รู้จัก “Brainwake Café” ร้านกาแฟเล็กๆ ที่กลุ่มสัมมากร-สหพัฒน์ฯ ยังต้องเข้าถือหุ้น

จากร้านกาแฟเล็กๆ บนถนนสุขุมวิท 33 เพิ่มเมนูอาหารสไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด ทั้งอาหารไทย และอาหารอินเตอร์ จนได้รับการตอบรับดี ตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันขยายสาไปแล้ว 8 สาขา

ร้านเล็กๆ ที่แบรนด์ไม่เล็กต้องขอจอยด้วย

จากศักยภาพที่โดดเด่น ทำให้ขยายปีกออกสู่ต่างประเทศ พร้อมเพิ่มทุนเป็น 150 ล้านบาท โดยมีกลุ่มสัมมากร และกลุ่มสหพัฒน์ฯ ได้เข้ามาร่วมถือหุ้น ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับร้านกาแฟที่ชื่อว่า “เบรนเวค คาเฟ่” (Brainwake Café)

แม้จะร้างลาจากวงการการเมืองมาแล้วหลายปี ก้าวเข้าสู่วงการนักธุรกิจแบบเต็มตัว อย่าง “นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ” ก็ยังไม่ทิ้งฝีมือด้านการบริหาร กับการนั่งตำแหน่ง ประธานกรรมการ เบรนเวค กรุ๊ป สามารถนำพาธุรกิจเตะตานักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศ อย่าง กลุ่มสัมมากร และกลุ่มสหพัฒน์ฯ ได้เข้ามาร่วมถือหุ้น

โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น คือ กลุ่มสัมมากร 19% กลุ่มสหพัฒน์ฯ 13% ในขณะที่นายสุรนันทน์ถือหุ้น 20% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่น และผู้ถือหุ้นคนไทยอีกกว่า 70 คน ซึ่งการเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่ในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นช่องทางการลงทุนในแบรนด์ร้านอาหารที่ยังไม่ใหญ่มากแต่มีศักยภาพที่จะเติบโต

โดยที่กลุ่มสัมมากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เรามีช่องทางในการหาทำเลที่เหมาะสม เพื่อขยายสาขาเพิ่ม พร้อมนำ เบรนเวค คาเฟ่ ไปเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ “สัมมากร เพลส” รวมถึง เพิ่มปริมาณการซัพพลายเบเกอรี่ให้ร้าน ลอว์สัน 108 ที่บริหารงานโดยกลุ่มสหพัฒน์ฯ

ขยายสาขา พร้อมกับส่งเบเกอรี่ให้ร้านใหญ่ๆ

สำหรับร้าน “เบรนเวค คาเฟ่ (Brainwake Café)” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 2 ล้านบาท โดยสาขาแรกเปิดบนที่ดินบ้านของตัวเอง บริเวณถนนสุขุมวิท 33 มีเมนูอาหารสไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด ทั้งอาหารไทย และอาหารอินเตอร์ ซึ่งได้การตอบรับที่ดีมาก มีลูกค้าชาวญี่ปุ่น ยุโรป และคนไทย มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

หลังจากเปิดสาขาแรกได้ 2 ปี จึงได้มาเปิดสาขาทองหล่อ เป็นแห่งที่ 2 โดยเป็นคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น ที่มีไลน์เบเกอรี่ที่คิดค้นสูตรและทำโดยเชฟชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นและเป็นซิกเนเจอร์ของเบรนเวค และเพื่อให้ได้เบเกอรี่ที่มีรสชาติและมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา จึงใช้ที่นี่เป็น “Bakery Lab” สำหรับผลิตเบเกอรี่และเค้ก เพื่อส่งไปยังสาขาอื่นๆ ที่ปัจจุบันมียอดขายรวมกันวันละประมาณ 3,000 ชิ้น โดยมีกำลังการผลิตได้สูงสุดได้ถึงวันละ 9,000 ชิ้น

ห้องผลิตเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่น

ปัจจุบันเบรนเวค คาเฟ่ มีทั้งหมด 8 สาขาที่เป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีอาหารและเครื่องดื่ม คือ สาขาสุขุมวิท 33, สาขาทองหล่อ, สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สาขาจี ทาวเวอร์, สาขามติชนอคาเดมี (เป็นครัวกลางที่ผลิตอาหารเพื่อส่งไปที่สาขาอื่นๆ), สาขาสัมมากร, สาขาโรงแรมชามา ซอยนานา, สาขาบางซื่อจังชั่น และอีก 1 สาขาที่เป็น “เบรนเวค คาเฟ่ แอนด์ เบเกอรี่” คือ สาขาลิโด้ คอนเน็คท์ ที่มีเฉพาะเบเกอรี่และเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังได้ซัพพลายเบเกอรี่ให้ร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน 108 (Lawson 108) อีก 20 สาขา

นอกจากนี้ เบรนเวค กรุ๊ป ยังได้ร่วมกับ Lichen International Group ผู้นำด้านธุรกิจอาหารจากประเทศไต้หวัน เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว “Mei Wei Wan” (เม่ย เว้ย หว่าน) สูตรไต้หวันดั้งเดิมสาขาแรกที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่เปิดให้บริการไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีแผนที่จะเปิดอีก 3 – 5 สาขา ภายในปี 2020

“แม้สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างถดถอย แต่ในปีนี้ เบรนเวค กรุ๊ป มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน จาก 43 ล้านบาท เป็น 52 ล้านบาท และคาดว่าในปีหน้าจะมีรายได้แตะ 100 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะขยายสาขาเบรนเวค คาเฟ่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 3 สาขา อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ขณะที่ร้าน “เบรนเวค คาเฟ่ แอนด์ เบเกอรี่” ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 8 – 10 สาขา โดยเน้นโลเคชั่นที่เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ๆ พร้อมซัพพลายเบเกอรี่ให้ร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน 108 เพิ่มเป็น 50 สาขา รวมถึงความร่วมมือที่จะซัพพลายเบเกอรี่ให้กับทาง Gourmet Market ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

สำหรับแผนการบริหารธุรกิจในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายสาขา เบรนเวค คาเฟ่ ในประเทศให้ได้ 20 สาขา และมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังต่างประเทศอีก 3 – 5 แห่ง เพื่อสร้างให้แบรนด์ไทยติดตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ โตเกียว ไทเป ซิดนีย์ เมลเบิร์น และนิวยอร์ก โดยมีแผนที่จะนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปีจากนี้.

Source