ด้วยเวลามากถึงวันละ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวันบนเกม Farmville ทำให้ ฌานิกา เร้ารุจา หรือ “อิ่ม” Marketing Manager ของบริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส สาขาสยามทาวเวอร์ จัดได้ว่าเป็นนักเล่นเกม Facebook ที่ทุ่มเทที่สุดคนหนึ่ง แม้ปัจจุบันเธอจะใช้เวลาเล่นน้อยลงมากจากตำแหน่งการงานที่เพิ่งเลื่อนขึ้นมา แต่ก็ยัง “อิน” และแบ่งเวลาว่างให้กับเกมโปรด Farmville และเกมอื่นๆ ที่เป็นแนว Farm อยู่เสมอ
“พื้นที่ไม่กี่แปลง แต่ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ได้หลายอย่าง สะสมไว้เพิ่ม Level” เป็นกติกาที่ฟังดูธรรมดาๆ แบบเกมทั่วไป แต่อิ่มชี้ว่าสเน่ห์ของ “เกมปลูกผัก” อยู่ที่การออกแบบ ซึ่งในสายตาของเธอแล้ว บรรดาวัว ม้า และไก่ในเกมนี้ล้วนแต่น่ารักกว่าตัวทั้งหลายในเกมอื่นๆ ที่เธอเคยเล่นมา และบรรดาของแต่งฟาร์มทั้งรั้ว ชิงช้า บ้าน ต่างก็ทำได้สวยงามน่าสะสมไว้ในฟาร์มเขียวขจีที่เข้ากับนิสัยรักต้นไม้ในชีวิตจริงของเธอด้วย
จากประสบการณ์ที่เคยเล่นมาหลายเกม อิ่มชี้ว่า Farmville ใช้เวลาผู้เล่นมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่เธอเล่นเมื่อกลางปีที่แล้ว อิ่มเล่าว่าต้องใช้เวลานานกว่าทุกวันนี้ในการจะเก็บผักชนิดหนึ่งๆ ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทางบริษัท Zynga ผู้ผลิตเกมที่ทำสำรวจวิจัยผู้บริโภคอยู่เสมอก็ปรับลดเวลาการปลูกผักให้สั้นลง ถูกใจผู้เล่นส่วนใหญ่มากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนกติกาให้ตรงความต้องการผู้ใช้นั้นเป็นสิ่งที่บริษัทเกมแทบทุกแห่งต้องทำอยู่เสมอ
80 – 20 คือสัดส่วนเวลาที่เธอใช้เวลาบนโลกออนไลน์ไปเล่นเกมมากกว่าใช้สื่อสารสนทนา และมากกว่าครึ่งของการเล่นเกมก็เป็นการ “เปิดทิ้งไว้” เพื่อความสะดวกและไม่ลืมที่จะเข้าไป “เก็บผัก” ทำ Level ให้สูงๆ ขึ้นไป ซึ่งหากเข้าไปเก็บไม่ทันผักก็จะเน่าเสียไปโดยสูญเปล่า
จุดนี้เองที่ใช้สร้างสัมพันธฺระหว่างผู้เล่นได้ เพราะแต่ละคนสามารถเข้าไปช่วย “เก็บผัก” ให้กัน และอีกพฤติกรรมที่ขาดไม่ได้คือ การ “ส่งของให้กัน” ไม่ว่าจะเป็นเป็ดไก่ รั้วฟาร์ม และของอลากหลายให้กัน แล้วหวังว่าเพื่อนจะส่งกลับมาให้บ้างเป็นการตอบแทน สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนสร้างสัมพันธ์กันต่อๆ ไป
บางเกมก็มีกิจกรรมสังคมแนวตรงกันข้าม เช่น “Bar’s Buddy” ที่หากเจ้าของฟาร์มไม่เข้าไปเล่นสม่ำเสมอก็อาจถูกเพื่อน “ขโมยผัก” ได้ แต่ถึงแม้จะเป็นการขโมย อิ่มก็เล่าว่าเป็นการขโมยแบบ “ขำๆ” เป็นหัวข้อแซวกันในหมู่เพื่อน และไม่ใช่เรื่องที่จะมาโกรธกันแต่อย่างใด
แม้ว่าการมีเพื่อนในเกมมากๆ จะเป็นผลดีต่อการเล่น แต่อิ่มก็เป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ที่จำกัดวงสังคมในเกมไว้แค่กับเพื่อนหรือคนรู้จักเท่านั้น นอกจากนี้ยังจำกัดการเล่นเกมไว้ว่าต้อง “ฟรี” คือจะไม่จ่ายเงินจริงซื้อ Item อย่างแน่นอน เพราะเธอรู้สึกว่าอย่างไรเกมก็ยังเป็น “ของเล่น” ที่ไม่จำเป็นจะต้องชนะประสบความสำเร็จถึงขนาดนั้น
จากที่อิ่มสังเกตเพื่อนๆ ออนไลน์ของเธอเอง พบว่าประมาณ 30% ของคนเล่นเกมบน Facebook จะเล่นอยู่เกมเดียวเป็นหลัก จนสามารถทำคะแนนและเลื่อนระดับไปอยู่หัวแถวได้ แต่ส่วนใหญ่อีก 70% มักจะลองเล่นหลายๆ เกม และกลุ่มนี้มักจะทำคะแนนได้เพียงและท้ายๆตาราง หรืออย่างดีก็กลางๆ เท่านั้น และกลุ่มหลังนี้มักจะเล่นเกมหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 เดือนก็เปลี่ยนไปลองเล่นเกมใหม่เรื่อยไป
ข้อมูลสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่อิ่มเปิดเผยให้ POSITIONING ฟัง ก็คือเธอเองและนักเล่นเกมชาวไทยบน Facebook จำนวนมากถึงราวครึ่งหนึ่ง ได้สมัครสมาชิก Facebook ไว้มากกว่า 1 ชื่อ เพื่อให้เล่นเกมได้ดีขึ้น เช่นถ้าเล่น Restaurant City ก็แลกของกับตัวเองได้ และถ้าเล่น Friend for Sale ก็ปั่นราคาได้ง่ายและรวดเร็ว
นั่นหมายถึงว่าตัวเลขคนไทยผู้ใช้ Facebook ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2 ล้านคน หากนับดีๆ อาจจะมีอยู่จริงๆ แค่ราวล้านกว่าคนเท่านั้นก็เป็นได้
นักเล่นเกม Facebook บางคนก็ลองเล่นเกมหลายแนว แต่สำหรับอิ่มแล้ว เธอเล่นแต่เกมแนว Farm ทั้ง Farmville, Happy Farm และ Bar’s Buddy ซึ่งแต่ละเกมก็มีจุดต่างที่ให้ความสนุกไม่เหมือนกันอยู่บ้างในหลายๆ จุด เช่นการขโมยผักใน Bar’s Buddy และการส่งดอกไม้สวยๆ หลายแบบให้กันใน Happy Farm ที่ล้วนตอบโจทย์ความรักต้นไม้และรักการแต่งสวนอย่างเธอได้ดี