CJ WORX Digital Agency
“ช้อนปรุงลดนี้มีขายที่ไหนอยากได้บ้าง, ช้อนมีรูแบบนี้ก็ตักหลายครั้งอยู่ดี เพราะตักแต่ละทีมันน้อย จะทำไงได้หละก็ต้องปรุงให้รสชาติมันอร่อย” เหล่าท็อปๆ ของคอมเมนต์ในแคมเปญ “ช้อนปรุงลด” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับครีเอทีฟเอเยนซี CJ WORX ร่วมกันใช้พลังไอเดียสร้างสรรค์สังคม ด้วยการสร้างให้เกิดภาพจำกับคนไทย สำหรับการบริโภคโซเดียมทั้งน้ำปลาและเกลือ ลดความสูญเสียทั้งเงินและทรัพยากรชาติ
ก่อนที่ช้อนปรุงลดจะมีรู…
ก่อนขยี้โจทย์ เราทราบข้อมูลว่า พื้นที่เล็กในช้อนปรุงมันทรงอานุภาพอย่างมาก เพราะจากการบริโภคโซเดียมแค่ช้อนชา แต่กลับสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากโรคที่เกี่ยวกับความเค็มให้คนไทยกว่า 20 ล้านคนมากถึง 98,976 ล้านบาท แล้วถ้าพื้นที่นี้ถูกลดทอนไปบ้าง ความสูญเสียเหล่านี้จะลดลงหรือไม่?
คำเตือนที่เรารับรู้มาตลอดมักเป็นตัวเลข แล้วภาพจำของปริมาณเหล่านั้นคืออะไร อย่าง คำเตือนขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ควรทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือประมาณ 600 มิลลิกรัม/มื้อ หรือถ้าเกลือไม่ควรเกิน 1/3 ช้อนชาต่อมื้อ, น้ำปลา 2/3 ช้อนชาต่อมื้อ แค่ไหนถึง 1/3 แบบไหนถึง 2/3 ช้อนชา
สร้างภาพจำแทนข้อมูลตัวเลข
ด้วยข้อมูลที่เป็นตัวเลขเหล่านี้ บวกกับพฤติกรรมของคนไทยติดเค็ม จึงทำให้คนไทยปรุงจนพุ่งทะยานเกินลิมิต ที่องค์การอนามัยโลกเตือนไว้ถึง 2 เท่า หรือกว่า 4,000 มิลลิกรัม นี่จึงเป็นเหตุที่เราต้องสร้างภาพจำอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนไทยตระหนักในการปรุงโซเดียม ทั้งเกลือ และน้ำปลา รู้ได้ทันทีเลยว่า ปริมาณแค่ไหนถึงพอดีในการปรุงแต่ละมื้อ จึงเป็นที่มาของช้อนปรุงลด ช้อนที่มีรูนั่นเอง
ในโซเชียลก็อาจมีคนเคยพบเห็นว่า ในต่างประเทศมีช้อนไดเอท แต่นั่นเป็นเพียงการประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความบันเทิงสนุกสนานไม่ได้จริงจัง ไม่มีวิชาการใดๆ มารองรับ เป็นมุกสำหรับการไดเอท ลดน้ำหนัก เพื่อให้ทานอะไรต่างๆ ให้น้อยลง เพราะอาหารหล่นไปในรู และยังไม่มีการรณรงค์ในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างโครงการที่เราพยายามผลักดันกันอยู่นี้ ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในโครงการรณรงค์ลดเค็ม ลดโซเดียมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และพยายามสื่อสารไปในวงกว้างไม่เพียงแต่ตัวช้อนปรุงลด แต่เพื่อให้เกิดภาพจำทุกครั้งเวลาปรุง
ก่อนถึงมือปรุงไปเท่าไหร่แล้ว…
แม้ว่าเป้าหมายในฝันเลยคือ ต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภคลดการปรุงเค็ม ทั้งเกลือและน้ำปลา เพราะก่อนที่อาหารสำเร็จรูปจะมาถึงเรา ผ่านการปรุงโซเดียมในปริมาณมากน้อยแค่ไหนแล้วไม่สามารถบอกได้เลย พ่อครัวแม่ครัวจัดหนักจัดเต็มแค่ไหนกี่ช้อนชา กี่ช้อนโต๊ะ หรือที่เคยเห็นในส้มตำ เรียกว่าเป็นทัพพีกันเลยทีเดียว ยิ่งเรามาปรุงเพิ่ม ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณโซเดียมเข้าไปอีก
แต่ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ เพราะรสชาติจัดจ้าน เปรี้ยวหวานมันเค็ม อยู่คู่กับลิ้นคนไทยอย่างไรก็ต้องปรุงเพิ่ม อย่างน้อยให้ปรุงในปริมาณที่พอเหมาะดีกว่า การสร้างแคมเปญลักษณะนี้คือการสร้างความตระหนักและตื่นตัวในเรื่องนี้ แม้เปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติไม่ได้เลยในครั้งเดียว แต่อย่างน้อยให้เกิดภาพจำในชีวิตประจำวันก็ยังดี
ทั้งนี้ การทำแคมเปญสร้างภาพจำในการบริโภคโซเดียม ด้วยช้อนปรุงลด เกิดกระแสตอบรับในโลกโซเชียลดีมาก ประชาชนให้ความสนใจสอบถามหาซื้อที่ไหนอย่างไร จนทำให้ทาง สสส.เตรียมขยายผลช้อนปรุงลดนี้ ให้ไปอยู่ในหลายสถานที่มากขึ้นในอนาคต ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์อาหารต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้ได้เข้าถึงการปรุงที่ลดลงมากขึ้น
แต่สุดท้ายปลายทางหากมีช้อนปรุงลด แต่ยังติดนิสัยปรุงหลายครั้งอยู่ดี มีภาพจำแต่ก็ไม่ตระหนักมากพอกับผลร้ายที่จะตามมา เหมือนรู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่และยาเสพติดไม่ดี แต่ก็ยังเสพ นั่นเท่ากับว่าเป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ตัดสินใจเลือกคุณภาพชีวิตตัวเอง และสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเองทั้งสิ้น….