หนังไทยไม่ “ตลก” ก็ “ผี” ถึงไม่ไปไหนสักที! “ซีเจ เมเจอร์“ พลิกมุมสร้างหนัง ต้องเน้น “อารมณ์และคน” ถึงจะเกิด วางแผนปีนี้ทำ 3 เรื่อง อยากได้เรื่องละ 100 ล้าน

นอกจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” จะเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ 11 แบรนด์ ครองส่วนแบ่งตลาด 70% โดยมีโรงภาพยนตร์มากกว่า 160 สาขา 771 โรง และกว่า 176,435 ที่นั่งทั่วประเทศ ภายใต้ธุรกิจที่มีรายได้ในปี 2018 จำนวน 10,671.30 ล้านบาท กำไร 1,283.59 ล้านบาท ยังมีค่ายที่ทำหน้าที่ในการผลิตภาพยนตร์เพื่อป้อนให้กับโรงภาพยนตร์ในเครือ ทั้ง เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์, เอ็ม ทาเลนต์ทรานส์ฟอร์เมชั่นฟิล์ม และล่าสุดคือ ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ก่อตั้งต้นปี 2016 โดยรวมทุ่นกับซีเจ อีแอนด์เอ็ม บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลี ในวันที่แถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซีเจ เมเจอร์ ได้ระบุว่า เรื่องแรกที่จะทำชื่อมิส แกรนนี่ (Miss Granny)” ฉายช่วงปลายปีนี้ เป็นการรีโปรดักชั่นจากเวอร์ชั่นที่ประสบความสำเร็จในประเทศเกาหลี พร้อมกับตั้งเป้าสร้างอีก 10 เรื่องภายใน 3 ปี

แต่ที่สุดแล้วมีเพียงเรื่องเดียวที่ได้ฉายออกมาคือ มิสแกรนนี่ ที่ได้นำมาทำใหม่ภายใต้ชื่อ “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์นมี ใหม่ดาวิกา โฮร์เน่, ก้อง – สหรัถ สังคปรีชา และ เจเจกฤษณภูมิ พิบูลสงคราม แสดงนำ เข้าฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2016

ซีเจเมเจอร์คาดหวังว่าเรื่องนี้จะต้องทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน เพราะมิส แกรนนี่ต้นฉบับในประเทศเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จด้วยรายได้รวมกว่า 51.7 ล้านเหรียฐสหรัฐ หรือราว 1.66 พันล้านบาท จากต้นทุนสร้างราว 3.1 ล้านเหรียฐสหรัฐ แต่ปรากฏว่าแม้จะมีนักแสดงระดับแม่เหล็ก หากเข้าโรงจริงๆ สัปดาห์แรกทำรายได้ราว 8 ล้านบาท ค่อนข้างน้อยผิดคาด

โยนู ชเว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กล่าวว่า

ยอมรับว่าเมื่อเทียบอีก 7 เวอร์ชั่น ฉายใน 6 ประเทศ ที่สร้างขึ้นจากต้นฉบับเดียวกัน เรื่อง 20 ใหม่ ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่คาดหวังไว้ โดยความผิดพลาดอาจมาจากการเข้าฉายยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งตามสถิติภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จค่อนข้างยาก ถือเป็นบทเรียนสำหรับเรา ที่ต้องเรียนรู้แล้วนำกลับมาปรับปรุงใหม่

อย่างไรก็ตามโยนูยังเชื่อว่า ตลาดภาพยนตร์ของไทยยังมีโอกาศอีกมาก เพราะเมื่อดูจากข้อมูล Box office ในปี 2017 จะพบว่า ภาพรวมตลาดภาพยนตร์ 6 ประเทศในอาเซียนรวมไทย มีมูลค่า 3.83 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่เกาหลีใต้มีมูลค่า 4.91 หมื่นล้านบาท และเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรไทยมี 65 ล้านคน เกาหลีมี 52 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่ายังมีการเติบโตได้อีกมาก

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ในปี 2011 Box office ของอินโดนีเซียมีมูลค่า 2.6 พันล้านบาท น้อยกว่าครึ่งกับเมืองไทยที่มีมูลค่า 4.9 พันล้านบาท หากเวลาผ่านในจนถึงปี 2017 กลับพบว่า ของอินโดนีเซียเติบโตทะลุหลักหมื่นล้านบาท ของไทยมีอยู่ราว 4.4 พันล้านบาท ลดน้อยลงเรื่อยๆ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคไม่เข้าโรงไปดูภาพยนตร์ แต่เป็นเพราะภาพยนตร์ไทยไม่มีความน่าสนใจและดึงดูดคนไทยให้เข้าดูได้มากพอ เมื่อเทียบกับเกาหลีคนจะดูภาพยนตร์เกาหลีและภาพยนตร์ฮอลลีวูด 50:50 แต่ของไทยมีราว 20% ที่ดูภาพยนตร์ไทย

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะคนไทยมองว่าการไปดูภาพยนตร์ไทยนั้นไม่คุ้มค่า” เมื่อเทียบภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มาการลงทุน บท นักแสดง และโปรดักชั่นถือว่าห่างชั้นกันอย่างมาก ที่สำคัญภาพยนตร์ไทยยังไม่หลากหลาย ไม่ทำภาพยนตร์ตลกก็ภาพยนตร์ผีซึ่งเป็นแนวที่คนชอบดูจึงมีการผลิตซ้ำๆ ทำให้คนดูผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

กลายเป็นว่าเมื่อภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จ รายได้ไม่เยอะ แต่ละปีมีภาพยนตร์ไทยทำรายได้ทะลุ 1 ร้อยล้าน เฉลี่ยปีละ 3 เรื่อง ที่เหลือห่างกันค่อนข้างมาก หลักล้านต้นๆ ค่ายภาพยนตร์จึงก็ไม่ค่อยทำแนวแปลกๆ จำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกมาในแต่ละปีจึงลดลงเรื่อยๆ จากจำนวน 66 เรื่องในปี 2012 เหลือ 42 เรื่องในปี 2018

โยนู บอกว่า สิ่งที่จะทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคัก จะต้องมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยความความสดใหม่ โดบวิธีที่ซีเจ เมเจอร์จะทำ คือ เน้นผลิตภาพยนตร์ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นอย่างดี ผ่านการเล่นกับอารมณ์ของคนดูเหมือนกับซีรีส์เกาหลี ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนานน่าตื่นเต้น

โดยหลังจากทิ้งช่วงมาตั้งแต่ปลายปี 2016 ในปีนี้ซีเจเมเจอร์เตรียมทำภาพยนตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ “Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงินแนวโรแมนติกคอมเมดี้ กำหนดฉาย 20 มิถุนายน, “That March” แนวโรแมนติกดราม่า เข้าฉายเดือนกันยายน และ “Classic Again” ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์เกาหลี

แต่ละเรื่องใช้งบลงทุน 25 ล้านบาท และงบโปรโมตอีก 25 ล้านบาท รวมงบลงทุนทั้งหมด 100 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้เรื่องละ 100 ล้านบาท โดย 70% มาจากการฉายในโรง ที่เหลือมาจากฉายในต่างประเทศและแพลตฟอร์ม OTT นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์อีก 3 เรื่องกำลังถ่ายทำอยู่

“ความท้าทายในตลาดไทยคือ การที่คนไทยมีพฤติกรรม ความสนใจที่หลากหลาย และมีกิจกรรมน่าดึงดูดใจจำนวนมาก แต่เชื่อว่าด้วย Know-how ที่มีซึ่งมาจากการผลิตภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง แต่ละปีมีเรื่องใหม่ 20 เรื่อง ยังมองตลาดไทยเป็นเรื่องบวกอยู่”

หลังจากนี้ซีเจ เมเจอร์ตั้งเป้าสร้างภาพยนตร์เพิ่มปีละ 1-2 เรื่อง โดยในที่สุดตั้งใจที่จะทำภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นออกไปฉายยังต่างประเทศ ทั้ง จีน ตุรกี เวียดนาม อินโดนีเซีย และอเมริกา.