F&N แจงเหตุควง Maxim’s ซื้อ “สตาร์บัคส์” ในไทยหวังแตกไลน์ขยายพอร์ตจาก ”นม” สู่ร้านกาแฟพรีเมียม

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทในเครือของไทยเบฟเวอเรจ แต่ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด (“F&N”) ขอชี้แจงว่า ดีลการซื้อหุ้นของสตาร์บัคส์ในไทยนั้น เป็นของ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น รีเทล คอนเน็คชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้าร่วมกับ Maxim’s Caterers Limited (“Maxim’s”) ตั้งกิจการร่วมค้าชื่อ บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) จำกัด (“CCT”) เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด (“สตาร์บัคส์ประเทศไทย”) หาใช่เป็นการลงทุนของไทยเบฟฯ โดยตรง

นับเป็นกลยุทธ์ล่าสุดของ F&N ในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในประเทศไทย ที่ F&N ได้ทำธุรกิจมากว่า 20 ปี

การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะเพิ่มตราสินค้าชื่อดังให้แก่พอร์ตโฟลิโอของ F&N ซึ่ง F&N ในประเทศไทยมีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี 2561

F&N ทำตลาดในประเทศไทยมานาน ทั้งกลุ่มสินค้านมกระป๋อง โดยมี ทีพอท ตราหมี และคาร์เนชั่น เป็นตราสินค้ากลุ่มนมข้นหวาน นมสเตอริไลส์ และนมข้นจืดที่ผู้บริโภคชื่นชอบ F&N ยังคงมุ่งหน้าขยายสินค้ากลุ่มไอศกรีมและนมในประเทศไทยด้วยการออกสินค้าใหม่จาก แมกโนเลีย ในปี 2561

โก๊ะ โป๊ะ เตียง (Mr. Koh Poh Tiong) กรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร ให้ความเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 3 ตลาดหลักของ F&N ซึ่งการซื้อหุ้นในครั้งนี้ตอกย้ำการขยายธุรกิจในไทย

นอกจากนี้ ตลาดค้าปลีกกาแฟระดับพรีเมียมในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว สตาร์บัคส์มีสาขา 372 แห่งทั่วประเทศ และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมองว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต 

ส่วนการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Maxim’s นั้นเนื่องจากประวัติการทำธุรกิจที่ดีกับสตาร์บัคส์มาอย่างยาวนาน เชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคในร้านสตาร์บัคส์ต่อไป

สำหรับ Maxim’s เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ คอมพานี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาร้านค้าปลีกกาแฟสตาร์บัคส์ในฐานะบริษัทที่ได้รับสิทธิให้ใช้เครื่องหมายการค้าสตาร์บัคส์มาตั้งแต่ปี 2543 โดยในปัจจุบัน Maxim’s ประกอบกิจการร้านสตาร์บัคส์ในฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา.