เป็นความตั้งใจของป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม กรรมการผู้จัดการ “เกเร” หนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบธุรกิจโชว์บิซของแกรมมี่ ที่ตั้งใจให้ Big Mountain Concert ออกมาแปลก ใหม่ ไม่เหมือนใคร
และที่สำคัญ มันต้องใหญ่มาก ให้สมกับ Music Festival ครั้งแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
Big Mountain ไม่ใช่คอนเสิร์ตกลางแจ้งท่ามกลางฤดูหนาวอย่างที่หลายคนเคยมีประสบการณ์ร่วมมาก่อน ที่เริ่มสตาร์ทตอนเย็น และจบอีกทีในเกือบรุ่งเช้าของวันถัดไป โดยมีเพียงเวทีคอนเสิร์ตเดียวคอยขับกล่อมผู้ชม
แต่ตลอด 48 ชั่วโมงของการจัดงาน บนพื้นที่กว่า 1 ตารางกิโลเมตรของโบนันซ่า เขาใหญ่ ได้ถูกจัดแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ มากมาย ตามสไตล์แนวเพลง ซึ่งผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าอยากร่วมสนุกับดนตรีแนวไหน และศิลปินคนใด หากไม่ชอบใจก็สามารถเดินไปยังกิจกรรมส่วนอื่นๆ ได้
หากจินตนาการภาพของงานครั้งนี้ไม่ออก ลองนึกถึงเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง กลาสตันเบอรี่ (Glastonbury Festival) ที่จัดมาแล้ว 40 ปี โดยมีผู้คนนับแสนเข้าร่วมงานตลอด 5 วัน
และนี่ถือเป็นสุดหลักไมล์ที่ Big Mountain ต้องการไปให้ถึง
แม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กับการจัดงานมหกรรมดนตรีในสเกลใหญ่ที่ต้องลงทุนสูงกว่า 50 ล้านบาท แต่นโยบายจากทางอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่บอกผ่านมาทางป่าเต็ด ยุทธนา กลับให้ความสำคัญกับมหกรรมดนตรีนี้อย่างมาก
โดยต้องการปักหมุดให้ Big Mountain Music Festival ให้อยู่บน Year Plan ของคอดนตรีทั่วโลก ด้วยการขอเทียบชั้น Glastonbury เป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีระดับโลก
“เป้าหมายระยะสั้นของเรา คือ การเป็น Music festival ที่ดีที่สุดในเมืองไทย โดยเริ่มต้นสร้างความแตกต่างกับ Music Festival อื่นๆ ที่เคยจัดมา เราต้องทำโปรดักชั่นออกมาให้มหัศจรรย์ ให้ผู้ชมไร้ข้อกังขาว่า Big Mountain แตกต่างจากคอนเสิร์ตอื่นอย่างไร”
“ส่วนเป้าหมายไกลๆ เลย เราอยากให้มันอยู่บนแผนที่โลก ผู้คนน่าจะพูดถึงงานของเราว่าเราเป็น Music festival ที่ใหญ่ในภูมิภาคนิ้ นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยนอกจากจะมาเพื่อฟูลมูน ปาร์ตี้ หรือมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะมาที่นี่ด้วย ซึ่งผมเองก็ไม่รีบ กว่าจะถึงวันนั้นอาจต้องใช้เวลามากถึง 10 ปีก็ได้”
บางคนอาจมองว่า การปั้น Big Mountain ให้เป็น Music Festival ระดับโลกอาจดูเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ และไกลเกินฝัน เพราะตอนนี้ก็มีเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นมากมายทั่วโลกในแต่ละเดือน ยิ่งในภูมิภาคเอเชียด้วยแล้ว มี Fuji Rock และ Summer Sonic ในโตเกียว ที่เป็นเทศกาลดนตรีสำคัญอยู่
แต่ป๋าเต็ดกลับคิดไปในทางตรงกันข้าม โดยระบุว่าเมืองไทยมีข้อได้เปรียบกว่าที่อื่น เพราะเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ใครก็อยากมาเยือน
เพียงแต่ขาดเทศกาลดนตรีที่มีคอนเซ็ปต์ และแบรนด์ที่ชัดเจนพอจะดึงดูดชาวต่างชาติให้มาได้เท่านั้น
“ทุกวันนี้ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทยเยอะมาก เราต้องใช้ข้อได้เปรียบนี้มาบวกกับการรู้จักพฤติกรรมของ Music Lover ทั้งหลาย ค่อยๆ ดึงศิลปินต่างชาติเข้ามา ผนวกกับคอนเสิร์ตของศิลปินไทยที่เป็นที่สนใจ โดยตั้งใจจะเจาะตลาดญี่ปุ่นก่อนเป็นลำดับแรก”
แม้ในวันนี้ โบนันซ่า จะคือคำตอบในเรื่องสถานที่สำหรับ Big Mountain เพราะสะดวกในเรื่องของการเดินทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก ขนาดของพื้นที่ที่สามารถรับจำนวนคนได้สูงสุดถึง 30,000 คน อากาศที่สบาย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบ โดยเฉพาะในเรื่องของห้องน้ำ ที่เป็นปัญหาของหลายงานใหญ่
แต่ในอนาคตป๋าเต็ดไม่ได้ผูกงานนี้ไว้กับโบนันซ่า หากงานมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าพื้นที่ของโบนันซ่าจะรองรับจำนวนคนได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมองหาสถานที่แห่งใหม่
เพื่อเติมเต็มความฝันในการปั้น Music Festival ระดับโลกของทั้งตัวเขาเอง และอากู๋ ไพบูลย์ ให้สำเร็จ แม้อาจต้องใช้เวลา และเงินทุนมากขนาดไหนก็ตาม
ปั่นรายได้ผ่านโชว์บิซ
ขณะที่การดาวน์โหลดเพลงอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมดนตรีในปัจจุบันเสียหายอย่างมาก และไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น
แม้ว่าภาคเอกชนจะเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยยื่นมือเข้ามาจัดการในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มากแค่ไหน แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันที่แสนสะดวกสบาย กลับดึงให้ผู้บริโภคเลือกที่จะดาวน์โหลดอย่างผิดกฎหมายมากกว่า
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หนึ่งในค่ายเพลงอันดับต้นๆ ของไทยเองก็ตระหนักถึงสถานการณ์อันน่ากังวลนี้ ที่ผ่านมาทางอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จึงหันทิศทางธุรกิจมายังโชว์บิซมากขึ้น โดยมีฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ลูกชายมาช่วยดูแลโดยเป็นผู้จัดการ โครงการ แมชรูม ซึ่งเป็นธุรกิจโชว์บิซแนวใหม่ หรือ Tailored-Made Showbiz สำหรับกลุ่มที่ชื่นชอบแนวเพลงอิเลคโทรนิค เพื่อขยายฐานผู้ฟังเพลงกลุ่มใหม่ๆ ของจีเอ็มเอ็ม
ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านวิทยุอย่างเอไทม์ ก็ประกาศรุกธุรกิจโชว์บิซอย่างเต็มตัวในปีนี้ โดยเปิดตัว 10 คอนเสิร์ตตลอดปี 2010
นอกจากนี้ยังตั้งหน่วยงาน เกเร ขึ้นมาเสริม โดยดึงป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เจ้าพ่อเด็กแนว ที่เคยประสบความสำเร็จกับการจัดงาน Fat Festival มาดู โดยโปรเจกต์เริ่มแรก คือ Big Mountain เทศกาลดนตรีสเกลใหญ่ ที่ตั้งใจปั้นให้เป็นงานใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย
ทั้งหมด ไพบูลย์คาดหวังว่า โชว์บิซจะเข้ามาเป็น “จิ๊กซอว์” ใหม่ที่ช่วยทดแทนรายได้ที่หดหายลงจากยอดขายเพลงได้ แม้ว่าแนวโน้มการซื้อขายเพลงผ่านช่องทางดิจิตอลจะกระเตื้องขึ้นอย่างมากก็ตาม
เกเร
เกเร เป็นหน่วยงานโชว์บิซที่ตั้งขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว เพื่อจัดทำอีเวนต์ที่สื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และ First Jobber เป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสนุกสนานกับเพื่อนฝูงค่อนข้งมาก
Big Mountain Music Festival
งบลงทุน 50 ล้านบาท
จำนวนผู้ชม 20,000 คน
ค่าบัตรเข้าชม 1,400 บาท
คอนเซ็ปต์ งานเฟสติวัลแบบแคมปิ้งที่จัดกัน 2 วัน 2 คืน
Presenting Sponsor โนเกีย
รายได้ของงาน Big Mountain
สปอนเซอร์ทั่วไป 15 ล้านบาท
Presenting Sponsor (Nokia) 10 ล้านบาท
บัตรคอนเสิร์ต 25 ล้านบาท
คอนเสิร์ตในเขาใหญ่
คอนเสิร์ต จำนวนผู้ชม
Honda Winter Fest 20,000
Dee Boyd Pop Fest 19,000
Big Mountain 20,000