นับตั้งแต่วันเริ่มต้นทีวีดิจิทัลเมื่อ 5 ปีก่อน หลายคนดีใจกับการเป็นเจ้าของใบอนุญาต เพราะวาดฝันอยากเป็นเหมือนช่อง 3 และช่อง 7 แต่ “อาร์เอส” กลับมองว่าเกมนี้ “ไม่ง่าย” จากซัพพลายจำนวนช่องเพิ่มขึ้นมากกว่าดีมานด์ “เม็ดเงิน” โฆษณา “ไม่เติบโต” อีกทั้งสื่อถูก Disrupt จากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้ชม ที่กระจายตัวไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ MPC จึงเกิดขึ้นทันที
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เล่าวิชั่นของ “อาร์เอส” ตั้งแต่เริ่มต้นทีวีดิจิทัลให้ Positioning ฟังว่า การเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลเป็นสิ่งที่อาร์เอส “ต้องการ” แต่สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมทีวีก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากฟรีทีวีธุรกิจ 4 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง แม้เชื่อว่าอาร์เอสสามารถบริหารจัดการ ช่อง 8 ให้อยู่ในกลุ่มผู้นำได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ทำมาตลอดชีวิต
แต่สถานการณ์ที่จำนวนช่องล้นตลาด ต่อให้เป็นช่องผู้นำเรตติ้ง เวลาโฆษณาก็ต้องเหลือ หากไม่คิดแผนธุรกิจไว้ล่วงหน้าก็ต้อง “ทิ้งเวลา” ที่เหลือไประหว่างทาง ที่สำคัญ “สื่อ” ไม่เหมือนกับ Asset อื่นๆ และต่างจากการผลิตสินค้า หากขายไม่ได้ ก็ยังเหลือเป็นสินค้า แต่ “สื่อ” เมื่อใช้ได้ก็เป็นประโยชน์ แต่หากไม่ใช้ก็จะเป็น “อากาศ” ผ่านไปแค่ 1 ชั่วโมง หากสปอตโฆษณาเหลือขาย จากเงินจะเปลี่ยนเป็นอากาศ ที่ถูกทิ้งทันที “สื่อคือมูลค่าที่สูงกับสูญ” เท่านั้น
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ อาร์เอส ต้องมองหาโมเดลธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้กับเวลาโฆษณาทีวีดิจิทัลที่เหลือขาย จึงเป็นที่มาของธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) จากหลักคิดสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ โดยต้องใช้ “สื่อ” (ช่อง 8) ให้เป็นประโยชน์ ต้องอยู่ในเทรนด์ธุรกิจที่กำลังเติบโต จึงมาลงตัวที่สินค้า Health & Beauty เกาะเทรนด์สังคมสูงวัยดูแลตัวเองและสินค้าความงามเป็นเทรนด์ที่เติบโตทั่วโลก
เฮียฮ้อ ย้ำว่า MPC ของอาร์เอส ไม่มีโมเดลตัวอย่างและไม่ใช่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง แต่เป็นการทำธุรกิจที่อยู่กับ “โอกาส” นั่นคือเห็นโอกาส จากนั้นลงมือทำ เรียนรู้ ถูกผิด ปรับปรุงมาตลอดเส้นทางที่ก้าวสู่ปีที่ 5 กลายมาเป็นรายได้หลักของอาร์เอสในปัจจุบัน ที่เริ่มต้นสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ปี 2558 รายได้ 240 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 220 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 1,400 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 2,100 ล้านบาท
- ปี 2562 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3,000 ล้านบาท
MPC เกิดได้จากความเชื่อและ Passion
