ปิดฉาก “7 ช่อง” ทีวีดิจิทัล บนเส้นทางวิบาก ย้อนดูผลงาน 5 ปี “เรตติ้ง” ดิ่ง ขาดทุนอ่วม

ธุรกิจฟรีทีวีก่อนยุคทีวีดิจิทัลความมั่งคั่งของช่อง 3” และช่อง 7” กับตัวเลขกำไรปีละกว่า 5,000 ล้าน กลายเป็นต้นแบบที่ผู้ประกอบการสื่อและรายใหม่อยากเดินตาม หวังเข้ามาแบ่งเม็ดเงินโฆษณาทีวีปีละ 70,000 ล้าน ที่ขณะนั้นยังมีแนวโน้มเติบโต  

เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลทีวีดิจิทัล ในวันที่ 26 – 27 ธ.ค. 2556 ด้วยจำนวน 24 ช่อง อายุใบอนุญาต 15 ปี เริ่มปี 2557 จบในปี 2572 และตลอด 15 ปีก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต ย้ำว่าจะไม่มีการประมูลอีก

การประมูลใบอนุญาต “ทีวีดิจิทัล” จึงเรียกความสนใจจากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งฟรีทีวี “รายเก่า” ที่ต้องเข้าสู่สนามใหม่ “ผู้ผลิตคอนเทนต์” และ “ช่องทีวีดาวเทียม” ที่ต้องการเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี กลุ่มสื่อดั้งเดิม “หนังสือพิมพ์” ที่เห็นแนวโน้มขาลงของสื่อเก่าวางเป้าหมายสร้างอาณาจักรสื่อทีวี รวมทั้ง “ผู้เล่นรายใหม่” ที่มองเป็นโอกาสทางธุรกิจ การประมูลทีวีดิจิทัลจึงกลายเป็น “ธุรกิจแห่งความหวัง” ของอุตสาหกรรมสื่อ

ส่งให้การแข่งเคาะราคาประมูล จากมูลค่าราคาขั้นต่ำใบอนุญาต 24 ช่อง ที่ กสทช. กำหนดไว้ 15,190 ล้านบาท มูลค่าประมูลวิ่งไปจบที่ 50,862 ล้านบาท

ผู้กำชัยชนะประมูล “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2556 เลี้ยงฉลองความสำเร็จกับความหวังเป็นเจ้าของ “ธุรกิจทำเงิน” แต่เวลาผ่านไปเพียง 1 ปี ของยุคทีวีดิจิทัล ที่เริ่มออนแอร์พร้อมกันในวันที่ 25 เม.ย. 2557 มี “2 ช่อง” คือ ไทยทีวีและโลก้า ของ “เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” บอกคืนใบอนุญาตเดินออกจากตลาดกับตัวเลข “ขาดทุน” 700 ล้านบาท

ช่องเยอะ-เจอ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น”  

เป็นยอมรับกันทั้งในฝั่งผู้ประกอบการทีวีและเลขาธิการกสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ที่บอกว่าจำนวนทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่เปิดประมูล “มากเกินไป” เพราะเพิ่มขึ้นจากยุคแอนะล็อก 6 เท่าตัว หากคิดบนพื้นฐานที่ว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีมี 70,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 24 ช่อง น่าจะแบ่งกันและอยู่รอดได้

แต่ต้องกลับไปดูอีกว่า “มูลค่าจริง” ของโฆษณาทีวีมีเท่าไหร่ เพราะการสำรวจวัดจาก Rate Card หรือ ราคาเสนอขาย แต่การซื้อขายกันมี “ส่วนลด” ทุกช่อง “มีเดีย เอเยนซี” ก็ประเมินว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีต่อปีไม่น่าจะเกิน 40,000 ล้านบาท  

ที่วิเคราะห์เช่นนั้นเพราะดูได้จากรายได้ ช่อง 3 และ ช่อง 7 ที่เป็นผู้นำในตลาด ย้อนไปปี 2556 BEC หรือช่อง 3 ทำรายได้สูงสุดที่ 15,127 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท ส่วน ช่อง 7 รายได้ 10,312 ล้านบาท กำไร 5,231 ล้านบาท ปี 2556 อสมท มีรายได้ทีวี 3,821 ล้านบาท ส่วนช่อง 5 น่าจะอยู่ในอัตราเดียวกัน เม็ดเงินโฆษณาทีวีที่ 40,000 ล้านบาท จึงเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงจริง

อย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่า “ความสามารถ” ด้านความคิดสร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ของแต่ละช่องไม่เท่ากัน “ช่อง 3 และช่อง 7” อยู่ในตลาดมากว่า 40 ปี ไม่ได้กำไรตั้งแต่วันแรก ทุกคนรู้ดีว่า “ทีวี” คือธุรกิจ “เผาเงิน” ต้นทุนผลิตรายการทีวี เมื่อถึงเวลาออนแอร์ ไม่มีโฆษณา นั่นคือเม็ดเงินลงทุนที่หายไป โดยไม่มีรายได้กลับมา

อีกทั้งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลในปี 2557 เป็นจังหวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Digital Disruption) การขยายตัวของสื่อออนไลน์ OTT และการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ ยูทูบ เฟซบุ๊ก  ไลน์ทีวี ที่เข้ามาแย่งเวลาผู้ชมทีวี โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับสื่อออนไลน์ ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบธุรกิจทีวีดิจิทัล

7 ช่อง” ไม่ไปต่อ ขอหยุดเลือด

ตลอดเวลา 5 ปี ของเส้นทาง “ทีวีดิจิทัล” ธุรกิจที่เป็นความหวังของคนในอุตสาหกรรมทีวี จึงกลายเป็นเส้นทางวิบาก แม้แต่ผู้นำเรตติ้ง 2 ช่องตั้งแต่ยุคแอนะล็อก บัลลังก์ยังสะเทือน “รายได้และเรตติ้ง” ลดลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีนี้ ไม่ต่างจาก “รายใหม่” ที่เข้ามาด้วยความหวังปั้นธุรกิจดาวรุ่ง ก็ต้องยอมพ่ายแพ้ขอออกจากตลาด เพื่อ “หยุดเลือด”

เมื่อมีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลเปิดทางให้คืนใบอนุญาตก่อนสิ้นสุดสัญญาในปี 2572 พร้อมรับเงินชดเชย จึงมี “7 ช่อง” ขอออกจากตลาดไม่ไปต่อ คือ สปริงส์นิว 19, สปริง 26 (NOW 26), ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี, MCOT Family (อสมท), ช่อง 3 SD (ช่อง 28) และ ช่อง 3 Family (ช่อง 13)

หลังจากยุติออกอากาศตามกำหนดตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – ต.ค. 2562 ทั้ง 7 ช่องจะได้รับเงินชดเชย จากกสทช. เนื่องจากใช้ใบอนุญาตไม่ครบ 15 ปี เม็ดเงินที่กสทช. ชดเชย ทั้ง 7 รวมอยู่ที่ 2,932.65 ล้านบาท โดยทั้ง 7 ช่อง ประมูลทีวีดิจิทัลมาด้วยมูลค่ารวม 9,755 ล้านบาท

นั่นเท่ากับต้นทุนค่าใบอนุญาตที่ต้องจ่ายตลอด 5 ปีกว่ารวมมูลค่า 6,822.35 ล้านบาท หากรวมค่าลงทุนคอนเทนต์ การบริหารธุรกิจรายปี และค่าจ้างบุคลากร สถานีทีวีละ 100 – 200 คน นับรวมเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลข “ขาดทุน” ที่ทีวีดิจิทัล ต้องเผชิญตลอดช่วงที่ทำธุรกิจ

เม็ดเงินโฆษณาช่องข่าว-เด็ก “ต่ำสุด”  

การลงทุนทั้งค่าใบอนุญาตที่ใช้ไป 5 ปีกว่าและต้นทุนการทำธุรกิจหลัก 10,000 ล้านบาท ของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ขอถอนตัว สาเหตุที่ตัดสินใจเช่นนั้น คงสะท้อนได้จากเรตติ้งช่องที่ส่วนใหญ่อยู่ท้ายตาราง และ “รายได้” ตลอดช่วง 5 ปี ของแต่ละช่อง ที่ยัง “ขาดทุน” หนัก และมองไม่เห็นโอกาสจากการแข่งขันในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่

จากข้อมูลของ สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์  สำนักงาน กสทช. ซึ่งจัดทำหนังสือ  5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล : บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง ได้บอกเล่าเรื่องราวอุตสาหกรรมโฆษณา ความเป็นมาของทีวีดิจิทัล รวมทั้งผลประกอบการของแต่ละช่อง

