คำพิพากษาในคดีประวัติศาสตร์ ยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร 46,373ล้านบาท คือข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบันทึกไว้ แม้จะถูกบิดเบือนว่าเป็นเรื่อง “การเมือง”?
ทั้งที่ หากสรุปจากคำพิพากษาก็สามารถพิเคราะห์ได้ว่า ด้วยเพราะ “เหตุ” ที่ทักษิณ ในสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกมาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตัวเองและครอบครัว
จึงกลายมาเป็น “ผล” ให้ถูกยึดทรัพย์สินในวันนี้
ไม่ใช่อย่างที่ทักษิณเอ่ยถ้อยแถลงแก้ต่างแก่ตัวในความผิด ต้องประสบกับวิบากกรรมเพราะถูก “การเมือง” เล่นงาน อำมาตย์กดปุ่ม ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง ดุและใจดำมาก!
ทักษิณ เป็น “เหยื่อการเมือง” จริงหรือ?
เสียงโอดครวญที่มาพร้อมกับการโยนความผิดให้ฝ่ายต่างๆ ก็เป็นสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ เสียหายจากคำพิพากษา แต่ความจริง ก็คือความจริง ที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือน
ไล่เรียงจากคำพิพากษา คือข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ตั้งแต่กรณีการ “ปกปิดอำพรางหุ้น” โดยผ่านนอมินี แม้ทักษิณจะใช้เล่ห์เหลี่ยม ยักย้าย ถ่ายโอนการถือครองสลับซับซ้อนกี่ชั้นต่อกี่ชั้น
แต่ก็ถูกตามแกะรอย เสาะหาพยานหลักฐานเชื่อมโยงจนปรากฏชัด
คำพิพากษาเป็นเอกฉันท์ “ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ในช่วงที่ยังเป็นคู่สมรส อำพรางการถือครองหุ้น ผ่านตัวแทนนอมินี จริง!
เป็น “ความจริง” ที่ประจานการ “หลอกลวง” อีกครั้งของ “ทักษิณ” ที่เคยต้องคดี “ซุกหุ้น” มาแล้วในช่วงเข้ารับตำแหน่งนายกฯสมัยแรก และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ไม่ผิด” ด้วยหลักนิติศาสตร์บวกรัฐศาสตร์
“บกพร่องโดยสุจริต” ที่ยอมรับได้?
ทั้งนี้ หากจำแนกแยกแยะคำพิพากษา ที่มาของการสั่งยึดเงิน 46,373ล้าน ก็มาจาการบริหารงานในสมัยทักษิณเป็นนายกฯ มีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัว
ทั้งการแปลงสัญญาสัมปทาน เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป แก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือ กรณีบัตรเติมเงิน และหักค่าใช้จ่ายการใช้โครงข่ายร่วมหรือโรมมิ่ง แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยมิชอบ กรณีอนุมัติเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ให้พม่า
ทั้งหมดทำให้รัฐเสียประโยชน์นับแสนล้านบาท
ขณะที่มูลค่าหุ้นชินคอร์ป “มั่งคั่ง” เพิ่มขึ้นนับแสนล้าน!
จึงสรุปได้เลยว่า ตลอดเวลาที่ก้าวเข้าสู่การเมือง ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคการเมืองไทยรักไทย ทั้งได้เข้าสู่อำนาจรัฐ คุมอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ “ทักษิณ” มีเป้าหมายแต่แรกเริ่มแล้ว
เพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตัว”
และที่จริงเป้าหมายของเขา แสดงออกมามาตั้งแต่คดีการ “ซุกหุ้น” ที่ “พ้นผิด” เพราะหลักรัฐศาสตร์ อภัยต่อเหตุผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ
รวมทั้งใครต่อหลายคนยังไม่เห็น “ธาตุแท้” จึงให้ “โอกาส”
แต่ถึงวันนี้ “ทักษิณ” ก็ยัง “ซุกหุ้น” อย่างต่อเนื่อง จนไม่อาจถือได้ว่า “บกพร่องโดยสุจริต”
เป็น “ความผิด” ที่เกิดซ้ำ เพราะ “ตั้งใจ”
และก็เป็นการฉายภาพย้อนหลังให้ทุกคนได้เห็นตัวตนที่แท้จริง ในระหว่างที่เป็นนายกฯ ที่ได้รับคำชื่นชมในเรื่องการทำงาน ชื่นชอบในสารพัดนโยบายประชานิยม เอาใจรากหญ้า
อีกทางหนึ่ง “ทักษิณ” ก็ออกนโยบาย มาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อต่อธุรกิจส่วนตัวมหาศาลทั้งบริหารสร้างคะแนนนิยม และบริหารเพื่อโกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเองในเวลาเดียวกัน!
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการฉ้อราษฎร์-บังหลวง อย่างน่าเกลียด ในประเด็นการสั่งให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้พม่า ที่ทำให้รัฐต้องรับภาระ สูญเสียรายได้ ขณะที่เงินที่จ่ายไหลสู่ชินคอร์ป
คำพิพากษาระบุชัด ในการเดินทางไปประชุมที่พม่าหลายครั้ง มีการนำเรื่องผลประโยชน์ของบริษัทไปพูดคุยในการพบปะกับผู้นำเพื่อนบ้าน
และถึงขั้นที่ว่า มีการนำพนักงานชินคอร์ปไปสาธิตเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร เสนอ “ขายของ”
ที่น่าตกใจกรณีนี้ ไม่ใช่ครั้งเดียวในยุคทักษิณ ที่เบียดบังเวลาราชการ ใช้ภารกิจของประเทศไปทำงานเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
ในปี 2544 เคยมีกระแสข่าวในทำนองเดียวกัน กับการเดินทางไปเยือนประเทศอินเดียหลายครั้ง ที่ว่า “ทักษิณ” ไปเพื่อเจรจาธุรกิจดาวเทียมไทยคม3 เสนอให้รัฐบาลอินเดียเช่าช่องสัญญาณ
แม้จะนำคณะสื่อมวลชนไปเป็นพยาน แต่ข้อเท็จจริง มีการนำเสนอข่าวภายหลัง สื่อมวลชนที่ตามคณะไปไม่ได้ร่วมรับรู้ในภารกิจของนายกฯไทยแต่อย่างใด
เพราะถูกกัน และพาไปท่องเที่ยวซื้อของในตลาดนิวเดลี แต่ไม่มีการยืนยันเรื่อง “พ็อกเก็ตมันนี่”
ขณะที่ “ทักษิณ” พากลุ่มคน “เชิ้ตขาว ผูกไทด์” ที่ว่าเป็นพนักงานผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากชินคอร์ปร่วมคณะเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลอินเดียด้วย
หลังจากทริปเยือนต่างแดนครั้งนั้นไม่นาน สื่ออินเดียก็มีรายงานข่าว รัฐบาลนิวเดลี ได้ลงนามในสัญญา ตกลงเช่าช่องสัญญาณไทยคมเรียบร้อย!
ถึงตรงนี้ ทั้งหมดจากคำพิพากษา คงฉายภาพชัด “ทักษิณ” ไม่ได้เป็น “เหยื่อ” ไม่ได้ถูก “การเมือง” กระทำ แต่อีกทางหนึ่งที่เขาเข้าสู่สนามการเมืองก็เพื่อเป้าหมายทาง “ธุรกิจ”
ตั้งใจเข้ามากอบโกยแต่ต้น แต่ถูกกฎเกณฑ์กติกาจับได้ไล่ทัน!!
ดังนั้น ที่ “ทักษิณ” เตือนนักธุรกิจให้ถือกรณีการยึดทรัพย์ของเขาเป็นบทเรียน
“อย่าเล่นการเมือง ไม่เช่นนั้นจะโดนยึดทรัพย์เหมือนผม แต่ถ้ารักการเมืองจริงก็ให้ขายทรัพย์สินให้เกลี้ยง”
เป็นเรื่องที่ถูกต้อง “นักธุรกิจ” ที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ต้องทำตามกฎกติกาที่กำหนด นอกเหนือไปจากความตั้งใจ ความเสียสละ ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ ประชาชน โดย “ส่วนรวม”
ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ “ส่วนตัว”
และถึงวันนี้ ประตูการเมืองก็คง “ปิดตาย” สำหรับคนชื่อ “ทักษิณ” ไปเรียบร้อย เพราะไม่เพียงรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ผู้ที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ห้ามลงสมัคร ส.ส. และเป็น “บุคคลต้องห้าม” สำหรับตำแหน่งนายกฯ ด้วย
แต่ยังข้อห้ามที่ไม่ได้เขียนไว้ในมาตราใดๆ ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติที่พึงมี ของคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ จะต้องยึดถือในเรื่องความ “สัตย์ซื่อ-สุจริต” เป็นที่ตั้ง
ไม่ใช่ตลบตะแลง เจ้าเล่ห์เพทุบาย เก่งกาจซุกซ่อน อำพราง แสวงหาประโยชน์ และปลิ้นปล้อนหลอกลวงกันซ้ำซาก!!