งานนี้ต้องเรียกว่า “เสี่ยสั่งลุย” เมื่อเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังคงเดินหน้าซื้อกิจการ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่เดิม ล่าสุดบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ Thai Beverage ของเสี่ยเจริญ เพิ่งปิดดีลซื้อกิจการบริษัทกาแฟสัญชาติจีน “ตงกวน หลี่ถิง ฟู้ดส์” (Dongguan LiTeng Foods) หวังลุยสมรภูมิโกปี้จีนเข้มข้นยิ่งขึ้น เดินหมากต่อเนื่องหลังเทเงินฮุบสตาร์บัคส์ในไทย ขนานไปกับการกว้านซื้อโรงงานเบียร์และวิสกี้ทั้งในพม่าและเวียดนาม
จากเอกสารชี้แจงของไทยเบฟเวอเรจที่ส่งถึง กลต.สิงคโปร์ ระบุชัดว่าดีลซื้อซื้อกิจการบริษัทแปรรูปและจำหน่ายกาแฟจีนนี้มีมูลค่าราว 300,000 หยวน หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนเพื่อเข้าสู่ธุรกิจกาแฟจีนอย่างเต็มตัว โดยไทยเบฟจะครองหุ้นทั้งหมด 100% ผ่านบริษัทลูกชื่อ Asiaeuro International Beverage (Guangdong)
การซื้อบริษัทผลิตกาแฟสัญชาติจีนสะท้อนว่าไทยเบฟตั้งความหวังไว้สูงมากในตลาดกาแฟ ก่อนหน้านี้ ไทยเบฟซื้อสิทธิ์ดำเนินการร้านค้าปลีกสตาร์บัคส์ทั่วไทยในนาม Coffee Concepts Thailand ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Maxim’s Caterers และ F&N Retail Connection ที่ Thaibev ถือหุ้นอยู่ โดยการเจรจาเพิ่งปิดดีลอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อเดือน พ.ค. 2019 แม้จะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าแต่นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าดีลนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับตลาดจีน นี่ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณหลักที่ไทยเบฟแสดงจุดยืนพร้อมบุกตลาดกาแฟจีน ที่ผ่านมาไทยเบฟสามารถทำตลาดสุราจีนในนาม Yulinquan Chinese ข้อมูลถึงวันที่ 30 กันยายน 2018 ระบุว่าบริษัทถูกแตกแขนงออกไปเป็น 173 สาขา ในจำนวนนี้รวมโรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 11 แห่งในประเทศไทย
ไทยเบฟโกอินเตอร์
ในขณะที่สถิติล่าสุดพบว่าไทยเบฟมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมจุดขาย (POS) ทั่วประเทศไทยมากถึง 400,000 จุด แต่บนเวทีโลก ไทยเบฟมีการดำเนินงานในกว่า 90 ประเทศ แน่นอนว่าจีนเป็นเพียงหนึ่งในหลายตลาดหลักที่ไทยเบฟต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อหยั่งรากธุรกิจให้ลึกกว่าเดิม
การโกอินเตอร์ของไทยเบฟเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2017 ที่ไทยเบฟซื้อหุ้น 75% ในกลุ่มบริษัท Grand Royal Group (GRG) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทวิสกี้รายใหญ่ที่สุดในเมียนมา นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ไทยเบฟก็เข้าถือหุ้นบริษัทเบียร์ Sabeco ยักษ์ใหญ่เวียดนามด้วยมูลค่า 109.97 ล้านล้านดงเวียดนาม (ราว 1.4 แสนล้านบาท) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ไทยเบฟก็ซื้อหุ้นอีก 50% (34 ล้านหุ้น) ในบริษัท Vietnam F&B Alliance เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Sabeco จาก 53.59% เป็น 99%
การลงทุนซื้อกิจการ Sabeco แสดงว่าไทยเบฟยังหวังลุยตลาดเครื่องดื่มทั้ง 2 ขา คือทั้งที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเม็ดเงินที่ไทยเบฟต้องจ่ายเพิ่มเพื่อฮุบ Sabeco ถือว่าไม่ต่ำกว่า 14.72 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนที่สูงมากเพื่อแลกกับการได้ครอบครอง Sabeco ผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำในประเทศเวียดนามเจ้าของแบรนด์ Saigon Beer และ 333 Beer รวมถึงอีกหลายแบรนด์ที่เป็นสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- บทสรุป ดีลยักษ์ Starbucks ควงไทยเบฟ ถล่มสมรภูมิเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์
- สตาร์บัคส์ แจงข้อตกลงขายสิทธิ์ให้ไทยเบฟ ผ่านบริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ หวังเร่งขยายการเติบโตในไทย
-
สตาร์บัคส์สาขาแรกเครือข่าย “เจ้าสัวเจริญ” ปักหมุด สนง.ใหญ่อาคเนย์ สีลม