Restaurant City นักเล่นหุ้นกับภัตตาคารแห่งความฝัน

“แรกๆ คุย 90 เล่นเกม 10 แต่เดี๋ยวนี้กลับกันเป็น เล่นเกม 90 คุย 10” เป็นคำบอกเล่าถึงชีวิตออนไลน์ที่เปลี่ยนไปของสรัญญา วรวงศ์สุ หรือ เอ๋ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสบริหารเงินและการลงทุนของไทยธนาคาร ปัจจุบันเธอเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เต็มตัว เธอเริ่มจากการใช้ Facebook เป็นเครื่องมือพูดคุยกับเพื่อน แล้วจึงเล่นเกมเพราะเพื่อนชวน จากนั้นเวลาบนโลกออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บน Facebook ก็ถูกยกให้ “Restaurant City” ถึง 90% ด้วยความประทับใจที่เกมเปิดโอกาสให้เลือกแต่งร้าน เลือกวัตถุดิบทำอาหารหลากหลาย และสะสมคะแนนเป็นเงินรายได้คล้ายการมีกิจการส่วนตัวซึ่งเป็นความฝันอย่างหนึ่ง

“ชอบเกมสวยๆ ดูน่ารัก ไม่ชอบเกมต่อสู้ ก็เลยชอบเกมบน Facebook และชอบเกม Wii ด้วย” เอ๋เล่าถึงลักษณะของเกมที่จะถูกใจเธอ ซึ่งก่อนจะมีเครื่อง Wii ของ Nintendo ออกมานั้น เธอไม่เคยสนใจเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย

แต่แม้จะไม่ชอบเกมต่อสู้ แต่เอ๋ก็ชอบให้เกมมีการแข่งขัน อย่างเช่นใน Restaurant City ที่แรงผลักดันสำคัญคืออยากเป็นที่หนึ่งในกลุ่มเพื่อนๆ อยากมี Level สูงๆ ซึ่งจะต้องมาจากการเตรียมวัตถุดิบไว้หลากหลาย มีอาหารหลายอย่าง แต่งร้านขยายร้านให้เข้าที่ตลอดเวลา หมั่นเข้ามาเปิดเกมดูแลร้าน และหมั่นไปเยี่ยมร้านของเพื่อนๆ ซึ่งทั้งหมดมีผลกับคะแนนในรูปของเงิน

“เริ่มเล่นกลางปี 2552 ช่วงที่ติดใหม่ๆ เหนื่อยมาก ต้องล็อกอินตลอด ต้องเปิดแช่ไว้นานๆ เพราะถ้าปิดเครื่องก็เหมือนปิดร้าน สู้คนอื่นเขาไม่ได้ เพื่อนๆ หลายคนเลิกเล่นไปก็เพราะอย่างนี้ แต่เดือนหลังๆ ทางเกมเขาปรับกติกาว่าไม่ต้องเปิดแช่ไว้นานเท่าก่อนแล้ว ทำให้เกมน่าเล่นขึ้นนะ” คำบอกเล่านี้สะท้อนว่าทางบริษัท Playfish เจ้าของเกมนั้นมีการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้และปรับปรุงเกมอยู่เสมอ

และนั่นหมายถึงว่า แม้การดึงผู้ใช้ให้เข้ามาบ่อยๆ และตรึงให้อยู่นานๆ จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของทุกเกมใน Facebook แต่ก็ควรจะอยู่ในระดับที่พอดีๆ มิฉะนั้นผู้เล่นส่วนใหญ่อาจเบื่อหน่าย และเหลือแต่ผู้เล่นที่มีเวลาว่างแบบสุดๆ เท่านั้นที่จะเล่นเกมได้ชนะคนอื่นๆ และการปรับกติกาครั้งนี้ทำให้เอ๋เองใช้เวลาบน Restaurant เหลือวันละราว 3 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้มากถึงวันละ 6 – 7 ชั่วโมง

“ขอ Add มาแลกของ” เป็นพฤติกรรมแปลกๆ บน Facebook ที่เอ๋เล่าว่ากำเนิดจาก Restaurant City เพราะกติกาเกมคือจะต้องแลกวัตถุดิบกับเพื่อนๆ ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะแต่ละคนมีของที่ต่างกันไป ทำให้มีพฤติกรรมนี้บน Facebook ขึ้นทั่วไป หมายถึงคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนแต่ไล่ขอ Add เป็นเพื่อนครั้งละมากๆ เพียงเพื่อแลก “ของในเกม” โดยไม่มีการพูดคุยสร้างมิตรภาพอะไรกันต่อแต่อย่างใด ซึ่งแม้เธอจะติดเล่นเกมเพียงใดแต่ก็จำกัดการ “แลกของ” ไว้เพียงแค่ในหมู่เพื่อน, เพื่อนของเพื่อน และคนรู้จักเท่านั้น ซึ่งเธอสังเกตว่านี่คือพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ทำกัน มีเพียงส่วนน้อยที่ไล่ Add คนแปลกหน้าจำนวนมากเพื่อเกมเท่านั้น

Restaurant City ไม่ใช่เกมเดียวที่เอ๋เล่น อีกเกมที่เธอชอบรองลงไปคือ Friend for Sale หรือ “ซื้อขายเพื่อน” ซึ่งให้ความรู้สึกของการเก็งกำไร การซื้อขายทำราคา คล้ายกับวงการหลักทรัพย์ที่เธอทำงานและลงทุนเองอยู่ และเกม Friend for Sale นี่เองที่เธอเคยเกือบจะตัดสินใจจ่ายเงินจริงออนไลน์ หวังไปเพิ่มวงเงินในเกมเพื่อซื้อเพื่อนบางคนที่ราคาสูงเกินยอดเงินเธอไปนิดเดียว แต่สุดท้ายก็หักห้ามใจไว้ทันและตั้งกฏกับตัวเองไว้ว่าจะไม่จ่ายเงินจริงให้เกมบน Facebook แน่นอน

หากว่า “Restaurant City” ตอบความฝันของความอยากเป็นเจ้าของกิจการ “Friend for Sale” ก็ตอบฝันของการเป็นนักเก็งกำไรเสี่ยงโชคที่สามารถทำเงิน (ในเกม) จากแสนเป็นร้อยล้านได้ในไม่กี่เดือน และทั้งหมดก็คือ “โลกเสมือน” ที่รวมเอาฝันของนักเล่นเกมธุรกิจเกมการเงินแห่งความฝันมารวมกัน