นับจากเริ่มต้นออนแอร์วันที่ 25 เม.ย. 2557 ของทีวีดิจิทัล 24 ช่อง กับเม็ดเงินประมูล 50,862 ล้านบาท ถือครองใบอนุญาต 15 ปี จบในวันที่ 24 เม.ย. 2572 ผ่านปีแรกลาจอ 2 ช่อง (ไทยทีวีและโลก้า) จากนั้นอีก 5 ปีต่อมา “7 ช่อง” ขอปิดฉากธุรกิจนี้ ช่องที่เหลือส่วนใหญ่ยังบาดเจ็บ กับตัวเลขขาดทุนสะสมนับ “หมื่นล้านบาท”
อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่เริ่มต้นในปี 2557 กับความหวังของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามากอบโกยเม็ดเงินโฆษณาทีวีปีละ 60,000 – 70,000 ล้านบาท โดยยึดโมเดลช่องที่ประสบความสำเร็จยุคแอนะล็อก “ช่อง 3 และ ช่อง 7” ที่ทำกำไรระดับ 5,000 ล้านบาทต่อปี เป็นเป้าหมาย
แต่สถานการณ์จริงไม่เป็นเช่นนั้น นับตั้งแต่ปีแรกของการออกอากาศ ด้วยจำนวนช่องธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว ผู้ชมกระจายตัวในทีวีดิจิทัลช่องใหม่ รวมทั้งสื่อออนไลน์ โซเชียล มีเดีย เข้ามาแย่งเวลาผู้ชม จากประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ทำให้ “เรตติ้ง” ทีวีลดลงต่อเนื่อง
แม้กระทั่งช่องผู้นำยุคฟรีทีวีเดิม อย่าง ช่อง 3 และช่อง 7 เม็ดเงินโฆษณาก็ลดลงเช่นกัน ขณะที่การลงทุนทีวีดิจิทัล แต่ละช่องอยู่ที่หลักร้อยถึงพันล้านบาทต่อปี สิ่งที่ตามมาคือ ภาวะ “ขาดทุน” อย่างหนักของทีวีดิจิทัล “ส่วนใหญ่” ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
เปิดรายได้ทีวีดิจิทัลปี 2561 มีช่องโชว์กำไร
สำหรับผลประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” 22 ช่อง ล่าสุดที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2561 “ส่วนใหญ่” ยังขาดทุน แต่ก็มีช่องทำ “กำไร” เช่นกัน
ช่อง 7 HD เป็นช่องผู้นำเรตติ้งตั้งแต่ยุคแอนะล็อก มาในยุคทีวีดิจิทัล แม้ยังกำไรแต่ตัวเลขก็ลดลงเช่นกัน ปี 2557 รายได้ 10,428 ล้านบาท กำไร 5,510 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 5,750 ล้านบาท กำไร 1,633 ล้านบาท
เวิร์คพอยท์ ช่วงเริ่มต้นปี 2557 ขาดทุน แต่เริ่มทำกำไรตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาจากรายการแนววาไรตี้ เกมโชว์ที่ถนัด รายได้ปี 2560 ทำสถิตินิวไฮ ที่ 3,877 ล้านบาท กำไร 904 ล้านบาท จากรายการเรตติ้งฮิต The Mask Singer และ I Can See Your Voice แม้จะแผ่วลงในปีถัดมา แต่ปี 2561 เวิร์คพอยท์ยังทำรายได้ 3,640 ล้านบาท กำไร 345 ล้านบาท
โมโน 29 แม้เริ่มต้นด้วยภาวะ “ขาดทุน” 3 ปีแรก แต่ 2 ปีต่อมา ช่องโมโน ที่ใช้ซีรีส์ ภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นคอนเทนต์ชูโรง พลิกมาทำกำไรตั้งแต่ปี 2560 ด้วย รายได้ 1,582 ล้านบาท กำไร 90 ล้านบาท และ ปี 2561 รายได้ 3,806 ล้านบาท กำไร 32 ล้านบาท
ช่อง 8 ของอาร์เอส ในส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัล ภายใต้ อาร์.เอส.เทเลวิชั่น ช่วง 4 ปีแรก (2557 – 2560) มีผลประกอบการ “ขาดทุน” เช่นกัน แต่บริษัทแม่ “อาร์เอส” ที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากสื่อเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ (MPC) ทำกำไรมาต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2561 ช่อง 8 โชว์รายได้ 1,441 ล้านบาท กำไร 158 ล้านบาท
กลุ่ม “ขาดทุน” ตัวเลขกระเตื้อง
ช่วง 5 ที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล “ส่วนใหญ่” ยังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” แต่บางช่องเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น โดยช่องที่ยังมีอัตราขาดทุนสูง คือ “พีพีทีวี” ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากการลงทุนคอนเทนต์พรีเมี่ยม ระดับ “เวิลด์ คลาส” ทั้งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฟอร์แมทคอนเทนต์ต่างประเทศ
ตั้งแต่ปี 2557 พีพีทีวี ขาดทุนระดับพันล้านบาท มาต่อเนื่อง 5 ปี ปี 2560 รายได้ 317 ล้านบาท ขาดทุน 2,028 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 495 ล้านบาท ขาดทุน 1,837 ล้านบาท
ไทยรัฐทีวี ก็เช่นกันช่วง 5 ปีนี้ ขาดทุนเกือบพันล้านบาทต่อปี แต่เห็นสัญญาบวก “รายได้” ขยับขึ้นเช่นกัน ปี 2560 รายได้ 740 ล้านบาท ขาดทุน 927 ล้านบาท ส่วนปี 2561 รายได้ 1,099 ล้านบาท ขาดทุน 554 ล้านบาท
อมรินทร์ทีวี ที่เผชิญปัญหาขาดทุนตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ ดึงทุนใหญ่ “ไทยเบฟ” เข้ามาร่วมถือหุ้น 47% ด้วยเม็ดเงินลงทุน 850 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2559 เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย โดยภาพรวมธุรกิจอมรินทร์ กลับมาโชว์ตัวเลข “กำไร” แล้วในปี 2561
แต่ทีวีดิจิทัล ยังคงมีตัวเลข “ขาดทุน” แต่ปรับตัวดีขึ้นมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดย ปี 2560 รายได้ 525 ล้านบาท ขาดทุน 345 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 964 ล้านบาท ขาดทุน 32 ล้านบาท
ส่วน 2 ช่องทีวีดิจิทัล ของ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” มีตัวเลขขาดทุนลดลงเช่นกัน โดย ช่อง ONE 31 ภายใต้ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ปี 2561 รายได้ 2,033 ล้านบาท ขาดทุน 9.3 ล้านบาท
ขณะที่ GMM25 ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ปี 2561 รายได้ 1,714 ล้านบาท ขาดทุน 413 ล้านบาท
เช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลของเครือซีพี แม้ 5 ปีแรกยังขาดทุน แต่รายได้ขยับขึ้นและขาดทุนลดลงต่อเนื่อง ช่อง True4U ปี 2560 รายได้ 794 ล้านบาท ขาดทุน 328 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 831 ล้านบาท ขาดทุน 317 ล้านบาท
สำหรับ TNN ปี 2560 รายได้ 395 ล้านบาท ขาดทุน 125 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 841 ล้านบาท ขาดทุน 43 ล้านบาท
เนชั่นทีวี ซึ่งขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2557 รายงานรายได้ ปี 2561 อยู่ที่ 185 ล้านบาท ขาดทุน 8.2 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขขาดทุนต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ ปี 2560 รายได้ 260 ล้านบาท ขาดทุน 727 ล้านบาท
NEW18 ประสบปัญหาขาดทุนตลอด 5 ปีเช่นกัน ขณะที่รายได้ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ปี 2560 รายได้ 124 ล้านบาท ขาดทุน 461 ล้านบาท ส่วนปี 2561 รายได้ 117 ล้านบาท ขาดทุน 401 ล้านบาท
“7 ช่อง” เตรียมลาจอ “ขาดทุน” 5 ปี
ภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงมี “7 ช่อง” ขอคืนใบอนุญาต ออกจากตลาด หลังจากมีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหา “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. บอกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล “ขาดทุน” ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท
โดยทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง ที่คืนใบอนุญาตจะได้รับเงินชดเชยรวม 3,000 ล้านบาท โดยทั้ง 7 ช่องที่เตรียมลาจอ คือ สปริง 26 (NOW26), สปริงนิวส์ 19, ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี, ช่อง 14 MCOT Family, ช่อง 3SD และช่อง 13 Family จะทยอยยุติออกอากาศตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 1 ต.ค. 2562
