โบรกเกอร์ยุคเก่าส่อแววช้ำ สตาร์ทอัพดาวรุ่งวงการฟินเทคไทย “FINNOMENA” เผยเทรนด์แรงพฤติกรรมนักลงทุนยุคใหม่เปลี่ยนชัด วันนี้หลายคนเน้นลงทุนตามธีมความชอบส่วนตัวเช่นธีมบริษัทสีเขียวรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือธีมบริษัทเทคโนโลยีซีเคียวริตี้ ขณะที่นักลงทุนในตลาดโลกเน้นใช้ระบบแนะนำหุ้นด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ท่ามกลางอีกหลายคนที่เดินสายลงทุนตามเซียนที่ประทับใจ ทุกพฤติกรรมถูกนำมาตอบโจทย์ในแพลตฟอร์มการลงทุนใหม่ “GURUPORT” ซึ่ง FINNOMENA มั่นใจว่าจะจุดติดในตลาดแมส คาดว่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ได้มากกว่า 200 ล้านบาทภายในปีนี้
FINNOMENA มีดีกรีเป็นบริษัทสตาร์ทอัพอายุ 3 ปีที่ก่อตั้งโดยคนไทย วางตัวเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นเผยแพร่ความรู้เรื่องการลงทุนแบบเข้าใจง่าย เมื่อผู้อ่านสนใจวางแผนการเงินก็สามารถใช้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนของ FINNOMENA ได้แบบครบวงจร ทำให้ FINNOMENA มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับธนาคารและ บลจ.
วันนี้ FINNOMENA ได้รับการยอมรับในวงกว้างบนสังคมการเงินการลงทุนของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 80,000 คน คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 6,700 ล้านบาท ตัวสตาร์ทอัพได้รับการลงทุนจาก บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต, กลุ่มเบญจจินดา, ดีแทค แอคเซอเลอเรท Batch 4, และ 500 TukTuks คาดว่าการเพิ่มทุนรอบ Series B จะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ หลังจากที่ Series A สามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในช่วงปีที่แล้ว
Thematic Portfolio แรงดี
เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA วิเคราะห์พฤติกรรมนักลงทุนยุคใหม่ว่าวันนี้เด็กรุ่นใหม่นิยมลงทุนตามสไตล์ที่ชอบ เช่น เด็กไม่ใช้หลอด พกแก้วไปซื้อเครื่องดื่ม หรือชื่นชอบเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะเลือกซื้อหุ้นตามบริษัทที่ชื่นชอบ ขณะที่ผู้ชื่นชอบในธีมซีเคียวริตี้ ก็สามารถคลิกซื้อหุ้นลงทุนได้ทุกบริษัททั้งธีมที่จัดมา แนวทางการลงทุนตามธีมของบริษัทนี้มีชื่อเรียกว่า Thematic Portfolio ซึ่งพบว่ามาแรงในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ยุคใหม่ระดับโลก
เทรนด์แรงถัดมาที่เห็นชัดคือการใช้เทคโนโลยี หากไม่นับกระบวนการ e-KYC ที่ทำให้แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นยืนยันตัวบุคคลได้แบบไม่ต้องใช้กระดาษใน 1 ชั่วโมงจนลดเวลาดำเนินการจากหลายวันเหลือวันเดียว อีกเทคโนโลยีที่มีบทบาทในกลุ่มนักลงทุนยุคใหม่คือ Robo-advisor ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาแนะนำการลงทุนโดยอิงฐานข้อมูลของตัวบริษัทล้วนๆ สถิติล่าสุดพบว่าที่ปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศมีการพัฒนาระบบ Robo-advisor มากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโบรกเกอร์ยุคใหม่ค่าธรรมเนียมต่ำ