กว่าจะก้าวมาถึงจุดที่เป็นความสำเร็จ พิสูจน์ผ่านผลประกอบการปี 2561 รายได้ 3,399 ล้านบาท กำไร 516 ล้านบาท เฮียฮ้อบอกว่าเริ่มทำธุรกิจ MPC บนเดิมพันที่ต่ำมาก คือ 1. ไม่ได้หาทีมงานใหม่ แต่ใช้ทีมงานอาร์เอสเดิมทั้งหมด 2. ใช้สื่อช่อง 8 ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเหลือจากการขายโฆษณา 3. การผลิตสินค้าจ้าง OEM เพื่อทดลองตลาด ทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ “ไม่มาก”
MPC เป็นธุรกิจที่ใช้เงินไม่เยอะ แต่ต้องใช้ Passion ความมุ่งมั่นของเฮียและทีมงานอย่างมาก เป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังและความเชื่อ ในการผลักดันคนของอาร์เอส ที่เริ่มต้นจากธุรกิจหนึ่งและต้องเปลี่ยนไปทำอีกธุรกิจหนึ่ง ต้องใช้ความเชื่อเยอะมากในการทำงาน
การทำ MPC 2 ปีแรก ต้องซ้อนตัวเลขรายได้ธุรกิจ MPC ไว้ในรายได้อื่นๆ ไม่แยกให้เห็นว่าเป็นธุรกิจใหม่ เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่บอกว่า อาร์เอสที่เป็นธุรกิจสื่อกระโดดไปขายของ สิ่งที่ต้องเจอ คือ มุมคิดเชิงลบ จากคนรอบข้างรวมทั้งนักลงทุน ที่มองว่าธุรกิจอาจมีความเสี่ยง จากการทำสิ่งที่ “ไม่ถนัด”
“การทำธุรกิจหลายครั้ง ความยากคือ สิ่งที่คนอื่นบอกให้เราต้องเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ ช่วงเริ่มต้นจึงไม่ต้องการเจอแรงกดดัน และไม่โชว์ตัวเลขรายได้จากธุรกิจ MPC แต่หากทำสำเร็จแล้ว ทุกคนจะเชื่อมั่นเราเอง”
สิ่งที่ทำให้ อาร์เอส มั่นใจในการก้าวไปทำธุรกิจ MPC เพราะตั้งแต่เริ่มทำทีวีดิจิทัล ไม่ได้มอง “ช่อง 8” เป็นเพียงสื่อเท่านั้น แต่มองเป็น “ห้างสรรพสินค้า” ที่ไม่มีหน้าร้าน มองคนดูที่เข้าถึง (Reach) ช่อง 8 แต่ละวัน 8 -10 ล้านคน เปรียบได้กับคนมาเดินห้าง จึงต้องมีกลยุทธ์ดึงผู้ชมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสร้างเรตติ้งให้ช่องและช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการใส่คอนเทนต์ของ MPC ที่ต้อง “บาลานซ์” คอนเทนต์ให้ดี และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่เป็นการเรียนรู้และวิเคราะห์จากดาต้าที่มี
โฟกัสลูกค้าซื้อซ้ำ
ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ MPC ปีที่ 1-3 จะแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะช่วงแรกคือการหาลูกค้าใหม่ กลยุทธ์คือการต้อนคนดูจากช่อง 8 เข้ามาเป็นลูกค้าของ MPC หลังจากผ่านมา 4 ปี เข้าสู่ปีที่ 5 วันนี้มีฐานลูกค้าจากช่อง 8 จำนวนมาก หรือกว่า 1.5 ล้านคน ที่เป็นลูกค้าหมุนเวียนซื้อประจำ และ Data Base ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
“ฐานลูกค้า MPC ที่มีอยู่กว่าล้านคน เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการเติบโต การหาลูกค้าใหม่จากช่อง 8 ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญ คือการบริหารจัดการฐานลูกค้าที่มีอยู่ ด้วยการวิเคราะห์ดาต้าและใช้เทเลเซลที่มาอยู่กว่า 500 คน กระตุ้นกลุ่มลูกค้าเดิมให้ซื้อซ้ำ”
MPC โฟกัสการเติบโตบนฐานลูกค้าเก่า ซื้อซ้ำที่มีจำนวนมากขึ้น ตัวเลขการสั่งซื้อต่อครั้งชัดเจนว่า ลูกค้าใหม่ซื้ออยู่ที่ 2,000 บาทต่อครั้ง แต่ลูกค้าเก่าซื้อ 3,500 บาทต่อครั้ง เมื่อลูกค้าเข้าสู่ฐานข้อมูลแล้วค่าเฉลี่ยซื้อซ้ำอยู่ที่ 3,000 บาท กลุ่มซื้อซ้ำปัจจุบันมีสัดส่วน 15%
“เราทำตลาด MPC จนรู้ดาต้าของลูกค้าว่า แพ็กสินค้าที่นิยมซื้อต่อครั้งอยู่ที่ราคา 2,000 บาท การนำเสนอสินค้าจึงโฟกัสไปที่ราคานี้ ทั้งหมดมาจากการเรียนรู้ถูกผิด และวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค”
ปัจจุบันช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของธุรกิจทีวีทุกช่อง คือ เช้า เวลา 7.00 – 9.00 น. และค่ำเวลา 18.00 – 22.00 น. ของช่อง 8 ก็อยู่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งจะไม่เน้นขายของ แต่จะมุ่งใช้คอนเทนต์สร้างเรตติ้งเพื่อขายโฆษณาให้ลูกค้าและเอเยนซี
ขณะที่ไพรม์ไทม์ของกลุ่ม MPC ที่จะซื้อสินค้าจะอยู่ในช่วง 10.00 – 15.00 น. เป็นช่วงแม่บ้านอยู่บ้านดูทีวี เป็นกลุ่มที่จับจ่ายซื้อสินค้าเข้าบ้าน เห็นได้ว่าช่วงที่ขายของได้ดีที่สุดไม่ใช่ช่วงไพรม์ไทม์ของทีวี และนั่นเท่ากับว่า ช่อง 8 จะมีไพรม์ไทม์ตลอดทั้งวัน เพราะช่วง “นอน ไพรม์ไทม์” ของช่อง ได้ MPC เข้ามาอุดช่องว่าง
จิ๊กซอว์ใหม่พันธมิตรโรงงาน-ทีวีดิจิทัล
การทำธุรกิจ MPC วันนี้ก็ต้องก้าวไปอีกสเต็ป จากช่วงเริ่มต้นผลิตแบบ OEM เป็นรูปแบบที่คล่องตัวสูง แต่หลังจากทำยอดขายได้ระดับ 3,000 ล้านบาทในปีนี้ และเป้าหมาย 4,000 – 5,000 ล้านบาท ในอนาคตการผลิต OEM ทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยง เพราะโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นแต่พึ่งพาการจ้างผลิต อาจเจอกับภาวะผลิตไม่ทัน สินค้าขาดตลาด จะกลายเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจได้
ยุทธศาสตร์หลังจากนี้ คือการเติบโตแนวราบ ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจกับพันธมิตรโรงงานผู้ผลิตด้วยการเข้าไปร่วมถือหุ้นจะสรุปในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยสินค้า 60 – 70% ควรผลิตจากโรงงานพาร์ตเนอร์ เพื่อควบคุมคุณภาพและการผลิตอยู่ในมือได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญเป็นการ “ดึงกำไร” จากการผลิตกลับมาหาอาร์เอสอีกทางจากการจ้างผลิต
ในวันที่ “ทีวีดิจิทัล” ต่างมองโอกาสการขายสินค้าผ่านหน้าจอทีวี ทำให้เห็นรายการรูปแบบโฮมช้อปปิ้งเกลื่อนจอ ด้วยสินค้าที่หลากหลาย เฮียฮ้อ มองการแข่งขันนี้ว่า เป็นมุมมองการทำธุรกิจของแต่ละช่อง
“ความสำเร็จในธุรกิจโฮมช้อปปิ้งของช่องอื่นๆ ก็ไม่ได้มากระทบธุรกิจ MPC ของอาร์เอส และการทำธุรกิจไม่ได้ง่ายเหมือนวาดภาพ ที่จะก๊อบปี้กันแล้วสำเร็จ”
วันนี้ทีวีดิจิทัลต่างต้องมองหาโอกาสในการหารายได้ใหม่ๆ และอาร์เอสก็มองการมีพันธมิตรช่องทีวี เพื่อนำเวลาที่เหลือมาขายสินค้า เป็นสิ่งที่ win win ทั้งคู่ เพราะทุกช่องมีเวลาเหลือ และไม่ต้องมาทำการค้าในสิ่งที่ไม่ถนัด อาร์เอสได้ประโยชน์จากสร้างโอกาสใหม่ๆ เหมือนไปเปิดห้างใหม่ พันธมิตรทีวีดิจิทัลที่ร่วมมือไปแล้ว คือ ไทยรัฐทีวี และปีนี้จะมีเข้ามาเพิ่มอีก
ถูก Disrupt ตลอดเวลา แต่โอกาสยังมี
ตลอดเส้นทาง 38 ปีของอาร์เอส ที่เริ่มต้นในปี 2524 เฮียฮ้อ บอกว่าธุรกิจถูก Disrupt มาตลอด ตั้งแต่ยุคธุรกิจเพลง จากขายเทปมาเป็นซีดี จากซีดี ถูก Disrupt ด้วยการดาวน์โหลด อาร์เอส ต้องตัดสินใจขายโรงงานซีดี ทำให้จากไม่เคยขาดทุน ต้องอยู่ในภาวะขาดทุน 4 – 5 ปี เริ่มจับลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร
เข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม แทบจะเป็นคนสุดท้ายของวงการสื่อ แต่ทุกวันนี้ช่องทีวีดาวเทียมของอาร์เอสก็ยังไปต่อได้ มาสู่ยุคทีวีดิจิทัล ที่ส่วนใหญ่ยังขาดทุน แต่อาร์เอสปรับตัวสู่ธุรกิจ MPC
“อาร์เอส เป็นองค์กรที่เปลี่ยนแปลงตลอด เมื่อเราเดินทางไกล วันนี้เส้นทางเดินอาจราบเรียบเดินสบาย แต่วันหนึ่งเดินไปเส้นทางเดิมอาจเจอสิ่งกีดขวาง ก็ต้องหาเส้นทางเดินใหม่”
ตลอดช่วงเวลาความท้าทายในธุรกิจสื่อที่ผ่านมา อาร์เอสทำให้เห็นแล้วว่า สามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง วันนี้สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ก็ไม่ได้หมายถึงไม่ถนัด เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ เพราะเมื่อการเดินบนเส้นทางเดิมยังแฮปปี้อยู่ ก็ยังเดินได้และยังไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ต่อเมื่อถึงวันที่เส้นทางเดิมไม่ดี ก็ต้องปรับตัว สร้างบิสสิเนสโมเดลใหม่ เพื่อหารายได้ที่จะอยู่ได้ยาว
เมื่อเห็นเทรนด์หรือสัญญาณอะไร มักจะคุยกับทีมงาน และศึกษาดูว่าหากเข้าไปในธุรกิจใหม่ จะมีแต้มต่อหรือไม่ โดยเริ่มจากปัจจัยที่เห็นอยู่ข้างหน้าก่อน หลังจากมั่นใจแล้วก็เดินหน้าลุย เพราะไม่มีแผนไหนสมบูรณ์ 100% หากวิเคราะห์แล้วว่าทำได้ 60 – 70% ก็กระโดดเข้าไปทำได้ทันที จากนั้นไปเรียนรู้อีก 30 – 40% ที่ไม่รู้ สิ่งสำคัญต้องมั่นใจว่า เรียนรู้และปรับตัวได้เร็ว กล้าที่จะเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ
การทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่สิ่งที่ต้องมี คือ คิดเร็ว ทำเร็ว แก้เร็ว เรียนรู้เร็ว ถ้าไม่ดีก็เลิกให้เร็ว ดีก็ทำต่อ ในยุคนี้ไม่มีธุรกิจนิ่งๆ สบายๆ ให้ทำ เพราะแม้ทำแล้วดี ก็จะมีเรื่องใหม่ๆ มาให้แก้อยู่เสมอ สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลก็อาจไม่ได้ผลหลังจากนี้ นั่นคือโลกความจริงของธุรกิจที่ทุกคนต้องเจอ และไม่ต้องทำเร็วเกินไป แต่ต้องไปให้ทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค อุตสาหกรรมและธุรกิจที่ทำอยู่
“วันนี้ไม่รู้หรอกว่าอีก 3 ปีข้างหน้า จะทำอะไร แต่ระหว่างทางเดินหากเจอโอกาสใหม่ๆ ก็จะหยิบมานั่งคุย หากดูแล้วว่ามีปัจจัยที่จะทำสำเร็จได้ เหมือนมีอาวุธครบมือ ทำไมเราจะทิ้งโอกาส เช่นเดียวกับที่เริ่มต้นทำกับธุรกิจ MPC เมื่อ 5 ปีก่อน”
ทีวีดิจิทัล “เรตติ้ง” สำคัญแต่ไม่ใช่ที่สุด
หากดูจากรายได้และกำไรของอาร์เอส ก็อาจมองได้ว่าธุรกิจ MPC มาถึงจุดที่สำเร็จ แต่ “ช่อง 8” เรตติ้งเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่อันดับ 9 เกือบหลุดท็อปเท็น
เฮียฮ้อ มองว่า Ranking หรืออันดับช่องทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องที่ “คนนอก” มอง แต่เวลาลูกค้าซื้อโฆษณาไม่ได้ซื้อทั้งช่องอยู่แล้ว แต่ซื้อเป็นช่วงรายการที่มีเรตติ้งดี และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
“เรตติ้งมีความสำคัญในธุรกิจทีวี แต่บิสสิเนสโมเดลของอาร์เอส เรตติ้งไม่ได้สำคัญที่สุด ตั้งแต่ปีแรกที่ทำทีวีดิจิทัล ทุกคนพูดถึงแต่เรตติ้งมาเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่อาร์เอสมองเป็นเรื่องแรก คือ ธุรกิจต้องมีกำไร เราชัดเจนว่า ช่อง 8 จะไม่ทุ่มเงินเพื่อสร้างเรตติ้งใน 2 – 3 ปีแรก เพราะเชื่อตั้งแต่แรกว่า ทีวีดิจิทัล คือ เกมมาราธอน”
ปัจจุบันรายได้ช่อง 8 มาจากการขายโฆษณา 60 – 65% และอีก 30 – 40% มาจากรายได้โฆษณา MPC ด้วยโมเดลธุรกิจ MPC ทำให้ช่อง 8 สามารถใช้ประโยชน์ (utilization) จากเวลาโฆษณาได้เต็ม ส่วนทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ที่ขายโฆษณาไม่เต็มก็ต้องใช้วิธีแถมและใช้เป็นสปอตโฆษณารายการแทน
ในมุมของการทำทีวี ก็มีหน้าที่หาคอนเทนต์ใหม่ๆ มารักษาคนดูและเรตติ้งในช่วงเวลาหลักๆ ที่ทำรายได้ของสถานีเพื่อโอกาสการขายโฆษณา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันสูง ดังนั้นบางช่วงเวลาเรตติ้งก็จะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ถือเป็นปกติของธุรกิจทีวี
ไพรม์ไทม์ 18.00 – 22.00 น. ถือเป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูง ทุกช่องใส่เม็ดเงินเพื่อลงทุนคอนเทนต์เต็มที่ สำหรับช่อง 8 หลักคิดชัดเจนไม่ทุ่มเงิน และยังเป็นยุทธศาสตร์เดิม คือ ควบคุมต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ ในช่วงที่มีการแข่งขันสูงและเรตติ้งลดลง ก็จะกระทบเฉพาะในช่วงเวลานั้นๆ ช่วงไพรม์ไทม์ที่มีการแข่งขันสูง ช่อง 8 จะปรับผังใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ จันทร์ – อาทิตย์
สถานการณ์การแข่งขันของทีวีดิจิทัล หลัง 7 ช่อง “คืนใบอนุญาต” สิ่งที่ต้องจับตาคือ 15 ช่องที่ “อยู่ต่อ” จะมีดีกรีการแข่งขันดุเดือดมากขึ้น จากปกติที่รุนแรงอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่คิดว่า เมื่อได้รับความช่วยเหลือต้นทุนค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่ายต่อไปอีก 10 ปี จากคำสั่ง มาตรา 44 ของ คสช. หลายช่องจึงพร้อมที่จะใส่เม็ดเงินลงทุนคอนเทนต์มากขึ้น สำหรับช่อง 8 ทุกปีจะใช้เงินลงทุนคอนเทนต์ราว 600 ล้านบาทไม่มากไปกว่านี้
“ต้นทุนค่าใบอนุญาตและโครงข่ายที่ลดลง แค่ทำให้คนทำทีวีสบายตัวและคล่องตัวขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวช่วยที่จะทำให้ชนะในเกมได้ เพราะธุรกิจทีวีต้นทุนหลักอยู่ที่คอนเทนต์และ Operating costs 80% การช่วยเหลือจากมาตรา 44 ไม่ได้เปลี่ยนให้ผู้แพ้เป็นผู้ชนะ”
การบริหาร “ช่อง 8” เป้าหมายแรก คือ การเกาะกลุ่ม “ผู้นำ” ท็อปเท็น แต่บิสสิเนส โมเดลที่วางไว้ไม่ได้พึ่งพาจากรายได้โฆษณาอย่างเดียว แต่มี MPC มา Synergy เพื่อสนับสนุนการเติบโต
“แม้เรตติ้งยังสำคัญ แต่เกมของอาร์เอสเปลี่ยนไป เพราะเรตติ้งสำคัญน้อยกว่ากำไรและตัวเลขลงทุนทำคอนเทนต์ ต่างจากทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ที่มองเรตติ้งเป็นตัวนำ และทุ่มงบลงทุนเพื่อให้ได้มา แต่รายได้อาจไม่คุ้มการลงทุน”
วันนี้ภาพใหญ่ของ “อาร์เอส” มีการกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพารายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง แต่สร้างแหล่งที่มาของรายได้หลายธุรกิจ.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง