เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล พฤติกรรมผู้บริโภคจึงเป็น มนุษย์รักสบาย”หรืออีกนัยกลายเป็น “คนขี้เกียจ” ที่ต้องอดทนรอหรือทำสิ่งต่างๆ ที่เทคโนโลยีช่วยประหยัดเวลา ทำให้เกิด Lazy Economy (เศรษฐกิจคนขี้เกียจ) ที่ตอบโจทย์คนรักสบายโกยเงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU จัดทำวิจัย เจาะลึกอินไซต์…พิชิตใจคนขี้เกียจ (Lazy Consumer) กำลังเป็นที่จับตามองและเป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ในยุคนี้
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะตอบโจทย์การประหยัดแรงงานและเวลา จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคม คนรักสบาย”หรือ ความขี้เกียจ”นั่นเอง
ส่งผลให้ “เศรษฐกิจขี้เกียจ” (Lazy Economy) ที่มาจากความต้องการความสะดวกสบายในชีวิต โดยผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินหากสินค้าหรือบริการนั้นๆ ช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด ทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมสูง ที่เห็นชัดเจนคือ ธุรกิจขนส่ง ฟู้ดเดลิเวอรี่ ธุรกิจจองคิว ขายสินค้าออนไลน์ อาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตในปัจจุบัน
กลุ่มรักสบาย “จ่ายหนัก”
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ศึกษาเกี่ยวกับความขี้เกียจโดยใช้หลักเกณฑ์ในการเดินเป็นตัววัดค่าความขี้เกียจ จากกลุ่มตัวอย่าง 7 แสนคน ใน 46 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยติดอยู่อันดับ 31 ของโลก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,764 ก้าวต่อวัน
สำหรับการตลาดขี้เกียจหรือเศรษฐกิจขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หลังจากที่ “เถาเป่า” (Taobao) ผู้ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนได้เก็บข้อมูลของลูกค้าและพบว่าคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 1995 มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์สำหรับคนขี้เกียจมากถึง 70% ผู้บริโภคจีนใช้เงินซื้อสินค้าเหล่านี้ไปราว 2,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการจับจ่ายสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหารพร้อมรับประทาน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์ดิจิทัล และเครื่องสำอาง
พบว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงใน Taobao 1. อายแชโดว์แบบปาดครั้งเดียวจบ จากพฤติกรรมอยากสวยแต่ไม่มีเวลา 2. หม้อร้อนอเนกประสงค์ คือ พฤติกรรมอยากทำอาหาร แต่ขี้เกียจเก็บล้าง 3. เก้าอี้เล่นเกมปรับนอนได้ คือ อยากนั่งเฉยๆ ไม่อยากลุกไปไหน 4. เครื่องใช้ภายในบ้านอัจริยะ จากพฤติกรรมอยากให้บ้านสะอาด แต่ขี้เกียจทำ
ไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายในเรื่องความขี้เกียจ เพราะขณะนี้เริ่มมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร (Food Delivery) ที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดี แต่ไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิวหรือเดินทางไปซื้อเอง
Lazy Economy ถือว่าเป็นเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ตัวอย่างธุรกิจต่างประเทศที่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค เช่น IBM มีโดรนส่งกาแฟ เมื่อตรวจพบว่าผู้บริโภคกำลังรู้สึกเหนื่อย, Walmart ส่งอาหารเข้าตู้เย็นเมื่อลูกค้าขี้เกียจออกไปซื้อของข้างนอก, Gojex บริการส่งน้ำมันให้ เมื่อลูกค้าขี้เกียจไปรอคิวที่ปั๊ม
ในต่างประเทศยังมีธุรกิจหรือบริการรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถตอบสนองความขี้เกียจได้ อาทิ เครื่องพับผ้า เครื่องช่วยแปรงฟัน เว็บไซต์ที่ช่วยเลือกเสื้อผ้า บริการจัดส่งวัตถุดิบปรุงอาหารพร้อมวิธีการทำ ฯลฯ
“10 กิจกรรม” คนไทยขี้เกียจ
จากงานวิจัยการทำการตลาด Lazy consumer ในสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers
พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่คนไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่ 1. ออกกำลังกาย 84% 2. รอคิวซื้อของ 81% 3. ทำความสะอาดบ้าน 77% 4. อ่านหนังสือ 70% 5. ทำอาหาร 69 % 6. พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68% 7. ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 8. เรียน/ทำงาน 65% 9. ออกไปช้อปปิ้ง 64% และ 10. เดินทางไปไหน มาไหน 60%
อย่างไรก็ตาม “ระดับความขี้เกียจ” โดยเฉลี่ยต่อกิจกรรมนั้นๆ อันดับแรก คือ รอคิวซื้อของ ตามมาด้วย การออกกำลังกาย การทำความสะอาด ทำอาหาร อ่านหนังสือ เดินทางไปไหนมาไหน พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ เรียน/ทำงาน ออกไปช้อปปิ้ง และดูแลผิวพรรณตัวเอง
ท็อป 5 พฤติกรรมขี้เกียจ
จากการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุด ประกอบด้วย
1. กลุ่มมนุษย์อยากดูดี แต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกาย คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84% หรือประมาณ 55 ล้านคน จากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน
2. มนุษย์ชอบช้อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 81% หรือประมาณ 53 ล้านคน
3. มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคน
4. มนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆ ก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 70% หรือประมาณ 46 ล้านคน
5. มนุษย์ชอบกินแต่ไม่อินทำอาหารหรือขี้เกียจทำอาหาร พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น
5 ธุรกิจครองใจคนรักสบาย
จากการวิจัยยังพบว่า 5 ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงในไทยและคาดว่าในอนาคตจะสามารถครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี คือ 1. ธุรกิจที่ทำแทนได้ อาทิ ทำบริการความสะอาดบ้าน บริหารสั่งอาหาร บริการซื้อของแทน 2. ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ อาทิ สินค้าประเภท Automation และ Hand Free 3. ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม 4. ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์ 5. ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast content หรือ VDO content
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและบริการเหล่านี้ในอนาคตคาดว่าจะได้รับความนิยมและตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มคนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาแนวทางทำธุรกิจอาจจะหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมตลาดคนขี้เกียจและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
กลยุทธ์ “SLOTH” จับ Lazy consumer
ฝนทิพย์ กิตติประเสริฐแสง หัวหน้าทีมงานวิจัยการทำการตลาด Lazy consumer นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองนั้น เจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว
โดยกลยุทธ์ “SLOTH” ประกอบด้วย Speed คือต้องมีความรวดเร็วและต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา Lean กระชับ ตัดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน Enjoy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ Convenient สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้นและสุดท้าย คือ Happy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด