Pet Society…สุขเลือกได้

ฐิติกาญจน์ สวัสดิ์วราห์กุล หรือ “แนน” คลั่งไคล้ Pet Society วัดได้จากอัลบั้มรูปที่บันทึกฉากสวยๆ ใน “บ้าน” และการแต่งตัวของสัตว์เลี้ยงที่เปรียบเสมือน “ลูกรักออนไลน์” ของเธอนั้นมีมากถึง 255 รูป กินความยาวถึง 13 หน้าอัลบั้ม นอกจากนี้ยังสะสมระดับคะแนนจนสร้างห้องให้สัตว์เลี้ยงได้ถึง 7 ห้องซึ่งเธอชี้ว่าแทบจะมากที่สุดเท่าที่ทำได้หากไม่จ่ายเงินจริงๆ เพื่อซื้อ Item เพิ่ม

แนนเริ่มเล่น Facebook เมื่อกลางปี 2551 ใช้เป็นสื่อกลางคุยกับเพื่อนต่างชาติในขณะที่ Facebook ยังไม่แพร่หลายนักในไทย ผ่านไปถึงกลางปี 2552 เธอสังเกตว่าเริ่มมีเพื่อนคนไทยหลั่งไหลเข้ามามากมาย หลายคนก็เริ่มด้วยการเล่นเกมต่างๆ และชักชวนเธอให้เล่นด้วย เพราะ “เกม Facebook ต้องเล่นหลายๆ คน กับเพื่อนถึงจะสนุก” และเกมแรกก็คือ “Pet Society” ที่ให้เธอเริ่มจากเลือกหน้าตา การแต่งตัว และบ้านเล็กๆ ที่มีห้องเดียวโล่งๆ

“มันเป็นยิ่งกว่าเกมนะ รู้สึกผูกพัน เหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงจริงๆ เป็นความรับผิดชอบที่ต้องดูแล” ในสายตาของแนนแล้ว เกม Pet Society ออกแบบกติกาไว้อย่างแยบยล บังคับให้ผู้เล่นต้องเข้าไปอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงแทบทุกวันมิฉะนั้นจะมี “แมลงวันตอม” , ต้องแปรงขนและโยนลูกบอลให้เล่นอย่างน้อยวันเว้นวัน ให้ “ระดับความสุข” ไม่หมด และยังต้องให้อาหารเป็นประจำเพื่อรักษา “ระดับสุขภาพ” อีก และถึงแม้จะรู้ว่าเป็นเทคนิคของผู้ออกแบบเกม แต่เมื่อเข้าไปเล่นแทบทุกวัน แนนก็อดไม่ได้ที่จะผูกพันกับสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองตั้งชื่อว่า “Muzik”

ในมุมมองของแนน จุดสำคัญที่ทำให้ Pet Society ประสบความสำเร็จเป็นเกมยอดฮิต อยู่ที่ความสวยงามน่ารักในทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ถูกใจผู้หญิง โดยเปิดให้ผู้เล่นออกแบบได้ตั้งแต่ดวงตา ปาก ทรงผม ไปจนถึงทุกมุมทุกห้องในบ้าน

ข้อต่อไปคือกติกาที่บังคับให้ผู้เล่นต้องไปเยี่ยมบ้านเพื่อน ยิ่งหลายคนยิ่งถี่ก็ยิ่งได้คะแนนมาก ซึ่งการไปเยี่ยมแต่ละครั้งจะเป็นเหมือนการ “สะกิด” เรียกเพื่อนให้ต้องเข้ามาเล่นบ่อยๆ เพราะจะมีคำเตือน “Notification” ไปให้คนนั้นรู้ ช่วยกระตุ้นให้คนที่สมัครไว้แต่ไม่ได้เล่นถูกเตือนให้เข้าไปเล่นได้แทบทุกวัน เป็นการสร้าง “ความถี่” ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสื่อที่ดี

ในแต่ละครั้งของการ “เยี่ยมบ้าน” นั้น ก็จะมีกิจกรรม เช่น กอด เต้นรำ หรือวิ่งแข่งกัน และก็มักจบด้วยการถ่ายรูปในเกมขึ้นโชว์ใน Facebook ของทั้งสองฝ่าย โชว์ความสวยงามน่ารักดึงดูดคนอื่นๆ ที่ยังไม่เคยเล่น ให้เข้ามาในเกมได้เพิ่มอีกมากมาย ทำให้การเล่นแต่ละครั้งมักต้องใช้เวลานาน ในทางสื่อแล้วเป็นการสร้างความผูกพันหรือ “Engagement” ได้เป็นอย่างดี

“Pet Society ไม่ใช่เกมที่จะมาแข่งขันกัน เราแค่อยากลงรูปโชว์ แล้วภูมิใจว่าบ้านเราห้องเยอะกว่า แต่งสวยกว่าคนอื่น ลูกเรามีของแต่งตัวใหม่ๆ ให้คนอื่นอิจฉาอยากหามาบ้าง บางทีเราไปเห็นคนอื่นมีก็อยากมีบ้าง แต่ไม่มีการแข่งทำอันดับทำคะแนนกันเหมือนเกมอื่นๆ” แนนชี้จุดต่างของเกมในดวงใจที่เข้ากับนิสัยไม่ชอบการแข่งขันของเธอ

แม้จะเป็นเกม แต่แนนเล่าประสบการณ์ว่า Pet Society นั้นมีช่วงอายุคนเล่นที่หลากหลาย ดูได้จากเพื่อนๆ ในเกมของเธอนั้นที่อายุประมาณ 35 ปีก็มีหลายคน นอกจากนี้ยังมีเด็กๆ อายุ 7 ขวบที่เห็นผู้ใหญ่เล่นก็อยากเล่นดูบ้าง ตัวอย่างหลานของแนนที่นั่งเล่นภายใต้การแนะนำของเธอเอง

“เด็กเล็กๆ เห็น Pet Society ก็จะอยากเล่น เคยเจอหลายคนที่มาเล่น Pet Society อย่างเดียว ใช้ล็อกอินของพ่อแม่บ้าง บางคนพ่อแม่ก็สมัครให้เข้ามาเล่นเกมอย่างเดียว เวลาเล่นก็มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่นั่งใกล้ๆ คอยสอน” แนนเล่าถึงนักเล่น Pet Society ตัวน้อยๆ หลายคนที่เธอเคยพบ

แต่ที่เธอได้พบเจอส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนวัยทำงาน เวลาวันละ 2 – 3 ชั่วโมงที่แนนให้กับ Pet Society นั้นเธอย้ำว่า เป็นการเล่นที่บ้านทั้งหมด และเธอชี้ว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องใช้หากเล่นเกมอื่นๆ บน Facebook เช่น Restaurant City ที่ต้องการเวลามากกว่า 3 – 4 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันจึงจะเล่นได้ดี ซึ่งแนนสรุปว่าคงต้องกระเทือนถึงเวลาทำงานแน่นอน

ในบรรดาเกมบน Facebook ทั้งหลายนั้น ฐิติกาญจน์ หรือ แนน สรุปว่า Pet Society บ่งบอกตัวตนของผู้เล่นได้มากที่สุดเหนือเกมอื่นๆ เช่นดูจากสัตว์เลี้ยง จะทายได้ถูกต้องเลยว่าเจ้าของเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง บางทีก็ทายได้ว่าสนใจเรื่องอะไร เช่น Pet ของผู้หญิงมักจะมีขนตายาวงอน แต่งตัวสีหวานๆ อยู่ในห้องที่เฟอร์นิเจอร์เยอะๆ สวยๆ ส่วน Pet ของผู้ชายนั้นก็มักจะใส่สูท หรือมีหมวกคาวบอย อยู่ในห้องสีขรึมๆ ขาวดำ หรือแต่งเป็นสวนป่าไปเลยก็มี นอกจากนี้เธอยังมีเพื่อนที่เรียนด้านภาพยนตร์ ที่แต่งห้อง Pet ด้วยกล้องถ่ายหนัง และผ้าม่านแบบโรงหนัง นั่นหมายถึงการสะท้อนตัวตนลงไปใน Pet Society นั้นมีแทบทุกด้านไม่ว่าจะ เพศ อาชีพ และความสนใจ