สรุปภาพรวมตลาดรถ 8 เดือนแรก “โตโยต้า” ยังครองแชมป์ ลุ้นสิ้นปีทะลุล้านคัน

ปิดยอดขายเดือนสิงหาคม ตลาดรถยนต์ส่งสัญญาณลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ค่ายรถชี้ไม่น่ากลัว เหตุรถใหม่ทยอยเปิดตัว เคลียร์สต็อกรุ่นเก่าทำให้ยอดขายหด เป็นเรื่องปกติ สรุป 8 เดือนยังบวกได้ รอลุ้น 3 เดือนสุดท้ายมั่นใจ ตลาดเมืองไทยยังทะลุหนึ่งล้านคัน ส่วนโตโยต้า เตรียมไม้เด็ด ปล่อย “อีโคคาร์ เฟส2” ส่วนอีซูซุ สร้างเซอร์ไพร์ซ เปิดตัวกระบะใหม่

ตลาดรถยนต์ของประเทศไทย หลังจากที่สร้างสถิติทำยอดขายทะลุ 1 ล้านคันได้เมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่มีมาตรการส่งเสริมใดๆ จากภาครัฐ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในระดับที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นกล้าออกรถใหม่ ซึ่งกระแสดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยยอดขายเมื่อผ่านครึ่งปีแรก ทำสถิติบวกเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง

แต่แล้ว ในช่วงกลางปีนี้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า หนี้ครัวเรือนของประชาชนชาวไทย เริ่มมีปัญหา และการปล่อยสินเชื่อรถยนต์กลายเป็นหนึ่งในหนี้เสียที่สำคัญ จึงทำให้แบงค์ชาติ ออกมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ สั่งสถาบันการเงินตรวจสอบผู้ขอสินเชื่ออย่างรัดกุมมากขึ้น

ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้ร้ายทันที เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่ายรถทำให้ยอดขายในช่วง 3 เดือนล่าสุด (มิถุนายน ถึง สิงหาคม) เติบโตลดลงต่อเนื่อง โดยเดือนสิงหาคมลดลงถึง 6.9% เมื่อเทียบกับยอดขายของปีที่แล้ว ส่งสัญญาณลบ ที่ทำให้บรรดาค่ายรถอาจจะต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา ดูยอดขายให้ลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่า เดือนสิงหาคม รถยนต์นั่งยอดขายตกลงไปเพียงเล็กน้อย 3.3 % เท่านั้น ส่วนที่ตกลงหนักคือ รถเพื่อการพาณิชย์ 9.2% และเฉพาะปิกอัพ ลดไปถึง 7.5% โดยยอดขายที่หดหายไปเป็นของค่าย อีซูซู

ถ้าในสถานการณ์ปกติ ยอดขายที่ร่วงไปแบบนี้ คือสัญญาณลบอย่างแน่แท้ แต่ในห้วงเวลานี้ คำตอบว่า ทำไม ยอดขายรถปิกอัพ อีซูซุ จึงชะลอตัวลง ได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า

“อีซูซุ จะเปิดตัวรถปิกอัพ ดีแมคซ์ โฉมใหม่ทั้งคัน (All New Isuzu D-MAX) ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้”

ดังนั้นทุกครั้งก่อนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ทุกค่ายรถจะมีการเคลียร์สต็อกรถรุ่นเก่าออก โดยผลิตน้อยลง เพื่อให้สอดรับกับห้วงเวลาของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ไม่ให้เป็นภาระของดีลเลอร์ในการแบกสต็อกรถรุ่นเก่าเอาไว้นั่นเอง ฉะนั้นยอดขายที่ดูเหมือนหดตัวอย่างแรง จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

สำหรับข้อมูลของอีซูซุ ดีแมคซ์ ใหม่ ยังคงเป็นความลับ แม้จะมีภาพหลุดออกมาบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจน ส่วนเครื่องยนต์มีกระแสข่าวว่า รุ่น 3.0 ลิตร จะถูกแทนที่ด้วยบล็อกขนาดความจุ 2.4 ลิตร เทอร์โบ ก็ยังคงเป็นเพียงข่าวลือที่ต้องรอคำตอบในวันที่ 11 ตุลาคมนี้เท่านั้น

ขณะที่ฝากฝั่งของรถยนต์นั่งเอง ยอดขายที่หดตัวไป ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นผลโดยตรงมาจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะค่ายที่เน้นการขายรถเล็ก ในเซ็กเมนท์ อีโคคาร์ และไม่มีรถรุ่นใหม่ ในหมวดนี้ เช่น ซูซูกิ และมาสด้า ซึ่งเดินเกมส์ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นหลัก ประกอบกับ กลุ่มของลูกค้าของรถเล็กมักจะเป็นรถคันแรกของบ้านหรือผู้มีรายได้ไม่สูง ดังนั้น จึงมีโอกาสในการถูกปฏิเสธสินเชื่อได้ง่าย

ส่วนค่ายที่มีรถใหม่ เตรียมปล่อยของในช่วงปลายปีอย่าง โตโยต้า ก็จะมีการเคลียร์สต็อกเก่า ลดกำลังการผลิตด้วย ทำให้ยอดขายไม่พุ่ง จนกว่ารถใหม่จะเปิดตัว โดยเป็นที่คาดหมายว่า อีโคคาร์ เฟสสอง ของโตโยต้า จะเปิดตัวได้ทันในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ ส่วนจะเป็นรุ่นชื่อว่าอะไรนั้น ยังคงเป็นปริศนาอยู่

ทั้งนี้ รถยนต์ที่จะผลิตภายใต้ โครงการอีโคคาร์ เฟสสอง นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของความเข้มงวดทั้งด้านการประหยัดพลังงานและการปล่อยไอเสีย จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทย มากกว่าอีโคคาร์ เฟสหนึ่ง

รถใหม่ในโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ของโตโยต้า นั้นยังไม่มีข้อมูลใด หลุดออกมาในเวลานี้ มีเพียงการคาดเดาว่า อาจจะหยิบเอา ยาริส มาใส่เครื่องใหม่ หรือ พัฒนา วิออส ใหม่ออกมา เพื่อรักษารถในตระกูลนี้เอาไว้ เนื่องจากเป็นรถที่เกิดขึ้นมาเพื่อประเทศไทยโดยตรง ถ้ายุติการทำตลาดไป คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งของโตโยต้า

เหนืออื่นใด นอกจาก 2 โมเดลจากอีซูซุ และโตโยต้า ที่จ่อคิวเปิดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว ยังมีรถยนต์รุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวกันไปหมาดๆ ไม่ว่าจะเป็น “โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส เจเนอเรชันที่ 12” และ “มาสด้า 3 เจเนอเรชันที่ 4“ ซึ่งสองรุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างน่าทึ่งหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการยอดจองทะลุเป้า ปลุกกระแสรถยนต์นั่งขนาดคอมแพคให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

รวมถึงการเปิดตัว “เอ็มจี เอชเอส“ เอสยูวีใหม่ที่มาแทนรุ่นจีเอส “เอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์” ปิกอัพใหม่ถอดด้าม ซึ่งมีแผนเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าได้ราวเดือนพฤศจิกายนนี้ “มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต” ที่แม้จะเป็นเพียงไมเนอร์เชนจ์ แต่กระแสตอบรับถือว่าดีเยี่ยม และ “เชฟโรเลต แคปติวา” การทิ้งไพ่ใบสุดท้ายของจีเอ็มในประเทศไทย

ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนของปีนี้ มีรถรุ่นใหม่พร้อมขายและรับยอดจองกันมาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ตัวเลขยอดขายจึงมีแนวโน้มพุ่งขึ้น อย่างไม่น่าวิตกกังวลแต่ประการใด เมื่อรถใหม่ทั้งหมดที่เปิดตัวทยอยส่งมอบให้ลูกค้าได้ตามกำหนด

ถึงบรรทัดนี้ หากมองภาพตลาดรถยนต์รวม 8 เดือนแรกของปี ตัวเลขยังเป็นบวกด้วยอัตราการเติบโต 4.2% ต้องเรียกว่า “สดใส” ท่ามกลางภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ประเทศไทยยังมียอดขายท่ีเติบโตได้อยู่ ส่วนช่วงกลางทางอาจจะมียอดขายแกว่งสวิงลงไปบ้างก็ด้วยเหตุปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับไตรมาสสุดท้ายด้วยรถใหม่ที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า ตลาดรถยนต์ไทย “ปิดบวก” อย่างแน่นอน.

Source