“จานดาวเทียม” ส่งสัญญาณสารพัดช่อง

“ถูก ชัด หลากหลาย และง่าย” 4 คีย์เวิร์ดที่ทำให้วันนี้ธุรกิจ “ฮาร์ดแวร์” อย่างการผลิตและติดตั้งจานดาวเทียม เติบโตจากมูลค่าไม่กี่สิบล้าน เป็นพันล้านบาท ทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามระเบียงบ้าน และบนตึกสูง มีทั้งจานเล็กสีแดง ขาว ส้ม เหลือง และจานสีดำ เรียงรายกันอย่างหนาแน่น

ถูก คือราคาของจานดาวเทียมที่ใกล้เคียงกับเสาอากาศ
ชัด คือการชมได้ชัดกว่า
หลากหลาย คือการได้ชมช่องรายการมากกว่าแค่ดูฟรีทีวี 6 ช่อง
ง่าย คือการระบบที่ติดตั้ง และใช้งานง่ายขึ้นสำหรับผู้ชม

ถ้าไม่มีจานดาวเทียม ก็ดูทีวีนับร้อยช่องไม่ได้ และถ้าผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่ทุ่มเปิดช่องรายการมากขึ้น จานดาวเทียมก็ไม่ผุดขึ้นกันอย่างหนาตา เป็นธุรกิจแบบไก่กับไข่ที่ต่างเกื้อกูลกัน

ปี 2552 ธุรกิจจานดาวเทียมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท กับปริมาณจานที่ถูกติดตั้งไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านจุด ส่วนในปี 2553 คาดว่าจะเติบโตอีกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านจาน และจนกว่าจะถึงปี 2556 มีตลาดอีกอย่างน้อย 10 ล้านจาน เมื่อเสาอากาศหมดไป ซึ่งจำนวนกว่า 22 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมดนั้นบ้านไหนไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวี ก็ต้องติดจานดาวเทียม

ตลาดจานดาวเทียมวันนี้ คือวันที่ทุกคนต่างจ้องคว้าโอกาสทองที่อยู่ไม่ไกล

ในสงครามแข่งขันกัน “ผลิตและติดจาน” มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทางเทคนิคแบ่งได้เป็น 2 กุล่มคือ กลุ่มจานเล็ก รับสัญญาณ เคยู แบนด์ ที่เมื่อฝนตก มีเมฆหนาทึบ จะรับภาพไม่ชัด และมีจำนวนช่องจำกัดจากการบีบอัดสัญญาณ และกลุ่มจานใหญ่ ซีแบนด์ ที่ยังรับภาพได้ดีเมื่อฝนตก และจำนวนช่องจากหลายประเทศมากกว่า

สำหรับการลงทุนของผู้ชมการจ่ายค่าติดตั้ง เฉลี่ย 2,000-3,000 บาท และไม่มีรายจ่ายต่อเดือน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคคนไทยที่ไม่ต้องการจ่ายค่าชมทีวี จากการความคุ้นเคยของการดูฟรีทีวีมาโดยตลอด

ยกเว้นของเคยูแบนด์ จานแดงของ “ทรูวิชั่นส์” ที่เสมือนผู้ชมได้ดูฟรี แม้ต้องจ่ายขั้นต่ำ 300 บาทต่อเดือน จากการพ่วงแพ็กเกจค่าบริการรายเดือนโทรศัพท์มือถือทรูมูฟ และอินเทอร์เน็ต ทรูออนไลน์

โมเดลธุรกิจจาน ที่อยู่รอดได้
สำหรับการตัดสินใจของผู้ชมที่จะเลือกติดตั้งจานขนาดใด และสีไหน นอกจากเทคนิคที่เลือกระหว่างซีแบนด์และเคยูแบนด์ จะพิจารณาจาก 1.จำนวนช่อง ที่มีเนื้อหาที่ต้องการ 2.โปรโมชั่นราคาจาน และ 3.พื้นที่ความสะดวกในการติดตั้ง

ผลจากความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ให้บริการจานต่างมีโมเดลธุรกิจที่คล้ายกัน คือการลด แลก แจก แถม ในการติดตั้ง โดยเฉพาะการนำเสาอากาศมาเป็นส่วนลดในการติดตั้งจานดาวเทียม ที่ต่างกันคือการพยายามหาช่องรายการมาเป็นจุดขาย ที่ชัดเจนคือในค่ายของเคยูแบนด์ อย่างจานสีส้ม “ไอพีเอ็ม” จานเหลือง “ดีทีวี” และจานแดง “ทรูวิชั่นส์”

“เบ็น วิวัฒน์วารินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทไอพีเอ็มทีวี จำกัด ผู้ประกอบการที่นอกจากผลิตจานแล้วยังมีช่องรายการทีวีดาวเทียมภายใต้แบรนด์ “เท็นทีวี” บอกว่า จุดขายของจานส้มคือผู้ชมจะได้ชมช่องรายการมากกว่า 80 ช่อง เป็นของเท็นทีวี 40 ช่อง

โมเดลธุรกิจของไอพีเอ็มทีวีนั้นไม่ได้มาจากการขายจานเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีรายได้อื่นที่เป็นหลัก คือ การรับบริการอัพลิงค์สัญญาณทีวีที่ไอพีเอ็มทีวีได้รับสิทธิให้บริการจาก แคท เทเลคอม นอกเหนือจากรายได้โฆษณาของ 40 ช่องของเท็นทีวี

ด้วยฐานธุรกิจที่แข็งแรง ไอพีเอ็มทีวีตั้งเป้าว่าปี 2553 จะติดตั้งจานส้มให้ลูกค้าได้อีกไม่น้อยกว่า 6 แสนจาน

ขณะที่จานเหลืองดีทีวีตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนจาน และแน่นอน จานแดงทรูวิชั่นส์ที่มีส่วนแบ่งตลาดในจานเล็กไม่ต่ำกว่า 50% ก็มีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านจาน

สำหรับค่ายบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของจาน “สีฟ้า” ที่เคยร่วมกับเจ้าของคอนเทนต์รายใหญ่ อย่าง เนชั่น และสยามกีฬา ต้องถอยออกจากวงการจานดาวเทียมไปพักใหญ่ หลังจากที่เจรจาตกลงรายได้และรายจ่ายกับช่องคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ได้ ทำให้ผู้รับชมหันไปติดจานอื่นแทนเพราะจำนวนช่องน้อย

“สามารถ” กำลังพยายามกลับมาอีกครั้ง ซึ่ง “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่าเขากำลังทำโปรเจกต์เพื่อขายจานดาวเทียมให้ลูกค้าไม่เกิน 500 บาท

โมเดลที่สามารถฯ กำลังพยายามคือการร่วมมือกับแคทเทเลคอม เสนอแพ็กเกจราคาให้ผู้ชมติดจานในราคาถูก โดยทั้งสองจะมีรายได้จากการดึงช่องรายการต่างๆ มาลง และขอแบ่งรายได้จากโฆษณาประมาณ 10-30% แต่โมเดลเพิ่งเริ่มเจรจา และยังไม่มีเจ้าของคอนเทนต์ใดตอบตกลง ตลาดนี้สำหรับสามารถฯจึงยังต้องรออีกต่อไป

จานเดียวอาจไม่พอ
จานดาวเทียมต่างสี สะท้อนถึงผลิตภัณฑ์ข้างในคือช่องรายการที่ต่างกัน กลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องพยายามศึกษา เพื่อเลือกให้ตรงความต้องการมากที่สุด ทุกค่ายทุกจานจึงต้องมีช่องทางสื่อสารที่สามารถบอกคุณสมบัติสินค้าข้างในได้ชัดเจน ตั้งแต่โบรชัวร์โปรโมชั่นติดจาน ที่มักจะไฮไลต์ช่องเด่นๆ หรือเว็บไซต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลเซ็นเตอร์ที่พนักงานแทบจะท่องช่องรายการได้ทั้งหมด

ภาพที่เห็นคือหลายบ้านติดจานดาวเทียมไว้อย่างน้อย 2 จาน เพราะบางคนอยากดูหลินปิง หรือเรียลลิตี้โชว์ เอเอฟ แต่จานทั่วไปไม่มีก็ต้องเลือกจานแดงทรูวิชั่นส์ หรือบางคนอยากดูข่าวเอเอสทีวี เป็นแฟนประจำกลุ่มเสื้อเหลือง ก็ต้องจานขาวเอเอสทีวี และจานดำซีแบนด์

หากเป็นจานส้มไอพีเอ็มทีวี ก็ดูได้ทั้งช่องเอเอสทีวี และช่องเสื้อแดง แต่ถ้าเป็นจานเหลืองดีทีวี ก็ไม่มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่มีของเครือข่ายเสื้อแดงคือ Voice TV ที่บุตรชาย “ทักษิณ ชินวัตร” เปิดตัวเป็นเจ้าของ ที่มีตั้งแต่ช่องข่าวไปจนถึงบันเทิง

ปรากฏการณ์ของทีวีดาวเทียมที่เห็นเวลานี้ คือนอกจากช่องรายการ คอนเทนต์กำลังแข่งกันอย่างดุเดือดแล้ว ห่วงโซ่ธุรกิจที่เกิดขึ้นตามมาอย่างจานดาวเทียม จึงกำลังเดือดไม่แพ้กัน

ประเภทของจานรับสัญญาณ

ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2553

ย่านความถี่ C-band ขนาดเฉลี่ย 1.50 ซม.
ลักษณะและแบรนด์ ราคาประมาณ (ค่าติดตั้งจ่ายครั้งเดียว)
Psi 2,500-3,500 บาท
Dynasat 3,500 บาท

ย่านความถี่ Ku-band ขนาดเฉลี่ย 60 ซม.
ลักษณะและแบรนด์ ราคาประมาณ (ค่าติดตั้งจ่ายครั้งเดียว)
จานเหลืองดีทีวี 1,900 บาท
เอเอสทีวี 1,650 บาท
จานแดงทรูวิชั่นส์ 3,500 บาท
จานส้มไอพีเอ็ม 3,300 บาท
จานฟ้าสามารถ 3,000 บาททรูวิชั่นส์ * ค่าสมาชิก 300-2,000 บาท

ที่มา : POSITIONING รวบรวม