Foursquare กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็น Social Network แห่งปี 2010 นี้ที่จะมาแรงตามรอยความสำเร็จของ Facebook และ Twitter จากจุดเด่นของการเป็นเว็บที่ช่วยให้เล่นโทรศัพท์มือถือได้สนุกขึ้น เช่นใช้ดูว่าเพื่อนๆในเฟซบุ๊กทวิตเตอร์กำลังนั่งจิบกาแฟร้านไหน ใช้ดูว่าร้านอาหารที่เราเข้าไปนั่งนั้นมีคนอื่นๆ กี่คน? มีเพื่อนเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ของเรานั่งอยู่หรือไม่? และดูว่าร้านนั้นมีเมนูอะไรอร่อยจากคอมเมนต์บนโฟร์สแควร์ที่มีคนอื่นเคยลงไว้แล้ว
ธุรกิจร้านค้าไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือร้านกาแฟเล็กๆ เวลานี้ต่างพากันเข้าเว็บโฟร์สแควร์ เพราะมองว่านี่คือเครื่องมือสำรวจวิจัยชั้นดี ที่ใช้ดูว่ามีใครบ้างที่กำลังนั่งที่ร้านของเรา มีใครบ้างที่กำลังนั่งอยู่แถวนั้น และยังรู้ได้ลึกถึงขนาดว่าลูกค้าคนนั้นเป็นขาประจำหรือขาจร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ร้านค้าสามารถนำไปทำ CRM หรือแจกบัตรลดโปรโมชั่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำถูกตัว ประหยัดต้นทุนโฆษณา และทุ่นแรงไม่ต้องทำสำรวจวิจัยให้ยุ่งยาก
การที่โฟร์สแควร์สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้มือถือนับล้านๆ ทั่วโลก ให้ “ติด” หยิบโทรศัพท์มือถือออกมาเพื่อ “Check-in” ประกาศที่อยู่ตัวเองใน FourSquare.com ได้อย่างสม่ำเสมอ ก็เพราะผู้ใช้มือถือเหล่านั้นรู้สึกว่าพวกเขากำลัง “เล่นเกม” แข่งขันกับเพื่อนๆ อยู่
ทั้งนี้เพราะโฟร์สแควร์มีกติกาว่า ยิ่งใคร Check-in บ่อย ก็ยิ่งได้คะแนนมาก ได้อันดับเหนือกว่าเพื่อนๆ ได้ประดับยศเป็นเจ้าถิ่น (Mayor) ในสถานที่ที่ไปบ่อยๆ ให้คนอื่นๆ ได้เห็น เป็นความบันเทิงในลักษณะเดียวกับเกมบนเครือข่ายสังคมทั้งหลายเช่นเกมบนเฟซบุ๊ก
ในสหรัฐอเมริกา ร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ มากมาย จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนักเล่นโฟร์สแควร์ ซึ่งจะมีประวัติ ชื่อ นามสกุล ข้อมูลส่วนตัว นำไปใช้เป็นเครื่องมือการตลาด แจกบัตรส่วนลด หรือโปรโมชั่นให้กับผู้เล่นเหล่านี้ได้ตรงตามกลุ่ม เรียกว่าเป็นเครื่องมือทำการตลาดแบบ One – to – One ที่ง่ายและประหยัดกว่าวิธีอื่นๆ อย่างชัดเจน
เมื่อมีทั้งความสนุก และได้ส่วนลดต่างๆ ผู้ใช้มือถือในสหรัฐฯ จึงพากันติดเว็บ FourSquare.com จนโด่งดังมีผู้ใช้นับล้านในเวลาไม่กี่เดือนหลัง กลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อการตลาดและไอทีช่วงต้นปี 2010 ส่วนในไทยเองก็เริ่มเป็นที่นิยมและประมาณกันว่าอาจมีผู้ใช้อย่างน้อยหลายพันคนแล้ว
โมเดล “ลดแลกแจกแถม” ผ่านโฟร์สแควร์นี้ ถูกผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าพร้อมจะถูกใช้ในไทยเสมอหากว่ามีฐานผู้ใช้มากพอ
ล่าสุดโฟร์สแควร์ในไทยนั้นกำลังอยู่ในระยะเริ่มบูม ล่าสุดช่วงวาเลนไทน์ ทีมงานนิตยสาร POSITIONING ทดลองเปิดเว็บโฟร์สแควร์ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในย่านสยามฯ พบว่ามีผู้ใช้โฟร์สแควร์อยู่ในร้านถึง 5 คน จากลูกค้าในร้านขณะนั้นราว 30 คน โดยมีอย่างน้อย 2 คนเป็นชาวไทยและใช้ทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กเป็นประจำ
นอกจากจุดเด่นที่รวม แผนที่ + เครือข่ายสังคม + เกมแข่งขันกับเพื่อนๆ ไว้ด้วยกันแล้ว จุดเด่นอีกอย่างของโฟร์สแควร์ก็คือใช้ง่าย กดไม่กี่ปุ่มก็บอกเพื่อนๆ ทั้งใน Facebook และ Twitter ได้ทันทีว่าเรากำลังอยู่ที่ไหน เพราะมือถือจะดึงชื่อสถานที่จาก Cell Site โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องลงมือพิมพ์เอง
ในอดีต เว็บอาหารและเว็บแผนที่อาจจะตั้งคำถามกับผู้ใช้ว่า “คุณกำลังไปที่ไหน?” แต่เมื่อถึงยุคสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตมือถือมาถึง คำถามจึงกลายเป็น “คุณกำลังอยู่ที่ไหน?” , “มีใครอยู่ใกล้คุณบ้าง?” จึงเป็นความท้าทายของผู้ผลิตเว็บ ซอฟต์แวร์ และธุรกิจต่างๆ ที่จะต้องหาวิธีใหม่ๆ มาตอบโจทย์นี้ให้ได้
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและบริหาร Tarad.com, ThaiSecondhand.com twitter.com / pawoot
“ผมเคย Check-in เข้าไปที่ร้านแห่งหนึ่งย่านเอกมัย แล้วแนะนำ “To do” ไว้ว่า ถ้าคุณมาย่านนี้ ก็ควรแวะร้านนี้ สั่งอาหารเมนูนี้มากิน อีกครั้งคือการเพิ่ม Tips ว่าถ้าคุณไปแถวอารีย์ ควรไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านนี้”
ภาวุธสังเกตว่าว่าคนไทยที่เข้ามาใช้บริการของ Foursquare ในเมืองไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน เดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบันน่าจะมีคนใช้หลายพันคนแล้ว ด้วยเวลาเพียงเดือนกว่าๆ และจำนวนของสถานที่ Check-in ใน Foursquare ก็เพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก
ฉกาจ ชลายุทธ ผู้เชี่ยวชาญเครือข่าย Social Network และผู้บริหารบริษัท Thoth Media
twitter.com / molek
“แอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับแผนที่ (Geolocation) ทั่วๆ ไปจะเพียงการบอกบนแผนที่ว่าตรงไหนมีอะไร แต่ Foursquare สร้างความแตกต่าง ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกที่จะใช้ในการปักป้ายบอกว่าสถานที่ตรงนั้นคืออะไร” ฉกาจชี้จุดต่างที่สร้างให้ FourSquare เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วทั่วโลก เกิดรหัส “4sq” ปรากฏในข้อความทวีตต่างๆ มากมาย
ฉกาจ มองว่าโฟร์สแควร์มีจุดแข็งสำคัญ 4 จุด
“Social Incentive” ยิ่งเล่นยิ่งสนุกและได้แต้มแสดงถึงความเก๋าของแต่ละคน ยิ่งถ้าได้เป็นเจ้าถิ่น (Mayor)
“Social Interaction” คนที่ใช้จะแจ้งตำแหน่งของตัวเองออกไป ทำให้มีโอกาสเจอกับคนอื่นๆ ได้ง่าย
“Social Game” มันคือเกมอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณติดและใช้บ่อยๆ ได้ง่ายๆ เลยเพราะมีระบบแต้ม, ป้าย ที่คุณสามารถได้มาระหว่างใช้
“Social Word of Mouth” สามารถเชื่อมต่อกับ Twitter และ Facebook ได้ ทำให้เกิดการบอกต่อได้ง่ายๆ
แต่ฉกาจมองว่า Foursquare ในไทยนั้นยังขาดแหล่งจูงใจให้คนเข้ามาใช้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เพราะร้านค้าต่างๆ ยังไม่ลงมาเล่นเท่าที่ควร ไม่เหมือนต่างประเทศที่มีร้านค้าและธุรกิจต่างๆ เข้ามาเล่นมากมาย ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปก็เป็นไปได้มากที่คนไทยที่เล่นอยู่จะเบื่อเลิกเล่นไป และไม่มีคนใหม่ๆ เข้ามา จนพ้นกระแสไปในที่สุด
กำเนิด FourSquare
FourSquare สร้างโดย Dennis Crowley ผู้ก่อตั้ง Dodgeball.com ซึ่งเป็น Social Network สำหรับมือถือในอเมริกา ซึ่งต่อมาถูก Google ซื้อไปในปี 2005 และ Dennis ลาออกจาก Google ในปี 2007
ปี 2009 เดนนิสมาเปิดบริการคล้ายๆ กับ Dodgeball ในชื่อ FourSquare.com โดยได้รับเงินทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอลชื่อ Union Square Ventures เป็นเงิน 1.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เปิดให้บริการในเดือน มีนาคม 2009 มีอัตราเติบโตถึงเดือนละ 50% และถึงหลักแสนไปในเวลาเพียง 6 เดือน และปัจจุบันทะลุหลักล้านไปแล้ว
ปัจจุบัน FourSquare ยังไม่มีรูปแบบโฆษณาที่ชัดเจน แต่อนาคตรายได้ของ FourSquare จะเป็นรูปแบบของโฆษณาที่เป็นท้องถิ่น (Local Business Advertising Platform) ระบบแจกคูปอง หรือป้ายสปอนเซอร์ ซึ่งจะเป็นหนทางที่สามารถสร้างรายรับได้