ปั้นเกม…ให้เป็นเงิน

ด้วยความแรงของกระแสเกมบน Facebook ดึงดูดทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และพัฒนาเกมให้ขยับตัวมาสู่สนามใหม่แห่งนี้ โดยที่มีสองบริษัทอย่าง Zynga แห่งสหรัฐอเมริกา และ Playfish แห่งอังกฤษ ที่สร้างรายได้เป็นหลักร้อยล้านเหรียญฯทั้งที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียงสองปีเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทุกรายมีความฝันที่จะดึงดูดคนให้เจ้ามาเล่นได้มหาศาลอย่างรวดเร็วและสร้างรายได้จากนักเล่นระดับแฟนพันธุ์แท้ให้ยอมจ่ายเงินจริงๆ ซื้อ Item และอาจใช้ฐานผู้เล่นมหาศาลนี้ก้าวไปสู่ความเป็น “สื่อใหม่” ที่พร้อมทำรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาต่อไป

แม้ในไทยจะมีผู้เล่นเกมบน Facebook ราว 4 – 5 แสนคนไปแล้วจากการประมาณการของเอไอเอส แต่ยังมีเพียงเกมเดียวที่มีลักษณะเป็นเกมบน Facebook อย่างเต็มรูปแบบ คือ “Planet that have many creatures.” หรือชื่อสั้นๆ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “Planet” ซึ่งเป็นผลงานของบริษัท Level Up ที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปี โดยบัณฑิตจบใหม่ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากรั้วเกษตรฯ 4 คน คือ ชววัฒน์ ชาญศิริเจริญกุล, ไพบูลย์ พนัสบดี, อัคร์วัฒน์ ตรีอนุสรณ์ และ ณัฐดนัย ทิพพานนทกูล

ก่อนที่ทั้งสี่หนุ่มจะหุ้นกันเปิดบริษัทแบบทุกวันนี้ ก็ต่างเคยร่วมกันสร้างเกมบนเว็บตั้งแต่เรียนชั้นปี 2 ในชื่อเกม “VR2 Online” ซึ่งเป็นเกมเลี้ยงสัตว์ประหลาดเอเลี่ยนหลากหลายสายพันธุ์ แล้วเลือกตัวเก่งๆ ไป “ตี” กับเอเลี่ยนของเพื่อนๆ ให้ชนะเพื่อเก็บเงินรางวัลในเกมมาสะสมแลกซื้ออาวุธและของใหม่ๆ ในเกม ซึ่งหากใครต้องการจะเล่นให้สนุกและได้เปรียบขึ้นก็ต้องจ่ายเงินจริงซื้อ Item เกิดเป็นรายได้เข้าสู่ทีม 4 นักศึกษาหนุ่มให้รู้รสชาติของการเป็น “เถ้าแก่เกมออนไลน์” ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษากันอยู่

สี่หนุ่มเผยกับ POSITIONING ว่า ความรู้ที่ได้จากการทำ Web-base game สมัยเรียนนี้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นแรกของธุรกิจทุกวันนี้ เพราะเป็นช่วงที่สอนให้รู้จักพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ว่าจะทำอย่างไรให้มีผู้เล่นจำนวนมากๆ ทำอย่างไรให้มีความต้องการซื้อ Item

ส่วนจิ๊กซอว์ชิ้นที่สอง ก็คือ ความคลั่งไคล้ในการเล่น Facebook ของทั้งสี่หนุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว ทุกคนชอบเล่นเกมดังๆ ระดับโลกบนนั้นอย่าง Farmville, Restaurant City และอีกมากมาย ทำให้มองเห็นช่องทางที่จะขยายนำเอาเกม VR2 เดิมขึ้นมาอยู่บน Facebook บ้าง แต่ทีมงานก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบที่เรียกว่า “Facebook API” อยู่พักใหญ่

และเมื่อบริษัท Level Up ได้ผสานความรู้ 3 อย่างคือ Web-base game, Programming และ Social Network เข้าด้วยกัน เกมไทยเกมแรกบน Facebook ก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ในชื่อที่รู้จักกันว่า “Planet” และความเปลี่ยนแปลงก็เห็นได้ชัดตั้งแต่จุดเริ่มต้น

“สมัยที่เกมเราไม่ได้อยู่บน Social Network อยู่แค่บนเว็บของตัวเอง ต้องใช้เวลาตั้ง 2 ปีถึงจะมีสมาชิก 9 หมื่นคน แต่พอย้ายขึ้นมาบน Facebook แค่เดือนแรกก็มีสมาชิกเกินแสนแล้ว” อัคร์วัฒน์เผยตัวเลขสะท้อนความแรงของการบอกต่อเชิง Viral Marketing ของสื่อ Facebook ที่เหนือกว่าเว็บไซต์แบบเดิมๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น อย่างที่อัครวัฒน์ยกตัวอย่างว่า “บน Facebook แค่เล่นเสร็จไม่ต้องบอกต่อ มันก็ขึ้นโชว์บน Wall ให้เองแล้ว เพื่อนๆ หลายร้อยคนเห็นทันที”

ทุกวันนี้ “Planet” มีฐานสมาชิก 1.75 แสนคน แต่ละเดือนมีผู้เล่นพันธุ์แท้ที่เข้ามาเล่นสม่ำเสมอราว 8 หมื่นคน โดยมีผู้เล่นหน้าเดิมๆ ราว 65% และมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาราว 35%

แต่ถึง Facebook จะเป็นฐานที่ดีสำหรับเกมออนไลน์อย่างไร ทางทีมงาน Level Up ก็ยังต้องเสริมด้วยการซื้อพื้นที่โฆษณาออนไลน์ทางด้านขวาของหน้า Facebook ที่เรียกว่า “Facebook Ad.” ซึ่งทางทีมจัดงบไว้ราวเดือนละ 1 หมื่นบาท โดยช่วงแรกๆ เมื่อปลายปีที่แล้วมุ่งโฆษณาสู่ผู้เล่นในไทยและเอเชีย แต่มาปีนี้หันไปเลือกโฆษณาสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เป็นชาวอเมริกัน ซึ่งแม้ราคาต่อคลิก (Cost per click) จะแพงกว่า 2 – 3 เท่า และได้จำนวนลูกค้าใหม่น้อยกว่า แต่ทางทีมก็มองว่าคุ้มค่า

“คนอเมริกันคุ้นเคยกับการจ่ายเงินออนไลน์บ่อยๆ จ่ายทีละก้อนเล็กๆ ดูได้จากแอพสโตร์ของแอปเปิลที่บูมมาก คนเล่นเกมสบน Facebook ที่นั่นก็ซื้อ Item กันมากกว่าคนไทยเยอะ”

วิสัยทัศน์ “Go inter” นี้เป็นสิ่งที่ทีมงานวางไว้ตั้งแต่แรก โดยใช้เมนูคำสั่งและภาษาในเกมเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งทุกคนยอมรับว่ามีเขียนผิดหลักภาษาอังกฤษอยู่หลายจุด เพราะแต่ละคนเป็นโปรแกรมเมอร์และมือกราฟิกที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ แต่ยังโชคดีที่ “ฝรั่งหลายคนที่เล่นเกมของเรา พอเขาเจออะไรผิดๆ ก็จะเมลมาบอก เขียนที่ถูกต้องมาให้เราเลย”

ทีมงาน Level Up ช่วยกันเล่าต่อไปถึง “ความเร็ว” ของธุรกิจนี้ว่า “ลูกค้าฟีดแบ็กเร็วมากๆ ถ้ามีอะไรผิดพลาด ระบบติดขัด จะมีคอมเมนต์เข้ามาทันที ทั้งทาง Fan Page ของเราใน Facebook, ทางอีเมล และเราต้องรีบตอบ” และด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงต้องตรวจสอบเสียงจากเหล่านักเล่นเกมอย่างใกล้ชิดทุกวันเป็นงานสำคัญอันดับแรกๆ

นอกจากรายได้จากการขาย Item และสิทธิพิเศษให้กับผู้เล่นแล้ว บางเกมก็หารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา แต่ว่าทางทีมงาน Level Up ยังไม่มีแผนจะทำบ้าง เพราะต่างคนในฐานะนักเล่นเกมยังรู้สึกว่าโฆษณาเป็นสิ่งรบกวนการเล่นเกม และหากมองอีกด้านถ้าตัวโฆษณาน่าสนใจจริงๆ ก็อาจหลายเป็นสิ่งที่ดึงคนเล่นออกไปจากเกมได้ ฉะนั้นในสายตาของบริษัท Level Up แล้ว โฆษณาในเกมยังไม่ใช่แหล่งรายได้ที่น่าสนใจนักเพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเกมได้

ส่วนสนามใหม่อย่างสมาร์ทโฟนนั้นแม้จะมาแรง แต่ด้วยข้อจำกัดที่แทบทุกรุ่นยังไม่สามารถเปิด Flash ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเกมได้ ฉะนั้นโทรศัพท์มือถือจึงยังเป็นเสมือนแดนสนธยาสำหรับธุรกิจเกมบน Facebook อยู่ตลอดมา ยกเว้นก็เพียงแต่โทรศัพท์มือถือระบบใหม่ “Maemo” ใน Nokia N900 ที่รองรับแฟลชและจะใช้จุดนี้เป็นจุดขายสำคัญในตลาดไทย

“เรามี Barrier 2 ชั้น” ชววัฒน์แจกแจงว่าใครที่จะพัฒนาเกมบน Facebook ได้นั้น แค่ความรู้ทางการเขียนโปรแกรมยังไม่พอ ยังต้องมีทั้งความรู้และประสบการณ์ทางเกมออนไลน์และความรู้เรื่องระบบเบื้องหลังของ Facebook เช่นในการสร้าง App ด้วย

นั่นหมายถึงบริษัทเกมที่ไม่เข้าใจ Facebook ก็ยากจะทำ และบริษัทที่สร้าง App ได้ก็ใช่ว่าจะทำเกมบน Facebook ได้ แต่ทางทีมงานก็ยอมรับว่ากระแสเกม Facebook ที่มาแรงสุดๆ ก็ดึงดูดให้หลายบริษัทในหลายวงการเข้ามาบ้าง แต่บริษัท Level Up ก็เตรียมความพร้อมโดยการหาพันธมิตรเพิ่มเติม เช่นบริษัท ini3 ที่บุกเบิกเกม Pangya ที่จะมาทำการตลาดให้เกม Planet นับจากนี้ไป

เตรียมอาวุธก่อนสร้างเกมบน Facebook

จากการบรรยายของ ปรเมศร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ Kapook.com และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ การจะสร้างเกมบน Facebook ขึ้นมาสักเกมหนึ่งนั้น ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

– ความรู้พื้นฐานเกี่ยวการสร้างหน้าเว็บ
– ภาษา PHP หรือภาษา Web Programming อื่นๆ ที่เหมาะกับระบบ Web Server ที่ใช้อยู่
– ระบบฐานข้อมูลเบื้องหลังเว็บ เช่น MySQL
– ระบบปฏิบัติการเบื้องหลังระบบ Web Server เช่น Unix
– Facebook API ซึ่งเป็นเสมือนประตูที่จะทำให้โปรแกรมเมอร์เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของ Facebook เช่นรายชื่อเพื่อน รูป ประวัติต่างๆ

ส่วนองค์ประกอบของ Application ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือ ควิซ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ เช่น
1. Application Directory จะต้องเตรียมไอคอนและคำแนะนำตัวเกมอย่างสั้นๆ ไว้ไปแสดงในจุดนี้
2. Application Profile จะต้องมีคำอธิบายที่ละเอียด รวมถึงลิงค์กลับมายังเว็บของเจ้าของเกม
3. Canvas Page หน้าตาของตัวเกมที่จะปรากฏบนหน้าเว็บเพจของ Facebook
6. News Feed ข้อความและรูปประกอบที่จะอธิบายผลการเล่นเกมของผู้เล่นคนหนึ่งๆ สำคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือเชิญชวนแบบ Viral ให้คนอื่นๆ ที่ไม่เคยเล่น
7. Alerts ข้อความเชิญสั้นๆ ชวนที่จะไปโผล่เมื่อผู้เล่นให้ของในเกมแก่กัน
8. Requests ข้อความเชิญสั้นๆ ชวนที่จะไปโผล่เมื่อผู้เล่นชวนคนอื่นมาเล่นเกม
9. User Dashboard ส่วนแสดงข้อมูลส่วนตัวของผู้เล่นคนหนึ่งๆ
10. Interacting with Users องค์ประกอบต่างๆ ในเกมที่จะ Interact กับผู้เล่น

“Maemo” ยกแปลงผักมาไว้บนมือถือ

“ทำไมปลูกผักบนมือถือไม่ได้ ?” เป็นคำถามยอดฮิตที่คาใจนักเล่นเกม Facebook ชาวไทยและทั่วโลกมานาน ด้วยข้อจำกัดที่มือถือแทบทุกรุ่นขณะนี้ไม่สามารถเปิด Flash ได้ แต่ล่าสุด Nokia เปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ “Maemo” ระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จึงสามารถเปิดแฟลชเล่นเกมบน Facebook ได้ทุกรูปแบบ และ AIS ซึ่งจะเป็นผู้จัดจำหน่าย N900 ก็เลือกจุดแข็งข้อนี้มาชูว่าเป็นเครื่องแรกในไทยที่ “ปลูกผัก” เล่นเกมบน Facebook ได้

“การรองรับ Flash ไม่ใช่จุดขายอันดับแรกของ Nokia N900 ถ้าจะนับจริงๆ ก็เป็นแค่อันดับ 3 – 4 รองจากเรื่องสมรรถนะหรือเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนตัวอื่นๆ ทุกข้อแล้ว จุดนี้เป็นจุดต่างที่เข้าใจง่ายที่สุด” ปรัธนา ลีลพนัง ผู้อำนวยการสำนักบริการเสริมของ AIS ชี้น้ำหนักของเกม Facebook ว่าสำคัญไม่น้อยต่อกลุ่มเป้าหมายของสมาร์ทโฟน

ปรัธนาชี้ว่ากลุ่มคนเล่นเกม Facebook นั้นส่วนใหญ่เป็น First Jobber อายุราว 22 ขึ้นไปถึง 35 ซึ่งถือว่าตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของสมาร์ทโฟนพอดี ฉะนั้นจุดนี้จะถูกใช้การแคมเปญของ N900 ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน