นักเล่นเกม Facebook ส่วนใหญ่จะชอบเล่นเกมอยู่ไม่กี่เกม บางคนก็เลือกเล่นแต่เกมในแนวเดียวกันเช่นเกมปลูกผัก แต่ ปาริชาติ นัคเรศ หรือ “ป้อม” เป็นไม่กี่คนที่ลองเล่นมาแล้วทุกเกมที่ดังๆ อยู่ในท้องตลาด ทั้งๆ ที่ก่อนจะเล่นเกมบน Facebook ป้อมไม่เคยสนใจเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก่อน การมาติดเกมบน Facebook นั้นก็เริ่มจากเพื่อนชวนเข้ามาเล่น เมื่อเล่นแล้วเหตุผลหลักที่ติดเกมก็คือ “ต้องเล่นทุกวัน เดี๋ยวไม่ทันเพื่อน”
ด้วยความที่เคยผ่านงาน Digital Media Planner ในเอเยนซี่ออนไลน์มาก่อน ทำให้ป้อมเริ่มเล่น Facebook มาตั้งแต่ต้นปี 2551 ตั้งแต่ Facebook ยังไม่แพร่หลายในไทย และแม้จากนั้นเธอจะเปลี่ยนสายงานมาเป็น Assistant Marketing Manager ในบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ Itch แต่ก็ยังไม่ห่างหายกับชีวิตบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะเกมต่างๆ บน Facebook
“ถ้าเล่นเกมอะไรอย่างนึงแล้ว ก็จะไม่ไปเล่นตัวที่คล้ายกันอีก” ป้อมบอกเล่าพฤติกรรมของตัวเอง นั่นหมายถึงว่าสำหรับเกมปลูกผักแล้ว เมื่อเธอเลือกเล่น Bar’s Buddy ก็จะไม่ไปเล่น Farmville และไม่ไปเล่น Happy Farm เพราะเหตุผลที่ชอบลองเล่นหลายๆ แนวเกมโดยมีเวลาจำกัด
“เวลาที่เกมไหนดังก็จะดังอยู่ 3 – 4 เดือน แล้วจากนั้นคนก็จะน้อยลงเพราะคนส่วนใหญ่จะเริ่มเบื่อ พอคนเล่นน้อยก็เริ่มไม่ค่อยสนุกแล้ว” ป้อมเล่นถึงเทรนด์การเล่นเกม Facebook ของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเธอก็เป็นหนึ่งในนั้น แตกต่างกันเพียงแค่ว่าเธอลองเล่นทีละหลายๆ เกมมากกว่าคนทั่วไป
แม้จะเปลี่ยนเกมไปเรื่อย แต่มีอยู่เกมหนึ่งที่ป้อมชอบเล่นเรื่อยมาไม่ว่าจะเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ก็คือเกมฝึกสมองที่ชื่อว่า “Who has the Biggest Brain?” ด้วยเหตุผลที่ว่า “มันท้าทายดี ชอบเล่นอะไรที่เนิร์ด ๆ เกมอื่นๆ มันไม่ท้าทายเท่าเกมนี้” และเกมนี้สามารถเล่นสนุกได้ในเวลาสั้นๆ ครั้งละไม่นาน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปเล่นแทบทุกวัน ครั้งละนานๆ แบบเกมอื่น
เกม “Biggest Brain” นี้จะมีโจทย์วัดเชาว์ปัญญาให้ทำหลายๆ ข้อ แต่ละข้อมีเวลาสั้นๆ ให้ตอบถูกมากข้อที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เช่น ชั่งน้ำหนักวัตถุว่าข้างไหนมากกว่า, บวกเลขในรูปแบบแปลกๆ , นับกล่องที่ถูกวางทับซ้อนกันมากๆ , ต่อรูปที่ขาดหายไป ฯลฯ แล้วผลคะแนนครั้งที่ดีที่สุดจะถูกบันทึกไว้เทียบกับเพื่อนๆ ไม่ใช่เกมที่ต้องเสียเวลานานๆ ทุกวัน
ป้อมจึงยังเล่น “Biggest Brain” อยู่ตั้งแต่แรกๆ จนถึงทุกวันนี้ เพราะเกมอื่นๆ ที่เธอห่างหายไปนานนั้น หากจะกลับไปเล่นใหม่ ก็จะ “ไม่ทันเพื่อน” และมีผลคะแนนรั้งท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรักการแข่งขันอย่างเธอไม่ต้องการ
เสน่ห์ของเกม “Biggest Brain” ที่เหนือกว่าเกมทดสอบเชาว์ทั่วไปในสายตาป้อม ก็คือกราฟิกที่น่ารัก และการแบ่งระดับคะแนนที่ดูน่ารักปนตลก เช่นเมื่อเริ่มเล่นใหม่ๆ จะยังเป็นจุลินทรีย์ จากนั้นค่อยพัฒนาไปเป็นลิงชิมแปนซี เป็นมนุษย์ และขั้นสุดยอดคือเป็นไอน์สไตน์ฉบับการ์ตูนน่ารักๆ
แม้จะไม่ต้องเข้าบ่อยเท่าเกมอื่น แต่เนื่องจากคำถามนั้นเป็นชุดเดิมๆ หากเล่นบ่อยๆ ก็จะจำคำตอบที่ถูกที่ผิดได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยให้คะแนนดีขึ้นในที่สุด นับเป็นการท้าทายความจำไปด้วยในตัว ซึ่งแม้จะฟังดูจริงจัง แต่ป้อมย้ำว่า Biggest Brain เป็นเกมสนุกที่เธอใช้คลายเครียดจากการทำงานได้เสมอ และเล่นมานานกว่าเกมอื่นๆ บน Facebook ทั้งหมด
ป้อมได้เพื่อนใหม่ๆ จากเกมบน Facebook มาถึง 5 คน ซึ่งแม้ทั้งหมดจะเป็น “เพื่อนของเพื่อน” แต่ก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้มีบางคนที่เธอไปพบในงานแต่งงานเพื่อน และหัวข้อสนทนาแรกที่คุยกันก็คือเรื่องเกม เพราะต่างก็เคยพบกันในเกมมาก่อนแล้ว
ส่วนใหญ่แล้วป้อมจะเล่นเกม Facebook ในวันธรรมดา จันทร์ถึงศุกร์ ด้วยเหตุผลว่ามีเพื่อนๆ อยู่กันมาก ต่างจากเสาร์อาทิตย์ที่มักจะเงียบเหงาแทบทุกเกม
เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งๆ ป้อมใช้เวลากับเกมบน Facebook ถึงราว 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามากกว่าเวลาเฉลี่ยของคนทั่วไป โดยเธอจะเปิดเล่นที่ทำงาน 50% และที่บ้าน 50% และเป็นปกติไปแล้วที่จะเข้านอนตี 2 แล้วตื่น 8 โมงเช้าเพื่อมาเล่นเกม เช่นเก็บผักก่อนออกไปทำงาน ซึ่งเธอเล่าถึงเพื่อนบางคนว่าเข้านอน 4 ทุ่มแล้วตื่นตี 2 มาเก็บผักแล้วนอนต่อก็มี
จากประสบการณ์ที่เล่นสารพัดแนวเกมบน Facebook มานาน ป้อมสรุปจากมุมมองของเธอว่า เกมบน Facebook จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีปัจจัยสำคัญๆ 3 อย่าง คือ “มีคนเล่นเยอะ กราฟิกน่ารัก และที่สำคัญต้องท้าทาย”