ความหอมหวนของ E-Commerce นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากข้อมูลที่ Statista ประเมินสร้างรายได้กว่า 118,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 139,000 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนปี 2020 ก็ไม่น้อยหน้าคาดการณ์รายได้จะเติบโตขึ้นอีก 15.3% ซึ่งนี่ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% จากมูลค่ารีเทลทั้งหมด ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจีนและอเมริกาที่พุ่งไป 10%
การเติบโตแบบหวือหวามาจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งคนไทยกว่า 80% มีโทรศัพท์มือถือ โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 45 ล้านคน คาดปี 2025 จะเพิ่มเป็น 80% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะเดียวกันพบพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยสมาร์ทโฟนถึง 71% ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย 76% และจีน 74% อีกทั้งคนไทยยังมีการซื้อสินค้าจากออนไลน์กว่า 80% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ราว 75% เท่านั้น
จึงไม่ต้องแปลกใจหาก “สงคราม E-Commerce” ในเมืองไทยยังไม่มีทีท่าที่ความร้อนแรงจะลดลงเลย จากการแข่งขันของ 3 ผู้เล่นหลักในตลาดทั้ง Lazada – Shopee และ JD Central ที่ทุ่มเงินยอม “เฉือนเนื้อ” ตัวเองเพื่อสร้างฐานลูกค้า แล้วค่อยไปตักตวงในวันที่ลูกค้าชินกับการใช้งาน
Lazada ย้ำว่าวันนี้ตัวเองยังนั่งบัลลังก์แชมป์ในเมืองไทยอยู่ ยืนยันด้วยผลสำรวจจาก iPrice แหล่งช้อปปิ้งเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ ที่ระบุว่า Lazada ครองแชมป์ตำแหน่งร้านค้าที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดในเมืองไทย รวมไปถึงเพื่อนบ้าน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย ส่วนเบอร์ 2 เป็น Shopee
ไตรมาส 1/2019 ที่ผ่านมามียอดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 127% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นจะยังไม่เพียงพอ Lazada จึงได้ก่อสงคราม (อีกครั้ง) กับ “Shopee” โดยเปิดเกมรุกแย่งชิงฐานลูกค้า “ผู้หญิง” อายุ 18 – 24 ปี
ที่ผ่านมา Lazada ไม่ได้โฟกัสฐานลูกค้าอายุน้อยสักเท่าไหร่ มุ่งไปที่กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไปซึ่งมีกำลังซื้อมากกว่า เปิดโอกาสให้ “Shopee” ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ทั้ง “แบมแบม GOT7” และ “BlackPink” จนสามารถกวาดฐานลูกค้าได้ถล่มทลาย
ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า
เคยมีคนในทีมว่า Lazada จำเป็นต้องมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ไหม? ถ้าต้องการสร้าง Awareness ก็คงต้องมี แต่วันนี้ Lazada ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างให้ Ecosystem เช่น โลจิสติกส์และเพย์เมนต์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม Lazada ก็ไม่อาจปล่อยลูกค้ากลุ่มนี้ไปให้คู่แข่งอย่างเฉยๆ ได้ แม้ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าอายุ 18 – 24 ปี จะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งราว 500 บาท ห่างกับค่าเฉลี่ยของทั้งแพลตฟอร์มที่จ่ายเฉลี่ย 1,300 บาท
แต่ Lazada ก็รู้ดีหากรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้เติบโตไปด้วยกันได้ อนาคตจะสามารถกระตุ้นลูกค้ากระเป๋าหนักได้มากยากนัก
การพุ่งไปหาฐานลูกค้ากลุ่มเด็กจะมุ่งไปที่ “ผู้หญิง” ก่อน ถึงในแพลตฟอร์มจะมีสัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ต่างกันมากก็ตาม แต่ปัจจุบัน SHEconomy ถือเป็นหนึ่งใน Global Mega-trends ที่กำลังมาแรงจากสถานะทางสังคมที่ผู้หญิงเพิ่มบทบาทมากขึ้น มีอำนาจกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลและน่าจับตามอง
โดยผลสำรวจพบว่า 85% ของยอดขายแบรนด์ต่างๆ นั้นมาจากกลุ่มผู้ซื้อผู้หญิง และมีผู้หญิง 22% ที่ช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน
ในขณะที่ Lazada ไตรมาสแรกของปีนี้มีลูกค้าผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเซ็กเมนต์ LazInStyle เป็นแหล่งรวมสินค้ายอดนิยมของผู้หญิงพบเติบโตกว่า 60%
พฤติกรรมของผู้หญิงคู่กับของสวยๆ งามๆ อยู่แล้ว สินค้า 2 กลุ่มหลักที่ขายดีจึงหนีไม่พ้น สินค้าความงาม 35.6% และแฟชั่น 28.9% ซึ่งหากสำรวจดีๆ จะพบว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยในกลุ่มสินค้าความงามมีมูลค่ากว่า 1.92 แสนล้านบาท เติบโต 7.3% และแฟชั่นมูลค่า 32 พันลานบาท
เพื่อให้เข้าถึงคนฐานลูกค้าผู้หญิงอายุ 18 – 24 ปี Lazada จึงเตรียมจัดแคมเปญ Women’s Festival ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันทั้งภูมิภาค ดึงดูดด้วยการลดสูงสุด 80% จากสินค้ากว่า 300,000 รายการ
และเตรียมจัดงานที่เอ็มควอเทียร์ วันที่ 24 – 26 พฤษภาคม โดยจะนำ Magic Mirror กระจกที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง AR และ AI สามารถไปยืนเพื่อลองสินค้า และสั่งได้ทันที
แคมเปญนี้ถือเป็นแคมเปญแรกเท่านั้น หลังจากนี้จะมีออกมาเรื่อยๆ โดย Lazada ตั้งใจทำให้เหมือนกับแคมเปญ 11.11 และ 12.12 นอกจากนี้ยังเตรียมแคมเปญที่ออกมาเจาะฐานลูกค้าผู้ชายโดยเฉพาะด้วย