เริ่มจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาทีวีของ “นีลเส็น” ในยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 มีมูลค่า 73,042 ล้านบาท ปี 2558 มูลค่า 78,343 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่า 67,545 ล้านบาท ปี 2560 มูลค่า 62,873 ล้านบาท และปี 2561 มูลค่า 67,947 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าไม่ได้ “เพิ่มขึ้น” อีกทั้งมีแนวโน้มลดลง

มาดูเม็ดเงินโฆษณาที่กระจายไป “ช่องข่าว” ที่มีจำนวน 7 ช่อง มีสัดส่วนเพียง 3 – 4% ของโฆษณาทีวีดิจิทัล เท่านั้น ปี 2557 มีมูลค่า 2,420 ล้านบาท สัดส่วน 3.31% ปี 2558 มูลค่า 3,555 ล้านบาท สัดส่วน 4.54% ปี 2559 มูลค่า 2,766 ล้านบาท สัดส่วน 4.10% ปี 2560 มูลค่า 2,560 ล้านบาท สัดส่วน 4.07% ปี 2561 มูลค่า 2,592 ล้านบาท สัดส่วน 3.82%

ขณะที่มูลค่าโฆษณา ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีสัดส่วนไม่ถึง 1% เริ่มจากปี 2557 อยู่ที่ 537 ล้านบาท สัดส่วน 0.74% ปี 2558 มูลค่า 749 ล้านบาท สัดส่วน 0.96% ปี 2559 มูลค่า 523 ล้านบาท สัดส่วน 0.77%  ปี 2560 มูลค่า 388 ล้านบาท สัดส่วน 0.62% และปี 2561 มูลค่า 623 ล้านบาท สัดส่วน 0.92%

ทั้งช่องข่าวและช่องเด็ก เป็นหมวดหมู่ที่มีเม็ดเงินโฆษณา “น้อยที่สุด” เมื่อเทียบกับหมวดหมู่อื่น เพราะเรตติ้งต่ำกว่าช่องวาไรตี้ จึงเป็นปัจจัยให้ ช่องข่าวและช่องเด็ก ขอคืนใบอนุญาตมากกว่าหมวดหมู่อื่น

ย้อนดูผลงาน “7 ช่อง” รายได้ต่ำ-เรตติ้งดิ่ง

ทีวีดิจิทัล 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาติ จะเริ่ม “ยุติออกอากาศ” ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค. นี้ หรือเมื่อก้าวเข้าสู่วันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 0.01 น. มี 3 ช่อง คือ สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 และไบรท์ทีวี จากนั้น วันที่ 1 ก.ย. 2562 เวลา 0.01 น. วอยซ์ทีวี ตามด้วย วันที่ 16 ก.ย. 2562 เวลา 0.01 น. ช่อง MCOT Family และสุดท้ายวันที่ 1 ต.ค. 2562 เวลา 0.01 น. ช่อง 3 SD และ ช่อง 3 Family ตามดูผลงานทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมากันอีกครั้ง

สปริงนิวส์ เริ่มออกอากาศครั้งแรกผ่านโครงข่ายดาวเทียม ปี 2553 หลังประมูลทีวีดิจิทัล “ช่องข่าว” มาด้วยราคา 1,318 ล้านบาท เริ่มออกอากาศ ช่องสปริงนิวส์ 19 วันที่ 25 เม.ย. 2557 การออกอากาศตลอด 5 ปี สปริงส์นิวส์ ทำรายได้รวม 919 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.018 ในปี 2557 และต่ำสุด 0.020 ปี 2561

สปริง 26 เริ่มออกอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียม ชื่อช่อง “กรุงเทพธุรกิจทีวี” ในปี 2555 เป็นสื่อทีวีในเครือเนชั่น คอนเซ็ปต์ช่องข่าวเศรษฐกิจและธุรกิจ ต้นแบบจากช่อง CBNC ชนะประมูลทีวีดิจิทัล ช่องวาไรตี้ SD มาด้วยมูลค่า  2,200 ล้านบาท เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัลในปี 2557 ภายใต้ชื่อ NOW 26 หลังจากกลุ่มทุนใหม่ “นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น” เข้ามาบริหารเครือเนชั่น ในเดือนก.พ. 2561 ได้เปลี่ยนชื่อช่องใหม่เป็น SPRING 26 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ตลอด 5 ปี ทำรายได้รวม 1,188  ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.175 ในปี 2561 และต่ำสุด 0.026 ปี 2558

ไบรท์ทีวี ดำเนินการโดย บริษัท 3 เอ.มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยผลิตรายการข่าวให้กับ ช่อง 5 มาก่อน และได้เข้าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล “ช่องข่าว” มาด้วยมูลค่า 1,298 ล้านบาท นอกจากรายการข่าว ไบรท์ทีวี ยังใส่คอนเทนต์บันเทิง ละครพื้นบ้าน และซีรีส์อินเดีย ที่สร้างกระแสฮิตในปี 2560 ตลอด 5 ปีทำรายได้รวม 798 ล้านบาท อันดับเรตติ้งดีที่สุด 20 ในปี 2561

วอยซ์ทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกผ่านโครงข่ายดาวเทียมในปี 2552 จากนั้นร่วมประมูลทีวีดิจิทัล ช่องข่าว มาด้วยมูลค่า 1,338 ล้านบาท วอยซ์ทีวี เป็นธุรกิจสื่อของครอบครัว “ชินวัตร” มีความชัดเจนในการนำเสนอข่าวการเมืองและรายการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ต่างๆ และมีรายการประเภทวาไรตี้ สารคดีท่องเที่ยว ซีรีส์ต่างประเทศ เช่นกัน ตลอด 5 ปีทำรายได้รวม 384 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.031 ในปี 2561 และต่ำสุด 0.004 ปี 2557

MCOT Family เป็น 1 ใน 2 ช่องทีวีดิจิทัลที่ อสมท เข้าร่วมประมูล ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มาด้วยมูลค่า 660 ล้านบาท ถือเป็นช่องใหม่ที่ อสมท พัฒนาขึ้นเดิมชื่อ MCOT Kids & Family หมายเลข 14 จากนั้นเดือน มิ.ย. 2557 เปลี่ยนมาเป็นชื่อ MCOT Family การเป็นช่องเด็ก ถือว่ามีข้อจำกัดในการหารายได้โฆษณา อสมท จึงประสบปัญหาในการทำช่อง MCOT Family

ปี 2560 ได้ปรับรูปแบบเป็นช่องขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จากกลุ่ม SMEs เพื่อสร้างโอกาสหารายได้มากขึ้น แต่ก็เป็นช่องที่ทำรายได้น้อยที่สุดของทีวีดิจิทัลทั้งหมด ตลอด 5 ปี ทำรายได้รวม 157 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.029 ในปี 2561 และต่ำสุด 0.006 ปี 2557

ช่อง 3 SD เป็นช่องใหม่ของกลุ่มบีอีซี หรือ ช่อง 3 ประเภทช่องวาไรตี้ SD หมายเลข 28 ประมูลมาด้วยมูลค่า  2,275 ล้านบาท ช่วงเริ่มต้นใช้คอนเทนต์ รีรัน จากช่อง 3 หลังจากนั้นเติมรายการข่าวและวาไรตี้ เข้ามาในผัง แต่รายการที่ทำเรตติ้งได้ดี คือ ละครรีรัน ช่อง 3 ทำให้เรตติ้งขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อปเท็น ตลอด 5 ปี ทำรายได้รวม 1,930 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.279 ในปี 2560 และต่ำสุด 0.011 ปี 2557

ช่อง 3 Family เป็นอีกช่องทีวีดิจิทัลของช่อง 3 ที่ประมูลมาด้วยมูลค่า 666 ล้านบาท ในกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว ออกอากาศหมายเลข 13 ช่วงแรกเน้นซื้อรายการลิขสิทธิ์มาออกอากาศ ทั้งซีรีส์ต่างประเทศ การ์ตูนเด็ก และละครรีรันช่อง 3 จากนั้นเริ่มผลิตรายการข่าว วาไรตี้ รายการการแข่งขันกีฬาถ่ายทอดสด และปล่อยเช่าเวลา แต่ด้วยการแข่งขันสูงและข้อจำกัดการลงโฆษณาของรายการเด็ก ทำให้รายได้โฆษณา แต่ละปีอยู่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ตลอดช่วง 5 ปีทำรายได้รวม 636 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.083 ในปี 2558 และต่ำสุด 0.012 ปี 2557

การเลือกออกจากสมรภูมิการแข่งขัน “ทีวีดิจิทัล” ของ 7 ช่อง เพราะมองไม่เห็นโอกาสที่จะทำรายได้ในแต่ละปีได้มากกว่าเม็ดเงินที่ต้องลงทุน ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในสนามแข่งขันวันนี้ก็ยัง “เหนื่อย” ต่อไป.