“ทีวี”คือแต้มต่อ เมื่อทุกคนทำออนไลน์ได้หมด ส่องยุทธศาสตร์ “เวิร์คพอยท์”สร้าง Ecosystem รวม”พันธมิตร คู่ค้า ผู้ชม”

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัล หลังการปลดล็อก “ต้นทุน” ทุกรายที่ไปต่อ ต่างมุ่งสู่การสร้างแพลตฟอร์มโอทีที ชูยุทธศาสตร์ผสานออฟไลน์ออนไลน์ รับมือการแข่งขันที่ไม่ได้มีเพียงคู่แข่งทีวีด้วยกัน 

“เวิร์คพอยท์” ที่เริ่มต้นจากคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ และก้าวสู่การเป็นเจ้าของ “ทีวีดิจิทัล” มองสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อวันนี้อย่างไร Positioning สัมภาษณ์  ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าวันนี้สื่อทีวี ซึ่งมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ราว 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี ประเมินจากผู้ประกอบการของผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลปัจจุบัน

สถานการณ์วันนี้ คนที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 15 ช่องที่เหลืออยู่ ซึ่งจะไม่เพิ่มจำนวนไปมากกว่านี้ ดังนั้น “ทีวีดิจิทัล” ไม่ใช่สื่อที่ใครๆ จะทำได้ เพราะต้องมีใบอนุญาต เม็ดเงินโฆษณาทีวีจึงเป็นโอกาสของคนทำทีวีเท่านั้น แต่สื่อออนไลน์ “ทุกคน” ทำได้หมด แม้กระทั่งคนธรรมดา ก็เป็นเจ้าของแชนแนลในยูทูบได้ ใช้ Facebook Live เป็นช่องทางขายของหารายได้

 

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม

“วันนี้ทีวีดิจิทัลเป็นแต้มต่อของคนทำทีวี เพราะทุกสถานีทำออนไลน์หมดแล้ว แต่คนทำออนไลน์ ก้าวมาเป็นเจ้าของทีวีไม่ได้ ”

คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยกเว้นเก็บค่าประมูลทีวีดิจิทัล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่าย (MUX) จนครบใบอนุญาตอีก 10 ปี ทำให้วันนี้ ผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล “ไม่มีต้นทุน” เวิร์คพอยท์เองต้นทุนลดลงจากส่วนนี้ราว 100 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การทำทีวีดิจิทัล ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามี “กำไรสะสม” เกือบ 2,000 ล้านบาท จึงคืนทุนค่าใบอนุญาตที่จ่ายไปทั้งหมดแล้ว

ปักธงสร้าง Ecosystem ต่อยอดธุรกิจ

ยุทธศาสตร์คนทำทีวีวันนี้ คือ Single Content  Multiple Platform การใช้คอนเทนต์เดียวกระจายไปทุกวินโดว์ แต่ละวินโดว์ก็พยายามหาวิธีสร้างรายได้ ซึ่งทั้งโลกใช้วิธีนี้และประเทศไทยก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

ปัจจุบันคนทำทีวี คือคนที่มี “มีเดีย”ครบที่สุด เมื่อต้องเชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน จึงอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้  ซึ่งก็มีทั้งการมองตัวเองเป็น “มีเดีย” ก็จะใช้เป็นช่องทาง “ขายสินค้า” ได้  แต่สิ่งที่เวิร์คพอยท์กำลังจะทำคือเชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน ทั้งแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยท์ที่มีสื่อครบ และของพันธมิตร เพื่อดึงคู่ค้า ทั้งผู้ลงโฆษณา ผู้ขายสินค้า และผู้ชมทั้งกลุ่มที่ดูคอนเทนต์และในฐานะผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ามาอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน  ซึ่งจะเริ่มเห็นในปีนี้

 

เราคงไม่ทำทุกอย่างเองทั้งหมด ใน Ecosystem ที่กำลังจะทำนี้ มีพาร์ทเนอร์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียล มีเดีย  มาร์เก็ตเพลส  อีเวนต์ เชื่อมเข้ากับสื่อทีวี ออนไลน์และธุรกิจอื่นๆ ของเวิร์คพอยท์

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Facebook YouTube Line  ไม่ใช่ของเวิร์คพอยท์ แต่มีคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์อยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งก็เชื่อมเข้ามากับ Ecosystem คอนเซปต์ง่ายๆ คือ เวิร์คพอยท์ จะทำหน้าที่ Plug-in ทุกอย่างทั้งของเวิร์คพอยท์และพาร์ทเนอร์ เพื่อเสนอโซลูชั่นให้กับผู้ที่ต้องการใช้สื่อและคอนเทนต์ รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มของ “ผู้ชม” ที่ต้องการดูคอนเทนต์ เป็นช่องทางให้ SMEs ที่ต้องการขายสินค้าและใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภค

“การสร้าง Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ มาจากจุดที่เรามีสื่อครบทั้งทีวี ออนไลน์ และอีเวนต์ มีความเชี่ยวชาญการทำคอนเทนต์  เพราะธุรกิจสื่อวันนี้ เป็นเรื่องของการล้อมคนไว้ทุกทิศทาง”

ยุทธศาสตร์การสร้าง Ecosystem  ของเวิร์คพอยท์ เป็นแนวทางเดียวกับแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลกอย่าง  Alibaba Amazon Facebook Google Line  ที่ต้องทำทุกอย่างเช่นกัน และในบางอย่างหากไม่ทำก็จะหาพาร์ทเนอร์มาทำงานร่วมกัน  เป็นสิ่งที่เห็นเทรนด์และทิศทางธุรกิจจากการไปร่วมสัมมนาของแพลตฟอร์มระดับโลกทุกปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเวิร์คพอยท์ พอมีเงินเหลือที่จะลงทุนใหม่ๆ เพื่อทดลองการสร้าง Ecosystem

ลงทุนอีเพย์เม้นต์ GB Prime Pay

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2562 เวิร์คพอยท์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เรื่องบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ บริษัท โกลบอล ไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Global Prime) ซึ่งเป็นธุรกิจ Payment Gateway ธุรกิจรับชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ มูลค่าการลงทุน 40  ล้านบาท ถือหุ้น 30%

โดย GB Prime Pay ระบบชำระเงินรองรับบัตรทุกชนิดและธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งระบบตะกร้าบนเว็บไซต์ การขายผ่าน Facebook Line และ Instagram พร้อมทั้งบริการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย เทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภครายบุคคล

ภาพจากเว็บไซต์ GB Prime Pay

ชลากรณ์ บอกว่าการเข้าไปลงทุนใน GB Prime Pay เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่กำลังเติบโต วัตถุประสงค์แรกเป็นการลงทุนเพื่อทำ “กำไร” แต่ในระยะยาวมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับการขยายธุรกิจของกลุ่มเวิร์คพอยท์ และเป็นการต่อจิ๊กซอว์ระบบเพย์เม้นต์ใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์

“การลงทุนในธุรกิจใหม่ ระยะสั้นจะดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงกับเวิร์คพอยท์ได้บ้างและหากยังไม่มีในระยะยาวก็อาจมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะ Transaction Online ที่เวิร์คพอยท์อาจได้ประโยชน์ ผ่านระบบเพย์เม้นต์อีคอมเมิร์ซ ในธุรกิจทีวี ช้อปปิ้งและผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ Let Me In”

ผังรายการทีวีเปลี่ยนถี่

ในสมรภูมิการแข่งขันทีวีดิจิทัลเองวันนี้ สปีดการปรับผังรายการต้องดูทุก 3 เดือน จะเห็นได้ว่ารายการส่วนหนึ่งเป็นซีซั่นอยู่แล้ว เพราะพฤติกรรมชมในยุคนี้เปลี่ยนเร็ว ช่วงต้นปีเศรษฐกิจชะลอตัวและมีเลือกตั้งจึงยังไม่ปรับผัง โดยเริ่มใส่รายการใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 2 มาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” เป็น “กล่องของขวัญ” ,รายการ Sweet Chef Thailand, รายการ 10 FIGHT 10, Who is my Chef, คู่เฟค คู่แฟน Fake Lovers ช่วงไตรมาส 3 จะใส่รายการใหม่เข้ามาอีก ปกติมีรายการใหม่ไตรมาสละ 1-2 รายการ มีทั้งปรับและเปลี่ยน

ภาพเฟซบุ๊ก The Mask Singer

ก็ต้องบอกว่ารายการที่คนชอบพูดถึง อย่าง The Mask Singer และ I Can See Your Voiceรตติ้งยังดีอยู่เฉลี่ย 3 จึงยังอยู่ในผังช่องต่อไป เพราะเป็นรายการที่มีคนดูประจำ แต่ละซีซั่นก็จะใส่ลูกเล่นใหม่ เพื่อรีเฟรชรายการให้ดูสนุกและตื่นเต้น แม้เรตติ้งจะไม่สูงเท่าที่เคยทำได้ระดับ 7-8  แต่เรตติ้ง 3 ก็แข่งขันกับละครที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้

เดิมทีวีเป็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่วันนี้เป็นการแข่งขันของทุกอุตสาหกรรม เพื่อดึงเวลาของคนให้มากที่สุด จึงไม่ได้โฟกัสที่ Ranking และ Rating มากนักว่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไร เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “คอนเทนต์ดี” เรตติ้งก็จะดีตามไปด้วย

“เราคิดข้ามเรื่องเรตติ้งไปแล้ว เพราะเป็นปกติที่มีขึ้นลง แต่โฟกัสไปที่คนดูใช้เวลาอยู่กับทุกแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยต์มากขึ้นหรือไม่ ทั้งทีวี ออนไลน์ และกิจกรรม เพราะเมื่อมีคนใช้เวลามากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นโฆษณา ซื้อสินค้า หรือขายสินค้าใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ วันนี้จึงมองเรื่องการต่อยอดธุรกิจเป็นหลัก”

ภาพจากเฟซบุ๊ก workpoint

ปีนี้รายการเวิร์คพอยท์ที่กระแสแรงสุดก็คือ มวย 10 FIGHT 10 รูปแบบรายการให้ดารา นักแสดง มาแข่งต่อยมวย ก่อนแข่งจะมีการซ้อม 2-3 เดือน รายการ 10 FIGHT 10  ไอเดียคล้าย The Mask Singer  ที่ดึงดารา นักร้อง คนดัง มาแข่งขันความสามารถร้องเพลง มีดาราสนใจขึ้นเวทีจำนวนมาก เช่นเดียวกันดารา หลายคนที่นิยมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ ก็สนใจเข้าร่วมแข่งขันต่อยมวย 10 FIGHT 10 แข่งขัน ซีซั่นละ 10 คู่ ระยะเวลา 3 เดือน หลังออกอากาศไป 2 ตอน เรตติ้งเฉลี่ย  2  การดูผ่าน Facebook Live พร้อมกันหลักแสนคน  ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากและไม่เห็นตัวเลขนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนนี้ที่ทำได้คือ The Rapper

ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์

ปีนี้เวิร์คพอยท์ได้ทดลองต่อยอดคอนเทนต์รายการธุรกิจใหม่ ผ่านรายการ Sweet Chef Thailand  ซึ่งเป็นรายการแช่งขันทำขนม ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่ม 9  มิ.ย.ที่ผ่านมา  โดยหลังรายการจบ เมนูขนมในรายการ จะนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3  ซึ่งเป็นร้านที่ “โต๊ะกลม” บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ลงทุนร่วมกับเจ้าของร้าน The Cassette Music Bar  ร้าน Kobe Steakhouse และร้านรองเท้า paa ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว

ร้าน Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3

หลักคิดการทำรายการ Sweet Chef Thailand ที่มีให้ดูทั้งหน้าจอทีวี ออนไลน์ และไปจบที่หน้าร้าน เป็นการต่อยอดคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูรายการอาหาร หลังจบรายการแล้ว หากชอบเมนูนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหารับประทานได้ที่ไหน จึงทดลองนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe เพื่อให้คนที่สนใจมาชิมเมนูต่างๆ  ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากมีเดีย ที่สร้างการรับรู้ผ่านรายการทีวีมาสร้างรายได้ผ่านหน้าร้าน ช่วง 1-2 ปีนี้ จะทดลองโปรเจกต์ลักษณะนี้อีก แต่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก

จับมือทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้เวิร์คพอยท์ ยังมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกราย ในการนำรายการไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ รวมทั้งการเป็นคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ความร่วมมือง่ายที่สุด คือรับจ้างผลิต “ออริจินัล คอนเทนต์”หรือการแบ่งรายได้ร่วมกัน ความร่วมมือก่อนหน้านี้ เช่น  Viu Line TV

ล่าสุด Netflix ได้เข้ามา “เช่าเวลา”ในช่องเวิร์คพอยท์ เพื่อฉายคอนเทนต์ของ Netflix เป็นภาพยนตร์ยาวตอนเดียวจบ 1 ครั้ง 1 ชั่วโมง เมื่อวันเสาร์ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากนี้เป็นรายการทีวีแนะนำหนังและฉายหนังตัวอย่างครั้งละ 20 นาที  ถือเป็นรูปแบบการโฆษณาคอนเทนต์ของ Netflix ทางทีวีที่เป็นสื่อแมส

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ทุก “สื่อ” ทำเหมือนกัน คือ เป็นการ “ดักคนดู” ของทุก “มีเดีย” เพราะหากต้องการให้คนเห็นคอนเทนต์จำนวนมากก็ต้องใช้ทุกพื้นที่ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์  สิ่งพิมพ์ OOH  การที่ Netflix ใช้สื่อทีวี เพราะต้องการเห็นตลาดใหญ่ขึ้นอีก

“ตอนนี้ธุรกิจสื่อทั้งโลก เหลือกฎอยู่ข้อเดียว คือ ใครได้คนเยอะสุด จะได้ประโยชน์มากที่สุด ออนไลน์เองก็ต้องทำให้คนอยู่กับแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้มากที่สุด แม้วันนี้มีคนใช้บริการอยู่จำนวนมากแล้ว แต่ก็ต้องการได้เพิ่มอีก”

ส่วนความร่วมมือกับ Facebook หลังจบรายการ 10 FIGHT 10 จะต่อด้วยรายการ Social Icon  ซึ่งจะใช้เครื่องมือของเฟซบุ๊กในการโหวตแข่งขัน  แนวคิดคือเชื่อมทีวีกับออนไลน์  วัตถุประสงค์หลักๆ คือ หาคนทำวิดีโอ ทุกประเภท ทั้ง รีวิวสินค้า ร้องเพลง ขายสินค้า คลิปตลก  หากทำคอนเทนต์ได้ดี ก็มีโอกาสสร้างอาชีพได้ และต้องการให้คนที่มีความสามารถตื่นตัวกับการทำวิดีโอ คอนเทนต์  ซึ่ง Facebook ก็จะได้คนทำวิดีโอ บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น  ส่วนเวิร์คพอยท์เองก็มีโอกาสเจอคนทำวิดีโอเก่งๆ และเป็นพาร์ทเนอร์ในกลุ่ม Influencers

อุตสาหกรรมสื่อวันนี้ ทุกคนยังต้องเจอการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องที่ยาก คือ ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าการมีสื่อครบและมีคอนเทนต์ที่ดี ยังมีโอกาสไปต่อได้.