ตลาดอีคอมเมิร์ซ “ตัวเลือก” เยอะ ผู้บริโภคไทยเสพติดของใหม่ “นอกใจ” แบรนด์เดิม

การศึกษาความภักดีของผู้บริโภคทั่วโลกของนีลเส็นพบว่าผู้บริโภคมักมองหาแบรนด์ใหม่ เนื่องจากการวางเดิมพันในการทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นถูกมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก จากระดับของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา

ทั้งนี้ 42% ของผู้บริโภคทั่วโลกบอกว่าชอบลองของใหม่และเกือบครึ่งหรือ 49% ของผู้บริโภคที่แม้ปกติจะซื้อสินค้าที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ก็มีโอกาสเปิดใจลองของใหม่ได้เช่นกัน

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกมีความนิยมเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุด โดย 47% จะเปลี่ยนแบรนด์หรือลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามด้วยแอฟริกาและตะวันออกกลาง 45% และละตินอเมริกา 42% แต่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือและยุโรปมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเปลี่ยนแบรนด์ ที่สัดส่วน 36% และ 33% ตามลำดับ

ผู้บริโภคไทยเปลี่ยนแบรนด์สูง

แนวโน้มของประเทศไทยได้ตอกย้ำเทรนด์ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง 46% ของผู้บริโภคไทยเปิดรับสิ่งใหม่และมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เปิดกว้างและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับเจ้าของแบรนด์ถึงความเสี่ยง สาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตและการเปิดรับของผู้บริโภคต่อตลาด “อีคอมเมิร์ซ” มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มตัวเลือกของสินค้าให้กับผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสในการรับรู้ข้อมูลสินค้าและตรวจสอบราคา

อีกทั้งการขยายตัวของสังคมเมืองในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และจะเติบโตเร่งขึ้นอีกใน 5 – 10 ปีข้างหน้า จากโครงการเมกะโปรเจกต์หลายโครงการของรัฐ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเห็นได้ว่าเทรนด์ของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการซื้อของหรือสั่งของนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้การเข้าถึง อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย การมีตัวเลือกมากขึ้นทำให้ทั้งนักการตลาดและผู้ค้าปลีก ต้องปรับตัวเร็ว เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและเป็นผู้นำเทรนด์ โฟกัสสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในอนาคต

“ตัวเลือก” สินค้าเยอะอัตราเปลี่ยนแบรนด์พุ่ง

ผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคต้องการตัวเลือกมากขึ้น และมีสิทธิในการเลือกมากขึ้น จะทำให้ตลาดต้องสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเข้าสู่การแข่งขัน หากแบรนด์ต่างๆ ไม่เริ่มจริงจังในการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดี

เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดย 50% ของผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนผู้บริโภค 50% ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา 49% แอฟริกาและตะวันออกกลาง 42% ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการตัดสินใจในการเปลี่ยนแบรนด์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ 41% ของผู้บริโภคชาวไทยยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่มากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และ 27% มองแบรนด์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่หากเลือกได้ก็ชอบอยู่กับแบรนด์ที่เคยใช้อยู่แล้ว มีเพียง 9.2% ซึ่งไม่ต้องการเสี่ยงและไม่ค่อยซื้อสินค้าใหม่

ดังนั้นเจ้าของแบรนด์ต้องใช้เวลามากขึ้นในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจ ถึงอย่างไรก็ดี ยังคงเห็นสัญญาณของความไม่ภักดีต่อแบรนด์สินค้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนตลอดเวลา

ส่องปัจจัยคนไทยเลือกแบรนด์

สำหรับปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคชาวไทย ต้องบอกว่า ความคุ้มค่าของเงิน เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยกว่า 52% บอกว่ามีผลต่อการตัดสินใจ “ลองแบรนด์ใหม่” หรือ “เปลี่ยนแบรนด์เดิม” ตามมาด้วยคุณภาพหรือฟังก์ชันการใช้งานที่ดีกว่า 43%

ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ยังได้รับการจัดอันดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในภูมิภาคที่มีอัตราอยู่ที่ 40% ในเรื่องความคุ้มค่าของเงิน และ 42% สำหรับคุณภาพที่ดีกว่า

นอกจากให้ความสำคัญกับเรื่องของราคา ผู้บริโภคไทยยังมองประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 43% และความสะดวกสบาย 42% ซึ่งมีผลต่อการเลือกแบรนด์

ชู “ออมนิ แชนแนล” ดังนักช้อป

นักช้อปไทยและกลุ่มคนติดจอ นิยมเลือกแบรนด์เพราะว่าเข้าถึงได้ 32% เนื่องจากถูกดึงดูดโดยแบรนด์ที่สามารถซื้อออนไลน์ได้ แสดงให้เห็นว่าโลกดิจิทัลของสินค้ามีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจลองและซื้อสินค้า ดังนั้นกลยุทธ์ที่แบรนด์สามารถนำมาใช้ได้คือ Omni Channel เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประสบการณ์เชื่อมต่อระหว่างร้านค้าและออนไลน์

5 วิธีเข้าถึงผู้บริโภค “ไม่ภักดี” แบรนด์

จากวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของนีลเส็นที่ชัดเจนว่าผู้บริโภค “ไม่มีความภักดี” กับแบรนด์ และพร้อมลองของใหม่ถึง 90% ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ เพื่อรักษาให้เป็นกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ต่อไป โดยมี 5 วิธีหลัก

1. เปิดรับการเสพติดของลัทธินิยมสิ่งใหม่ ด้วยนวัตกรรมที่สดใหม่และเข้าถึงได้อยู่เสมอ เพราะ 46% ของผู้บริโภคมีความกระตือรือร้นในการค้นหาสินค้าใหม่ๆ
2. เข้าหาท้องถิ่น ด้วยการเพิ่มความรู้ในท้องถิ่น เพื่อดึงผู้บริโภคเข้ามาร่วมสนับสนุนแบรนด์
3. การโฆษณามีอิทธิพล ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคออนไลน์และต้องเปิดรับฟังเสียงผู้บริโภคและคำแนะนำต่อผลิตภัณฑ์
4. หา Commitment จากความสะดวกและคุณภาพ เพราะราคาเป็นสิ่งที่เรียกความสนใจได้เสมอ แต่ผู้บริโภคหลายคนก็มีความต้องการประโยชน์ที่จับต้องได้
5. การจับกลุ่มคนติดสกรีนและนักช้อป ที่สามารถซื้ออะไรก็ได้จากทุกที่ทุกเวลานั้น แบรนด์จะต้องใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับลูกค้าผ่าน “ออมนิ แชนแนล” และทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มง่ายและสะดวก