หมดยุคคนรุ่นใหม่ซื้อทองเพื่อความมั่งคั่ง! ถึงคราว “พรีม่าโกลด์” ปรับลุครีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 27 ปี หวังกุมใจเหล่า Gen Y

ในอดีตการซื้อทองคำสำหรับคนรุ่นพ่อแม่คือการสะสมความมั่งคั่งเพราะทองคำถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าในตัวเอง ช่วงขัดสนยังสามารถนำไปแปลงเป็นเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพในวันวานจะยังมีอยู่บ้างหากน้อยลงมาก เพราะคนรุ่นใหม่พอเริ่มทำงานไม่ได้ซื้อทองมาเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตเป็นตัวเลือกแรกที่เกิดขึ้น กลับกันพอมีเงินเดือนคนรุ่นใหม่เลือกที่จะนำไปซื้อสินค้าที่ตัวเองต้องการ หรือออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ก่อนเป็นอันดับแรก

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นกลายเป็นกลายเป็นโจทย์ให้พรีม่าโกลด์ที่อยู่ในในธุรกิจมานานกว่า 27 ปีกับ 71 สาขาต้องขบคิด เพราะแม้จะมองว่า ปัจจุบันตลาด Fine Jewelry หรือเครื่องประดับที่ผลิตจากอัญมณีแท้ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกว่า 72,300 ล้านบาท ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 4.1%

เมื่อแยกย่อยเฉพาะร้านขายเครื่องประดับทองและเพชรในห้างสรรพสินค้า ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 5,200 ล้านบาท โดยพรีม่าโกลด์มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 15 – 20% ก็ตาม

และแม้ฐานลูกค้าหลักจะซื้อเฉลี่ยครั้งละ 50,000 บาท หากส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสำหรับธุรกิจแล้วฐานลูกค้าเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ต้องรักษาไว้ แต่ธุรกิจต้องมีการเติบโต ซึ่งหลักๆ แล้วจะเกิดจากการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่

ดังที่กล่าวไปข้างต้นพฤติกรรมของลูกค้าใหม่หรือก็คือ คนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อทองคำที่เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเมื่อพรีม่าโกลด์อยากจะเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 27 ปีจึงเกิดขึ้นภายใต้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท

ชนัตถ์สร ไกรกิติกูล กรรมการ บริษัท พรีม่าโกลด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บอกว่า จุดแข็งของพรีม่าโกลด์คือเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงงานและทีมงาน ดีไซเนอร์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จุดนี้จึงไม่น่าห่วง

ดังนั้นการรีแบรนด์ในครั้งนี้จะมุ่งไปที่การปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นหลักโดยได้ดึงชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษานักการตลาดมือฉมังที่ผ่านบริษัทใหญ่ๆ มาแล้ว ทั้ง ซัมซุง ทรู ยูนิโคล่ และล่าสุดก่อนจะย้ายมามาคือหัวเว่ย ให้เข้ามารั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อ 3 เดือนก่อน

ชาญวิทย์ ระบุว่า แม้แบรนด์พรีม่าโกลด์จะอยู่ในตลาดมานาน แต่ช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาขาดการสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้า การรับรู้ของแบรนด์จึงเป็นฐานลูกค้าเก่า ส่วนกลุ่มใหม่ๆ ยังไม่มีมากนัก สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการสื่อสารไปหาลูกค้า โดยได้ดึงเบลล่า” ราณี แคมเปน เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรก

(ซ้าย) ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา – (ขวา) ชนัตถ์ สรไกรกิติกูล

ขณะเดียวกันได้ปรับชื่อแบรนด์เสียใหม่โดยปรับให้เหลือแต่ “พรีม่า” เพื่อลดความสับสนของลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ภายใต้บริษัทมี 3 แบรนด์หลัก คือ Prima Gold สำหรับจำหน่ายทองคำรูปพรรณ 24 เค หรือ 99.9 % Prima Diamond ผลิตเครื่องประดับเพชร และ Prima Art งานหัตถศิลป์ทองคำ 99.9 %

ต่อไปจะนำสินค้าทุกชนิดมาไว้ในร้านที่จะถูกปรับโฉมใหม่ คาดภายในสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 50 สาขา สำหรับการขยายสาขาใหม่ๆ นั้นยังไม่อยู่ในแผนการหลัก

เพื่อเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้ปรับวิธีการออกสินค้าใหม่ โดยจะไม่อิงกับแมททีเรียลแต่จะอิงกับไลฟ์สไตล์กับผู้บริโภคมากกว่า โดยจะหันมาออกเครื่องประดับที่สามารถสวมใส่ได้ง่ายขึ้น และมีราคาเริ่มต้นราว 5,000 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แบรนด์ออกสินค้าในระดับนี้ตั้งแต่เปิดร้านมา 27 ปี

ภายใน 1 ปีต่อจาก พรีม่าเชื่อว่าลูกค้า 70% จะเป็นฐานลูกค้าใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี โดยตั้งเป้ารายได้ 900 ล้านบาทในปีนี้ และภายใน 3 ปีต้องการรายได้ 2,000 ล้านบาท