้าได้

ส่วนปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คือ การมีช่องจำนวนมากไป มูลค่าตลาดโฆษณาลดลง และการที่หน่วยงานรัฐเอาช่วงเวลาของช่อง โดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์ของคืนวันศุกร์ และตอนเย็น 6 โมงเย็นไปใช้ ตั้งแต่เกิด คสช. จนทำให้หลายช่องเริ่มไปไม่ไหว ร้องขอความช่วยเหลือจาก กสทช. ให้ยื่นมือเข้ามาช่วยลดการจ่ายเงินค่าประมูล และสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ

ทั้งสองปัญหาของโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล มาผูกโยงกันด้วย แนวความคิดการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ที่เป็นคลื่นที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นคลื่นที่มีมูลค่าทางกิจการโทรคมนาคม ในการให้บริการ 5G ที่ กสทช.เริ่มไอเดียเรียกคืนคลื่นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนกลายเป็นที่มาของประกาศฉบับนี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เรียกแถลงข่าวด่วน หลังจากมีประกาศ คสช.ออกมา โดยชี้แจงว่า ประกาศฉบับนี้ นับว่าเป็นการ Set Zero ของวงการโทรคมนาคม และหาทางออกให้กับกิจการทีวีดิจิทัล

“นี่เป็นการแก้ปัญหาราคาประมูลคลื่นสูงเกินไป เพราะคลื่น 700 ที่จะประมูลต่อไป เป็นคลื่นย่านต่ำเช่นเดียวกับคลื่น 900 หากใช้แนวทางราคาประมูลของคลื่น 900 มาประมูลต่อ ราคาก็จะสูงเกินไปอีก ซึ่งประกาศฉบับนี้ มาช่วยให้ กสทช.ได้ใช้วิธีการประมูลคลื่น โดยกำหนดราคา Resonable ตามราคาตลาดได้มากขึ้น” 

ประกาศระบุว่า มีการยืดอายุการจ่ายเงินงวดใหญ่ในปีหน้าของ 3 ค่ายมือถือ โดยมีเงื่อนไขว่า ทั้ง 3 ราย จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่เรียกคืนมาจากทีวีดิจิทัล จำนวน 45 เมก โดย กสทช.จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 นี้มาจ่ายชดเชยให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัล

ประโยชน์ที่ธุรกิจ 3 ค่ายมือถือได้รับเต็มๆ คือ ได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายเงินประมูลคลื่นจากเดิมผ่อนจ่าย 4 งวด ออกไปเป็น 10 งวด โดยจะแบ่งจ่ายปีละจำนวนเท่ากันจากราคาที่แต่ละรายประมูลมาได้ เช่นกรณีทรู ที่ประมูลคลื่น 900 มาในราคา 76,298 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 3 งวด งวดแรก 8,040 ล้านบาท และ งวดที่ 2 และ 3 งวดละ 4,020 ล้านบาท ก็จะได้เงื่อนไขในการจ่ายเป็นปีละ 7,629.8 ล้านบาทแทน เป็นเวลา 10 ปี

ดังนั้นเมื่อมาคำนวณจากเงินที่จ่ายไปแล้ว 3 งวด และเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่มในบางปี ทำให้งวดที่ 4 ในปี 2563 เดิมที่จะต้องจ่าย 6 หมื่นล้านบาท มาจ่ายที่ 22,384 ล้านบาท และหลังจากนั้นอีก 6 งวดที่เหลือ จะจ่ายเพียงปีละ 7,629.8 ล้านบาทเท่านั้น

ราคาประมูลคลื่น 700 รีเซตใหม่ ไม่แพง คาดประมูล มิ.ย.นี้

ฐากร ยังบอกด้วยว่า กสทช.จะมีการเตรียมการประมูลคลื่น 700 ภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเป็นการประมูลล่วงหน้า เพราะกว่าคลื่นจะพร้อมใช้งานได้ต้องรอประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2563

ทั้งนี้ราคาตั้งต้นที่จะมาประมูลจะไม่แพงมากเหมือนกรณีคลื่น 900 อีกอย่างแน่นอน เพราะนี่คือการ Set Zero สร้างกติกาใหม่จาก คสช. ทำให้ราคาประมูลสมเหตุสมผลมากขึ้น และจากจำนวนคลื่นที่มีอยู่จำนวน 45 เมก กสทช.สามารถแบ่งรูปแบบการประมูลได้เป็นแบบใบละ 5, 10 หรือ 15 เมก ก็ได้ ซึ่งจะต้องรอคณะทำงานสรุปในเร็วๆ นี้

ประกาศระบุชัดว่า หากค่ายมือถือไม่ยอมเข้าประมูลคลื่น 700 ก็จะไม่ได้สิทธิในการยืดการชำระการจ่ายนี้ โดยที่เงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 จะนำไปชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

ทีวีดิจิทัลเฮ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย 1.3 หมื่นล้านบาท 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้งเจ้าของช่อง และเจ้าของเครือข่าย หรือ MUX จะเป็นสองกลุ่มหลักที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้

โดยกลุ่มทีวีดิจิทัล 22 ช่อง จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล ที่มีกำหนดจะต้องจ่ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ในปี 2563 ที่เป็นสองงวดสุดท้ายอีกต่อไป เป็นมูลค่ารวม 13,622 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มี 3 ช่องที่มีการจ่ายเงินประมูลบางส่วนไปแล้ว ได้แก่ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และสปริงนิวส์ กสทช.ก็จะมีคืนเงินดังกล่าวให้กับแต่ละช่อง

อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการโครงข่าย หรือ MUX ซึ่งขณะนี้มี 4 ราย คือ ททบ.5, อสมท, ไทยพีบีเอส และกรมประชาสัมพันธ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เข้ากับย่านคลื่นใหม่ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนจาก กสทช.เช่นกัน

ทั้งนี้เงินทั้งหมดนี้ จะได้รับเงินจากกองทุน กสทช. ในกรณีที่ยังไม่ได้เงินจากการประมูลคลื่น

เปิดทางให้คืนช่อง พร้อมจ่ายชดเชย 

ประกาศฉบับนี้ ยังเปิดทางให้เจ้าของช่องทีวีดิจิทัลบางราย ที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้แล้ว ขอแจ้งความจำนงคืนช่องได้ โดยจะต้องแจ้งมาที่ กสทช.ภายใน 30 วัน นับจากประกาศฉบับนี้ และ กสทช.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเงินค่าชดเชยให้ด้วย

ฐากรระบุว่า เงินชดเชยนั้น จะพิจารณาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้เคยจ่ายมาแล้ว แต่จะไม่คืนเต็มจำนวน

คาดว่าจะมีผู้เสนอขอคืนช่องประมาณ 4-5 ราย การเปิดทางให้คืนช่อง เพื่อให้ตลาดนี้มีจำนวนช่องน้อยลง ให้เหมาะสมกับตลาดโฆษณา และทำให้ทุกรายที่ทำต่อ อยู่รอดได้ ฐากรกล่าว

ทั้งนี้แหล่งข่าวในวงการทีวี ระบุว่า มีช่องที่พร้อมจะคืนช่อง ได้แก่ ช่อง 3 Family ช่อง MCOT Family และช่องสปริงนิวส์ ที่เคยแจ้ง กสทช.มาแล้วก่อนหน้านี้

โดย กสทช.จะเรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 22 ช่องและผู้ประกอบการโทรคมนาคม คือ 3 ค่ายมือถือ เข้าพบในวันที่ 17 เมษายน เพื่อประสานงานรายละเอียด

หนุนทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลรายใหม่ 

นอกจากนี้ประกาศ คสช.ฉบับนี้ ยังเปิดทางให้สำนักงาน กสทช.จัดสรรเงินสำหรับทำทีวีเรตติ้งจำนวนหนึ่ง ในกรณีที่มีการรวมตัวกันตั้งองค์กรกลางเพื่อทำทีวีเรตติ้งด้วย โดยที่ยังไม่ได้ระบุเป็นวงเงินเท่าไร

ก่อนหน้านี้กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลได้พยามร้องของบประมาณจาก กสทช.ในการทำระบบการวัดเรตติ้งรายใหม่ เพื่อแข่งกับ “นีลเส็น” ที่เป็นรายเดียวของตลาดทีวีในไทย แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ.