เมื่อ “เทรนด์การบริโภคกาแฟ” ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่คนนิยมดื่มกาแฟในบ้าน หันมานิยมดื่มกาแฟนอกบ้านมากขึ้น ทั้งจากร้านกาแฟที่เปิดกันเกลื่อนเมือง หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่ปั้นร้านกาแฟของตัวเองกันอย่างคึกคัก
พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็นตัวเลข “ตลาดกาแฟภายในบ้าน” มีมูลค่าราว 21,000 ล้านบาท โต 4.8% แบ่งเป็นกาแฟปรุงสำเร็จ (3 in 1) 16,000 ล้านบาท และกาแฟผงแบบชง 5,000 ล้านบาท ในขณะที่ “ตลาดกาแฟนอกบ้าน” มีมูลค่ารวม 26,700 ล้านบาท เติบโตถึง 8% ยิ่งฐานผู้บริโภคหลักที่กินกาแฟภายในบ้านคือกลุ่มวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่นิยมกินนอกบ้าน
โดยช่วงเวลาหลักๆ ที่ผู้บริโภคจะดื่มกาแฟในบ้านมี 2 ช่วงคือ ตอนเช้ากับหลังมื้อเที่ยง หากบางครั้งช่วงเช้าตื่นไม่ทัน ก็ออกมาซื้อนอกบ้านดีกว่า ตลาดกาแฟภายในบ้านจึงไม่ได้หวือหวาเหมือนก่อน แม้ราคาจะห่างกันไม่น้อยกว่า 50 บาทก็ตาม เมื่อเทียบกับราคาขายต่อแก้ว
กลายเป็นความท้าทายของ “เนสกาแฟ” ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักของตลาดกาแฟภายในบ้าน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดกาแฟโดยรวม 56% (Corporate Share) และมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 52.9% ในเซ็กเมนต์กาแฟปรุงสำเร็จ (3 in 1) แม้ภาพรวมจะยังเติบโตมากกว่าตลาดคือสามารถโต 6.2% แต่ก็ต้องพยายามรักษาความหอมกรุ่นของ “ถ้วยกาแฟ” ที่ดื่มยามเช้าภายในบ้านไว้ให้ได้ท่ามกลางพฤติกรรมที่หันไปดื่มนอกบ้านกันมากขึ้น
ทำไมถึงต้องใช้คำว่า “พยายาม” กับเนสกาแฟ? เพราะเมื่อมองเข้าไปในยอดขายของเนสกาแฟจะพบว่า ยอดขายหลักมาจากกาแฟภายในบ้าน ซึ่งใหญ่ถึงขนาดมียอดขายเป็นอันดับ 2 ของโลก ยิ่งตลาดกาแฟถือเป็นตลาดเครื่องดื่มที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำดื่มในตลาดเครื่องดื่มรวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เนสกาแฟก็ยิ่งละเลยไม่ได้
จริงๆ แล้วที่ผ่านมาเนสกาแฟได้พยายามรุกหนักการดื่มกาแฟนอกบ้าน เพราะเนสกาแฟเองก็รู้ดีว่า “สนามนอกบ้าน” ยังสู้คนอื่นไม่ได้ ยิ่งตลาดกาแฟพร้อมดื่ม หรือที่เรียกว่ากาแฟกระป๋อง มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท เนสกาแฟยังเป็นแบรนด์รองที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 30% ตามหลังผู้นำอย่าง “เบอร์ดี้” ที่มีส่วนแบ่งราว 60% เรียกว่าครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
เนสกาแฟจึงต้องหันมารุกตลาดกาแฟนอกบ้าน ด้วยการเปิดตัว “เนสกาแฟฮับ” สาขาแรกไปเมื่อกลางปีก่อนที่ BTS ชิดลม เพื่อจับกลุ่มวัยทำงานที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า และขยายเพิ่มอีก 2 สาขาที่ BTS เอกมัย และสนามกีฬาแห่งชาติ ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเปิดอีก 2-3 สาขารวมไปถึงการออก “เนสกาแฟ ดอลเช่กุสโต้” เครื่องชงกาแฟสำหรับภายในบ้านและที่ทำงาน
แต่ก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้น เนสกาแฟจึงต้องหันมาบุกตลาดภายในบ้านให้แข็งแกร่งดีกว่า เพราะถือเป็นรายได้หลักที่เนสกาแฟ “จะสูญเสียไปไม่ได้” โดยเมื่อ 3 ปีก่อนเทรนด์ของ “กาแฟสด” มาแรงจากบรรดาร้านกาแฟที่เสิร์ฟกาแฟสดเสียเป็นส่วนใหญ่
ผู้บริโภคจึงติดในรสชาติความหอม เนสกาแฟจึงแก้เกมด้วยการยกเครื่องกาแฟ 3 in 1 ครั้งใหญ่ด้วยการเปิดตัว “เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู” ผสมกาแฟคั่วบดละเอียด
พร้อมกันนี้ได้ยกเลือกขายสูตรเดิมที่ขายมานานกว่า 20 ปีทิ้งไป เพื่อป้องกันความสับสนกับผู้บริโภค และยังทุ่มงบการตลาดอีกกว่า 700 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค ถือเป็นงบที่มากที่สุดตั้งแต่ทำตลาดปรุงสำเร็จมา ซึ่งการออกสินค้าใหม่ในครั้งนั้นทำให้ยอดขายช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมียอดการดื่มเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู สูงถึง 1,500 ล้านแก้วต่อปี”
หากเทรนด์การบริโภคกาแฟที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผลักให้เนสกาแฟต้องออกนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อจับผู้บริโภคให้อยู่หมัด ด้วยความต้องการของเนสกาแฟคืออยากให้คนที่ดื่มกาแฟแก้วแรกเป็นของเนสกาแฟ
