แม้จะเพิ่งเปิดบริการ Food Delivery ได้เพียง 1 ปีกว่าๆ แต่ Grab Food ได้ระบุว่า ตัวเองถือเป็นผู้นำในตลาดนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 50% โดยยกตัวอย่างเทียบกับ Foodpanda ที่มียอดสั่ง 1 ล้านออเดอร์ภายใน 3 เดือน แต่ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2019 Grab Food มียอดสั่งกว่า 4 ล้านออเดอร์ แซงยอดปี 2018 ทั้งปีที่ทำได้ราว 3 ล้านออเดอร์เรียบร้อย
โดยเหตุผลที่ทำให้ปีนี้มียอดออเดอร์แซงปีที่แล้ว มาจากการเดินหน้ากลยุทธ์ Every Day App ที่ทำได้ดี และเริ่มมีโปรโมชั่นร่วมกันกับบริการอื่นๆ ที่อยู่ในแฟลตฟอร์ม โดย Grab Food ถือเป็นบริการที่ Grab ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเติบโตได้สูง แม้วันนี้จำนวนการใช้งานจะเป็นรองบริการเรียกรถ แต่เชื่อว่าอนาคตจะแซงขึ้นมาได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ Grab Food ได้ออกมายืนยันอีกว่าตัวเองเป็น Top of Mind เมื่อวัดจาก 4 ด้านทั้งความเร็ว ความหลากหลาย ความคุ้มค่า และคุณภาพ จากสำรวจโดย กันตาร์ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเดียวกับที่คู่แข่งรายสำคัญอย่าง LINE MAN ได้ออกมายืนยันเมื่อวาน (16 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา ว่าอยู่ในใจของผู้บริโภคเมื่อถามถึง Food Delivery เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับการสั่งอาหารมาส่งที่บ้านผ่าน Food Delivery กันมากขึ้น Grab Food ไม่ขอเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานบอกแต่เพียงว่า ช่วงเวลาที่สั่งมากยังคงเป็นมื้อเที่ยงและเย็น ทั้งส้มตำ อาหารไทย ข้าวมันไก่ และเบอร์เกอร์
แต่สิ่งที่เห็นเพิ่มขึ้นคือมื้อระหว่างบ่าย มักจะสั่งของว่างมากินโดยมี “ชาไข่มุก” นำมาเป็นอันดับหนึ่งและมื้อดึกหลัง 4 ทุ่ม ที่คนมักจะสั่งอาหารจากเยาวราชและมาม่าเจ๊โอ ที่สำคัญพฤติกรรมการสั่งได้ขยายจากวัยรุ่น วัยทำงาน ไปสู่วัยพ่อแม่เรียบร้อยแล้ว
กลยุทธ์ของ Grab Food ให้ความสำคัญกับ 3 ส่วน คือ ส่งเร็ว มีดีลพิเศษ และส่วนลด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 2 ข้อหลัง ซึ่งเชื่อว่าตัวเองยังเป็นรายเดียวในตลาดที่มี ล่าสุดยังได้อัดโปรโมชั่นใหญ่ครั้งแรกของ Grab Food โดยให้ส่วนลดสูงสุด 70% ใน 200 ร้านค้า ลูกค้าที่มียอดสั่งซื้อสูงสุด 3 รายจะได้ไปมัลดีฟส์
นอกจากนี้ยังดึง BNK48 เข้ามาช่วยโปรโมท ระยะเวลาแคมเปญตั้งแต่วันนี้จนถึง 2 มิถุนายน คาดว่าแคมเปญนี้จะทำให้ยอดออเดอร์ทะลุ 10 ล้านออเดอร์ ส่วนทั้งปีตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 20 ล้านออเดอร์
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บประเทศไทย กล่าวว่า
ยอมรับว่าวันนี้ Food Delivery เติบโตด้วยโปรโมชั่นที่แข่งกันอัดจากคู่แข่ง 4 รายหลักในตลาด แต่เชื่อว่าภายในอีก 5 ปี เกมนี้จะเหมือนกันสงคราม E-Commerce ตรงที่ไม่มีโปรโมชั่น ลูกค้าก็เข้ามาเพราะชินไปแล้ว
ขณะเดียวกันในแง่ของ “ราคา” หนึ่งในปัจจัยหลักการเลือกของผู้บริโภค Grab Food ยังยืนยันใช้ราคาส่ง 10 บาท ซึ่งถือว่าถูกที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ค่าบริการนี้จะคิดกับระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก ส่วนที่เหลือคิด 10 บาทต่อกิโลเมตร ในระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร ด้วยมองว่าผู้บริโภคไม่อยากรอนาน ระยะการส่งจึงไม่ควรเกิน 30 นาที
ส่วนเรื่องราคาอาหารที่ไม่ตรงกับหน้าร้าน ตรงนี้ Grab Food ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาแต่ทางร้านเป็นผู้ใส่ราคา แม้ว่าจะมีบางร้านที่มียอดขายสูงจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกร้าน
ความท้าทายของ Grab Food คือการต้องทำความเข้าใจกับร้านค้าว่า แม้การเข้าร่วมอาจทำให้หน้าร้านมีคนมากินน้อยลง แต่สามารถทดแทนกับการสั่งซื้อผ่าน Grab ที่ผ่านมาจึงมีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันมีมากกว่า 20,000 ร้านค้า ล่าสุดยังได้จับมือกับ ‘STARVINGTIME เรื่องกินเรื่องใหญ่’ แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคนในโซเชียลมีเดียว
ความร่วมมือนี้จะทำให้ Grab Food มีตัวเลือกร้านอาหารเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเป็นอีกช่องทางในการสั่งอาหารที่มากขึ้น เพราะท้ายรีวิวจะมีให้คลิกสั่งได้ทันที นอกจากนี้ภายในปี 2019 ได้วางแผนขยายไปอีก 6 เมือง เช่น พัทยา โคราช หาดใหญ่ นอกเหนือจากกรุงเทพ เชียงใหม่ และขอนแก่น ที่มีให้บริการไปแล้ว
Related