Uniqlo เปิดยอดขายทะลุ 1 ล้านล้านเยน โชว์กำไรสูงทุบสถิติ 3 ปีซ้อน!

Fast Retailing บริษัทแม่ Uniqlo โชว์ผลกำไรไตรมาสล่าสุดเติบโตทำสถิติใหม่ แม้กำไรของ Uniqlo Japan จะหดตัวแต่ Uniqlo International ทำยอดขายทะลุ 1 ล้านล้านเยนเป็นครั้งแรก คุยฟุ้งภาวะกำไรพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์นั้นเกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ปีแล้ว ส่งให้มูลค่าหุ้น Fast Retailing เพิ่มขึ้น 2.5% ทันทีที่ประกาศผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า Uniqlo อาจเข้าสู่ช่วงการเติบโตชะลอตัวเพราะภาวะตลาดไม่แน่นอน ประเมิน Uniqlo จะมีโอกาสงดงามรออยู่ในตลาดออนไลน์ของแดนโรตี แต่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งอาจขวางไม่ให้ Fast Retailing เติบโตเท่าที่ควร

ตัวเลขสวยแต่สัญญาณน่าเป็นห่วง

Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ Uniqlo กล่าวว่าบริษัทได้ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.1% ปิดฉากปีการเงิน 2019 ของบริษัทที่สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2019 ได้ตามเป้าหมายที่มีการคาดกันไว้ 

แต่ตัวเลขที่พลาดเป้าคือการประเมินกำไรสุทธิในปีหน้า เพราะปี 2020 ต้นสังกัด Uniqlo มองว่าผลกำไรจากการดำเนินงาน Fast Retailing จะเติบโต 6.7% เท่านั้น ต่ำกว่านักวิเคราะห์ที่มองว่าการเติบโตของกำไร Fast Retailing น่าจะสูงขึ้นอีก 15% 

Peter Boardman กรรมการผู้จัดการของบริษัทวิจัย NWQ Investment Management ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่าแม้ Fast Retailing จะมีแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมในมือ แต่ตลาดรอบด้านมีความไม่แน่นอนมากมาย ซึ่งทำให้มีโอกาสที่การเติบโตของธุรกิจ Fast Retailing จะชะลอตัวลงในหลายด้าน

จุดสำคัญที่นักวิเคราะห์มองคือเศรษฐกิจจีน ที่มีแนวโน้มชะลอตัวหลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องหลายปี การหดตัวของกำลังซื้อแดนมังกรคาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงกับเจ้าของแบรนด์แฟชันอย่าง Fast Retailing เนื่องจาก 35% ของผลกำไรของบริษัทมาจากประเทศจีน 

ดังนั้นการชะลอตัวใด ในประเทศจีน ย่อมส่งผลเสียต่อ Fast Retailing หรือ Uniqlo อย่างแน่นอน Boardman กล่าว

ประเทศจีนเป็นตลาดหลักของ Fast Retailing ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อต้นปีนี้ ต้นสังกัด Uniqlo ประเมินว่ายอดขายจากจีนแผ่นดินใหญ่จะแตะระดับ 1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท) ภายในปีงบประมาณ 2022 สัดส่วนนี้คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 5 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) ที่รายงานไว้ในปี 2019

Fast Retailing ยังเผชิญกับความท้าทายจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้บางรายคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น จนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Fast Retailing อย่าง Tadashi Yanai ยอมรับว่าเป็นปัญหาระดับร้ายแรง

สถานการณ์นี้เห็นชัดในปีงบประมาณ 2019 เพราะ Fast Retailing โชว์ตัวเลขว่าธุรกิจในเกาหลีใต้ทำรายได้และกำไรลดลง พร้อมกับยอมรับความจริงว่ารายได้ในเกาหลีใต้จะลดลงอย่างมากต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ 2020

นักวิเคราะห์ของ NWQ ประเมินว่าเกาหลีใต้คิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3% ของ Fast Retailing แม้จะเป็นตัวเลขสัดส่วนที่ต่ำแต่ก็เป็นเงินจำนวนมากที่จะหดหายไปจากกระเป๋าของ Fast Retailing

เปิดสาขาน้อยลง

ในอนาคต นักวิเคราะห์เชื่อว่า Fast Retailing จะเปิดสาขาใหม่น้อยกว่าเดิมมาก แต่ก็จะยังมีการลงทุนเพิ่มเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า บริษัทกำลังเติบโต จุดนี้มีความเป็นไปได้ที่ Fast Retailing จะเติบโตได้ดีในตลาดออนไลน์ รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ที่อินเดีย

Boardman วิเคราะห์ว่าปัจจุบัน ประมาณ 12% ของรายได้ Fast Retailing มาจากการขายผ่านออนไลน์ ตัวเลขนี้ Fast Retailing ต้องการดันให้เติบโตเป็น 30% ซึ่งแม้จะเป็นโอกาสที่ดี แต่ Boardman มองว่าอาจเป็นโอกาสที่ไม่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบที่ Fast Retailing ฝัน เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์เช่น Amazon และ Rakuten ซึ่งทำให้ Fast Retailing ต้องสร้างแบรนด์บนออนไลน์ให้แน่นกว่าเดิม

ก้าวสำคัญของ Fast Retailing ในปีนี้ต้องยกให้การเปิดสาขาแรกในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่นักวิเคราะห์มั่นใจว่าเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจาก Fast Retailing มีผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่สามารถดึงดูดชาวอินเดียได้ (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ซึ่งยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่า Fast Retailing จะล้มเหลวเหมือนในยุโรป ที่ไม่อาจเติบโตก้าวกระโดดได้อย่างที่หวังไว้หรือไม่.