ในปีนี้เนสกาแฟจึงตั้งสินใจยกเครื่องกาแฟปรุงสำเร็จด้วยการผสมกาแฟกาแฟคั่วบดละเอียดเข้าไป 2 สายพันธุ์ ทั้งกาแฟอาราบิก้าและกาแฟโรบัสต้าที่ให้ความนุ่มมากกว่า ใช้เวลาพัฒนากว่า 1 ปี โดยเริ่มขายตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยกเลิกขายสูตรเดิมไปแล้ว
นาริฐา วิบูลยเสข ผู้จัดการธุรกิจกาแฟปรุงสำเร็จ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า
“เหตุผลที่คนไทยยังกินกาแฟปรุงสำเร็จอยู่เป็นเพราะรสชาติคงที่สม่ำเสมอไม่เหมือนกับชงเอง หากยุคนี้การดื่มกาแฟสิ่งสำคัญที่สุดของผู้บริโภคคือเรื่องกลิ่มหอม สูตรใหม่ของเนสกาแฟจึงใช้เทคโนโลยีกักเก็บกลิ่นหอมเอาไว้ ซึ่งสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน”
การเปิดตัวสูตรใหม่ ในครั้งนี้เนสกาแฟใช้งบการตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท ทั้งโปรโมชั่นการแจกสินค้าตัวอย่าง 10 ล้านแก้วให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ และทุ่มดึงพรีเซ็นเตอร์พร้อมกันถึง 2 คน ได้แก่ โป๊ป–ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เจมส์–จิรายุ ตั้งศรีสุข โดยทำ TVC ที่มีเพลงประกอบเป็นเพลงดังอย่าง “เอาไปเลย” ที่นำมาคัฟเวอร์ใหม่โดยวงสล็อตแมชชีน
การยกเครื่อง “กาแฟปรุงสำเร็จ” ในครั้งนี้ เนสกาแฟให้ความหวังสูงมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ความหอมกรุ่นเริ่มเจือจางนั้น จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับ “เนสกาแฟ” ในทันที รายได้หลักจะหายไป จึงหยุดไม่ได้ต้องออกมากระตุ้นการดื่มกาแฟภายในบ้านให้เติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเทรนด์การบริโภคนอกบ้านที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
“ตลาดกาแฟ” หอมกรุ่น 47,700 ล้านบาท
- ตลาดกาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 21,000 ล้านบาท โต 4.8%
- แบ่งเป็นกาแฟปรุงสำเร็จ (3 in 1) 16,000 ล้านบาท, กาแฟผงแบบชง 5,000 ล้านบาท
- ตลาดกาแฟนอกบ้าน โดยรวม 26,700 ล้านบาท เติบโต 8%
- คนไทยดื่มกาแฟปีละประมาณ 300 แก้วต่อคนต่อปี
- คนญี่ปุ่นดื่มกาแฟปีละประมาณ 400 แก้วต่อคนต่อปี
- คนยุโรปดื่มกาแฟเฉลี่ย 600 แก้วต่อคนต่อปี
ที่มา : เนสกาแฟ, เมษายน 2019
Nestlé x Starbucks ได้เห็นวางขายในเมืองไทยแน่ๆ ภายในปี 2019 นี้
กลางปี 2018 ที่ผ่านมาได้เกิดข่าวใหญ่ขึ้นในวงการกาแฟระดับโลกเมื่อ “Nestlé” ที่มีแบรนด์กาแฟที่สตรองเป็นที่รู้จักระดับโลกอย่าง Nescafe และ Nespresso ได้ตกลงกับ “Starbucks” ในการซื้อลิขสิทธิ์แบบขาดถาวรในการทำตลาดสินค้าทั้งหมดทั่วโลกที่ขายอยู่นอกร้าน Starbucks ไม่รวมสินค้าพร้อมดื่มด้วยมูลค่ากว่า 7,150 ล้านดอลลาร์หรือรวม 2.2 แสนล้านบาท
เป้าหมายของ Nestlé คือต้องการเจาะตลาดกาแฟพรีเมียมที่กำลังเติบโตทั่วโลก ที่สำคัญการขายกาแฟที่มีราคาแพงกว่าย่อมสร้างรายได้และผลกำไรที่มากกว่า และชื่อของแบรนด์ Starbucks ก็ยื่นหนึ่งอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ที่มากนัก
หลังจากผ่านการทำงานร่วมกันกว่า 6 เดือน ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Nestlé ได้ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์กาแฟกลุ่มใหม่ภายใต้แบรนด์ Starbucks ซึ่งมีแผนที่จะวางจำหน่ายทั่วโลก ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 24 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟหรือกาแฟคั่วบด และยังเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตแคปซูลกาแฟภายใต้แบรนด์ Starbucks
นาริฐา วิบูลยเสข ผู้จัดการธุรกิจกาแฟปรุงสำเร็จ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า
“การวางขายจะเริ่มจากกลุ่มประเทศที่มีสินค้าพรีเมียมเติบโตมาก เข้าไปไปแล้วสามารถทำได้เลย อีกอย่างคือมีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างซับซ้อน”
Nestlé วางแผนขายสินค้ากลุ่มนี้ทั้งในเอเชีย ยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยเริ่มขายไปแล้วที่ “เกาหลีใต้” เป็นแห่งแรก ส่วนเมืองไทยได้เห็นสินค้ามาวางขายแน่นอนภายในปี 2019 นี้