แต่ใน Robo-advisor ก็มีเซ็กเมนต์ที่ย่อยลงไปเป็น Hybrid Robo-advisor เพราะนักลงทุนที่มีเงินทุนหลักล้านยังไม่เชื่อมั่นหากไม่มีบุคลากรคนเข้ามาร่วมแนะนำ แนวโน้มนี้ทำให้หลายบริษัทที่ต้องการเจาะกลุ่มนักลงทุนเงินล้าน ต้องจัดพนักงานที่เป็นคนเข้ามาประกบเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น
แทนที่จะเป็นพนักงานหรือใครก็ได้ นักลงทุนยุคใหม่ยังเลือกลงทุนตามเซียนที่ประทับใจ เรื่องนี้ต่างจากอดีตที่การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมักมาจากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ขายโดยตรง แต่ปัจจุบัน กูรูหรือใครที่มีความสนใจเรื่องการลงทุนด้านเดียวกันสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กันได้บนโลกออนไลน์, Social Media หรือแพลตฟอร์มการลงทุนอื่น จนทำให้โลกแจ้งเกิด “กูรูการลงทุน” ขึ้นมากมายหลายร้อย–พันคน ลักษณะการลงทุนนี้เรียกว่า Crowdsourcing
เทรนด์ทั้งหมดนี้ถูก FINNOMENA จับมารวมกันจนทำให้เกิดเป็นบริการใหม่ชื่อ GURUPORT ตัวบริการถูกต้องตามตำราเทรนด์โลกจน FINNOMENA มั่นใจมากว่านักลงทุนไทยจะตอบรับ FINNOMENA ดีเหมือนในต่างประเทศที่การลงทุนส่วนใหญ่ทำผ่านที่ปรึกษาการเงินหรือ financial advisor เป็นหลัก (ไม่ใช่การซื้อเองโดยตรง) FINNOMENA จึงคัดเลือก 6 กูรูชั้นนำด้านการเงินของประเทศไทยมาจัดพอร์ตโชว์ เพื่อให้ลูกค้าฟินโนมีนาสามารถลงทุนตามกูรูได้ระหว่างที่กำลังศึกษาเรื่องการลงทุนแบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ชู Influencer เป็นแม่เหล็ก
บทสรุปของภาวะโบรกเกอร์ถูกดิสรัปนั้นไม่ได้อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยจัดพอร์ตลงทุน แต่อยู่ที่การตอบพฤติกรรมของนักลงทุนด้วย สำหรับก้าวใหม่ใน GURUPORT ตัว FINNOMENA ประเดิมก่อนที่ 6 ธีม ได้แก่ ธีมหุ้นระดับโลก ธีมหุ้นไทย ธีมหุ้นอาเซียน ธีมเน้นกลยุทธ์คลาสสิก ธีมสินทรัพย์ยอดนิยม และธีมเสี่ยงต่ำเหมาะเก็บระยะยาว ทั้งหมดนี้ร่างพอร์ตโดยนักวิเคราะห์ เซียนตลาดหลักทรัพย์ อาจารย์ เจ้าของเพจ และผู้เขียนหนังสือ ที่จะเป็นแม่เหล็กดูดให้คนไทยหันมาลงทุนมากขึ้น
เมื่อมีธีมและมีกูรู Influencer สำหรับ Thematic Portfolio FINNOMENA ก็ถึงเอาแกนเทคโนโลยี Robo-advisor มาใส่ใน GURUPORT เพราะการที่กูรูแต่ละคนจะไล่คุยกับนักลงทุนแต่ละคนนั้นเป็นไปได้ยาก กลายเป็นระบบแพลตฟอร์ม Crowdsourcing Robo-advisor ที่ผู้บริหารตั้งเป้าว่าจะจุดประกายให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายที่อยากเห็นคือสิ้นปีนี้มีนักลงทุนสร้างพอร์ตบนแพลตฟอร์มใหม่ราว 1 หมื่นราย
เมื่อคำนวณเม็ดเงินของนักลงทุน 1 หมื่นรายที่จะใช้งานแพลตฟอร์ม GURUPORT ในปีนี้ พบว่าอาจสูงถึง 200 ล้านบาทเพราะ FINNOMENA กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ 20,000-50,000 บาท ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นผู้คลิกซื้อด้วยตัวเองในขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่าต้องตัดสินใจเองแม้จะมีกูรูหรือเทคโนโลยีคอยเตือนและกรองหุ้นน้ำดีไว้ให้แล้ว.