Harley-Davidson ประกาศความร่วมมือกับ Quianjiang Motorcycle Company Limited (อ่านว่าเฉียนเจียง) เพื่อผลิต Harley 338cc รุ่นเบบี๋ สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ
หลายคนอาจข้องใจว่า Qianjiang Motorcycle เป็นใครมาจากไหน? และวันนี้ตลาดเมืองจีนมีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว?
Qianjiang Motorcycle ถูกเรียกในวงกว้างว่า QJ ตัวบริษัทตั้งอยู่ที่เมืองเจ้อเจียง ประเทศจีน จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ QJ ตัดสินใจซื้อบริษัทสัญชาติอิตาลี Benelli ในปี 2005 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แบรนด์เก่าแก่รายใหญ่ระดับโลก ส่งให้ QJ สามารถชุบตัวกลายเป็นแบรนด์ทรงประวัติศาสตร์ยาวนานและหลากหลายผ่านแบรนด์ MotoBi ที่กระหึ่มขึ้นอีก
QJ เน้นผลิต
Quianjiang ลงมือผลิตรถจักรยานยนต์และสกูตเตอร์ภายใต้แบรนด์ต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว สินค้าของ QJ วางจำหน่ายทั้งในตลาดจีนบ้านเกิดและในต่างประเทศ แน่นอนว่าการซื้อ Benelli เพื่อต้องการโกอินเตอร์ระดับโลกของ QJ เพราะ QJ จะสามารถเสริมด้านการออกแบบที่สวยงามสไตล์อิตาลี ซึ่งใครเห็นก็จดจำได้ จากก่อนนี้ Quianjiang จะเป็นเพียงสายการผลิตที่ไม่มีใครรู้จัก
คำขวัญของ QJ คือ “ดีไซน์แบบยุโรป คุณภาพแบบญี่ปุ่น บนราคาต้นทุนแบบจีน” สะท้อนว่า QJ เน้นเจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบรถมอเตอร์ไซด์ดีไซน์เฉียบคมไม่ธรรมดา ที่น่าสนใจคือ Benelli ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์เดียวของ QJ เท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ Qijiang, Generic, Keeway, KSR โดย QJ ยังผลิตรถ ATV, รถมินิไบค์, และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อส่งไปจำหน่ายทั่วโลก เรียกว่าทวีปเดียวที่ QJ ไม่ได้วางจำหน่ายสินค้าในวันนี้คือทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลก
นอกจากนี้ QJ ยังเป็นบริษัทย่อยของบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือ Geely ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ Volvo, Polestar และอีกครึ่งหนึ่งของแบรนด์ Smart ในเครือ Daimler ซึ่งหากมองเฉพาะในมาเลเซีย บริษัทแม่ของ Quianjiang ยังดูแลผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของตลาดอย่าง Proton รวมถึง Lotus ล่าสุด QJ กำลังพัฒนาแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่ชื่อ Lynk & Co บนแพลตฟอร์มของ Volvo ซึ่งมีการวางแผนเพื่อเปิดตัวในสหรัฐฯช่วงปี 2021
เงียบแต่ใหญ่
น่าเสียดายที่ Quianjiang ไม่เปิดเผยข้อมูลยอดขายระดับโลก สิ่งที่พอจะประเมินความยิ่งใหญ่ของ QJ คือการมองการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์จีน ซึ่งวันนี้ตลาดยานยนต์ 2 ล้อของจีนมีความยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย สถิติการผลิตจักรยานยนต์โดยรวมของอินเดียในปีงบประมาณ 2017 มีจำนวนเกิน 20 ล้านหน่วย ขณะที่จีนไล่ตามเล็กน้อยคือ 15 ล้านหน่วย (ตามข้อมูลจาก Marklines)
สำหรับตลาดเอเชีย รายงานจาก Motorcycles Data พบว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในอินโดนีเซียทำสถิติสูงสุดคือ 6.38 ล้านคันต่อปี, เวียดนาม 3.39 ล้านคัน, ปากีสถาน 1.9 ล้านคัน และประเทศไทย 1.78 ล้านคัน รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ (ยอดขาย 1.59 ล้านคัน), บราซิล (957,000 คัน) และไต้หวัน (762,000 คัน) ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าตลาดจีนพื้นที่เดียวมีขนาดเทียบเท่าหลายพื้นที่ในเอเชียรวมกัน
เพื่อเจาะตลาดจีนให้ได้ Harley-Davidson จึงร่วมมือกับ Qianjiang สร้างรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ขนาดเครื่องยนต์ 338cc ซึ่งเป็นหนึ่งในขนาดที่เล็กที่สุดในประวัติศาสตร์ 116 ปีของ Harley (เทียบกับรุ่นท็อปของ Harley ที่เป็นเครื่องยนต์ขนาด 601cc ขึ้นไป) กำหนดการวางขายในประเทศจีนช่วงปลายปี 2020
ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นในวันที่ Harley ต้องรับมือกับยอดขายที่หดลงในสหรัฐฯ ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ Harley มีแผนจะลดต้นทุนและทรัพยากรลงครึ่งหนึ่งของยอดขายนอกสหรัฐอเมริกาให้ได้ภายในปี 2027
Harley เร่งเครื่อง
ขณะนี้ Harley ปฏิเสธที่จะเปิดเผยช่วงราคาสำหรับรถมอเตอร์ไซด์รุ่นเล็กใหม่ล่าสุด แต่โฆษก Qianjiang ให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะมีราคาเอื้อมถึงได้ และจะเปิดตัวที่อื่นในเอเชีย หลังจากการประเดิมเปิดตัวก่อนที่ประเทศจีน ส่วนนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าการคลอดรุ่นเล็กจะทำให้ Harley-Davidson แก้ปัญหาไม่สามารถเจาะตลาดเอเชียด้วยมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ราคาแพง
สถิติพบว่าแบรนด์ Harley มีคะแนนความนิยมไม่ธรรมดาในสายตาคนจีน ล่าสุดพบว่ายอดขายของ Harley ในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 27% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับปี 2017 และ Harley ยังเพิ่มการลงทุนที่โรงงานในประเทศไทยเพื่อรองรับตลาดจีน ซึ่งสามารถเลี่ยงภาษีนำเข้าเพิ่มเติมได้ด้วย.
ที่มา :