สำหรับผลประกอบการของกลุ่มบีอีซี เวิลด์ ปี 2561 ช่อง 3 แอนะล็อก (ออกอากาศคู่ขนาน ทีวีดิจิทัล ช่อง 3 HD) ในนาม บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด แสดงรายได้ 5,559 ล้านบาท ขาดทุน 969 ล้านบาท ส่วน บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 3 HD, ช่อง 3 SD และช่อง 3 Family ปี 2561 แสดง รายได้ 2,572 ล้านบาท กำไร 111 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการโดยรวม บีอีซี เวิลด์ ปี 2561 ที่แจ้งตลาด มีรายได้ 10,504 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท ภาวะขาดทุนดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้ บีอีซี ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เพื่อกลับมาสร้างความแข็งแกร่งให้ช่อง 3 HD กลับมาทำกำไรอีกครั้ง
อสมท เจ้าของใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง MCOT 30 และช่อง 14 MCOT Family ประสบปัญหา “ขาดทุน” ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ปี 2560 รายได้ 2,728 ล้านบาท ขาดทุน 2,541 ล้านบาท ส่วนปี 2561 รายได้ 2,102 ล้านบาท ขาดทุน 373 ล้านบาท อสมท จึงขอคืนใบอนุญาต ช่อง 14 MCOT Family
สปริง 26 หรือเดิมคือ NOW 26 ประสบปัญหาขาดทุนตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลเช่นกัน และตัดสินใจคืนช่องในท้ายที่สุด โดยปี 2561 รายได้ 224 ล้านบาท ขาดทุน 178 ล้านบาท
ส่วน วอยซ์ทีวี ปี 2561 รายได้ 121 ล้านบาท ขาดทุน 352 ล้านบาท ไบรท์ทีวี ปี 2561 รายได้ 391 ล้านบาท ขาดทุน 15 ล้านบาท และ สปริงนิวส์ 19 ปี 2561 รายได้ 239 ล้านบาท ขาดทุน 16 ล้านบาท
7 ช่องคืนใบอนุญาตเลิกจ้างกว่า 500 คน
การประกาศคืนใบอนุญาตของ ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ที่จะทยอย “จอดำ” ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 1 ต.ค.นี้ สิ่งที่ตามมาก็คือการ “เลิกจ้าง” พนักงาน
ประเมินกันว่า ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง จะมีการเลิกจ้างพนักงานราว 500 คน ประกอบไปด้วย 2 ช่องเด็ก คือ ช่อง 3 family และ MCOT Family รวม 100 คน
ส่วน 3 ช่องข่าว คือ ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ รวม 250 คน เนื่องจากทยอยลดคนไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่องสปริงนิวส์ 19 ได้ย้ายบุคลากรไปยังช่องสปริง 26 (NOW 26) ช่องวอยซ์ทีวีย้ายไปทำทีวีดาวเทียมและสื่อออนไลน์ ไบรท์ทีวี ยังคงมีบางส่วนทำสื่อออนไลน์ ขณะที่ 2 ช่อง วาไรตี้ SD คือ ช่อง 3 SD และ สปริง 26 รวม 150 คน
กรณีคืนช่อง 3 SD และช่อง 13 Family ของบีอีซี เริ่มทยอยเลิกจ้างพนักงานแล้ว โดยเฉพาะทีมข่าว ที่มีการลดจำนวนคนในแต่ละโต๊ะข่าวลงจำนวนมาก ประเมินกันว่าอาจจะมีการเลิกจ้างราว 200 คน
สถานการณ์เลิกจ้างบุคลากรในสื่อทีวีดิจิทัล จากภาวะขาดทุน นับตั้งแต่เริ่มต้นออกอากาศปี 2557 มาถึงการคืนใบอนุญาตปี 2562 มีคนสื่อถูกเลิกจ้างกว่า 1,000 คน ทั้งช่องที่ยังอยู่และช่องที่คืนใบอนุญาต สำหรับช่องที่ยังประกอบกิจการอยู่ก็ยังคง “รัดเข็มขัด” กันต่อไปในภาวะที่ธุรกิจยังไม่กำไร
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- กสทช. สรุปคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 7 ช่อง รวมจ่าย 2,932.68 ล้านบาท
- “ช่อง 3” จอดำทีวีดิจิทัล 2 ช่อง สิ้นเดือน ก.ย.นี้ จ่ายเลิกจ้างมากกว่ากฎหมายแรงงาน
- เช็กสภาพทีวีดิจิทัล 7 ช่อง เตรียม “ลาจอ” ส.ค.นี้ 5 ปี ขาดทุน “หมื่นล้าน”