ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก “ขยะ” พลาสติก เป็นสิ่งที่สังคมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องร่วมกันแก้ไข ตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ “รีไซเคิล” ฝั่งผู้บริโภคเองก็ต้องร่วมมือคัดแยกขยะ เพื่อนำกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้ 100%
ปัจจุบัน “คนไทย” สร้าง “ขยะ” ทุกประเภทมีปริมาณถึง 400 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้ขยะขวดพลาสติกนำกลับมารีไซเคิลได้ 80% นั่นหมายถึงปริมาณขยะอีก 20% ยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม!
จรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT กล่าวว่า การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PET ตั้งแต่ปี 2012 ของเป๊ปซี่ มาจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการบริโภคในสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถ “รีไซเคิล” ได้ไม่รู้จบ
นโยบายของเป๊ปซี่โค ทั่วโลกวางเป้าหมาย ปี 2025 ทุกบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มต้องรีไซเคิลได้ 100% เช่นเดียวกับ ซันโทรี่ ที่กำหนดไว้ในปี 2030
หนุนสังคมไทย “รีไซเคิล” ขยะ
สำหรับประเทศไทย SPBT ส่งเสริม “สังคมรีไซเคิล” โดยร่วมมือกับ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ที่จะรับซื้อขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วของผลิตภัณฑ์ “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค” ในราคาสูงกว่าราคาขวด PET ทั่วไป กิโลกรัมละ 1 บาท โดยขวด PET ใส ทั่วไป กิโลกรัมละ 9.40 บาท ส่วนขวด PET ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค กิโลกรัมละ 10.40 บาท
โดย SPBT จะรณรงค์ให้ร้านค้า ร้านอาหาร ที่เป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดพลาสติกใช้แล้วของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เพื่อนำมาขายให้กับ วงษ์พาณิชย์ ซึ่งมีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 1,700 จุด เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและนำกลับมารีไซเคิลได้มากขึ้น
“หากคนไทยใส่ใจคัดแยกขวดพลาสติก มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปรีไซเคิล ขวดพลาสติกก็จะไม่กลายเป็นปัญหาที่เรียกว่าขยะอีกต่อไป”
ดร. สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้ง บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีขยะ 27.93 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกอยู่ราว 2 ล้านตัน เป็นขวดพลาสติก PET จำนวน 330,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น ขวดพลาสติกชนิดขาวใส 280,500 ตันต่อปี ขวดพลาสติกชนิดขาวออกฟ้า 222,500 ตันต่อปี เป็นแผ่นฟิลม์สำหรับทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ 45,900 ตันต่อปี
ปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET ในประเทศไทยสามารถจัดการได้ประมาณ 80% ของ PET ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 20% ต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลก
ดังนั้นหากผู้ประกอบการและผู้บริโภคร่วมมือกันคัดแยกขยะอย่างจริงจัง เพื่อนำอีก 20% กลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ จะสามารถลดปริมาณขยะที่ได้นำไปฝังกลบ และเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อมไปได้มาก และเป็นการสร้างสังคมรีไซเคิลให้กับประเทศไทย โดยวงจรชีวิตของขวด PET สามารถนำมารีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ.