เจาะเบื้องหลังฟู้ด แฟคเตอร์ ธุรกิจอาหารในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่น เข้าซื้อกิจการร้านสเต๊กซานตา เฟ่ ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท เป็นการลุยธุรกิจอาหารเต็มสูบ หวังปั้นรายได้ 4,000 ล้านภายใน 3 ปี
รู้จัก “ฟู้ด แฟคเตอร์” ธุรกิจอาหารในเครือสิงห์
เป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ในวงการอาหาร เมื่อฟู้ด แฟคเตอร์ บริษัทในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่นที่นำทัพโดย “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ได้เข้าซื้อกินการร้านสเต๊กซานตา เฟ่ จากบริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) จำกัด ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 88% โดยที่ทาง KT ยังคงร่วมบริหารก่อน 3 ปี จากนั้นค่อยมีข้อตกลงกันใหม่
ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทแม่อย่าง “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือ สิงห์ คอร์เปอเรชั่นได้ให้น้ำหนักกับธุรกิจนอนแอลกอฮอล์มากขึ้น มีการ Diversify ไปยังธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย ทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจหลัก 6 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
- ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส
- ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท
- ธุรกิจซัพพลายเชนภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน
- ธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟคเตอร์
ในส่วนของธุรกิจอาหารที่แต่เริ่มเดิมทีไม่ได้มีการจัดกลุ่มที่ชัดเจนมากนัก จนเมื่อ 1 – 2 ปีที่ผ่านมาต้องการให้ภาพชัดเจนขึ้น ลงทุนหนักขึ้น ได้เปิดบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท หวังเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารแบบครบวงจร จากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) 2. กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) 3. กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail)
แน่นอนว่าการที่จะสร้างการเติบโตแบบรวดเร็วได้นั้น การซื้อกิจการจึงเป็นคำตอบแรกของการทำธุรกิจในยุคนี้ ฟู้ด แฟคเตอร์เองจึงมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยสร้างการเติบโตนั้น จึงเกิดเป็นดีลซื้อกิจการร้านซานตา เฟ่ นั่นเอง
ถ้าถามถึงเหตุผลในการเข้าลงทุนครั้งนี้ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ได้เปิดอกอย่างเต็มที่ สามารถสรุปได้ 5 ข้อใหญ่ๆ
1. เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอของฟู้ด แฟคเตอร์ ประกอบด้วยร้านฟาร์ม ดีไซน์ ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji และ Est33 โดยบริษัท เอสคอมพานี จำกัด ดูแลกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร
การที่ได้ร้านสเต็กซานตา เฟ่เข้ามาเติมพอร์ตเรียกว่าสามารถสร้างความแข็งแกร่งได้ เพราะซานตา เฟ่เองมีการทำตลาดมาเป็น 10 ปี เป็นร้านสเต๊กในระดับแมสที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปัจจุบันมี 117 สาขา
อีกทั้งเคทีฯ ยังมีร้าน “เหม็งนัวนัว” อีกแบรนด์ที่อยู่ในเครือเป็นร้านอาหารอีสาน ปัจจุบันมี 7 สาขา เรียกว่าได้ทั้งร้านสเต๊ก และร้านอาหารอีสานเข้ามาเติมพอร์ต
อีกทั้งร้านอาหารสเต๊กยังเป็นกลุ่มอาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีไม่มากนัก และคู่แข่งรายใหญ่ๆ ในตลาดมีเพียง 2 – 3 ราย นอกนั้นเป็นแบรนด์เล็กๆ และยังมีโอกาสขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย หลังจากก่อนหน้านี้นำร่องขยายไปแล้วที่กัมพูชา
2. เคมีตรงกัน คุยกันถูกคอ
ปิติเผยถึงเบื้องหลังของดีลนี้ว่า มีการพูดคุยเจรจากัน 9 เดือน เป็นช่วงจังหวะที่กองทุนที่ถือหุ้นใหญ่ของเคทีฯ ได้ถอนตัวออกพอดี ฟู้ด แฟคเตอร์จึงได้จังหวะเข้าลงทุนต่อด้วยสัดส่วน 88% สิ่งที่ทำให้ได้ร่วมทุนกันคือเคมีที่ตรงกัน
“จากที่คุยกัน 9 เดือน มีการทำแผนร่วมกันตลอด มองว่าการลงทุนครั้งนี้มองเรื่องความสุขของผู้เกี่ยวข้องทั้งทีมงาน ลูกค้า แฟรนไชส์เป็นหลัก มีการมองถึง Passion ร่วมกัน มีการคุยกันรู้เรื่องถูกคอ มองถึงวัฒนธรรมองค์กรคัลเจอร์ของเคทีที่ต้องเข้ากับสิงห์ที่มีอายุ 86 ปี การทำอาหารให้อร่อย และเหมือนเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา และทรหด ต้องไม่ฝืน ต้องมีเคมีตรงกัน”
ทางด้าน สุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ได้บอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาคุยกับทางสิงห์ มีบริษัทให้คุยด้วยถึง 50 บริษัท ให้ PWC เป็นผู้จัดหาให้ เพราะต้องหานักลงทุนหลังจากที่กองทุนจะทำการ Exit ออก จากนั้นได้มีการคัดเลือกจนเหลือ 7 บริษัทและได้ตกลงปลงใจกับฟู้ด แฟคเตอร์ในที่สุดเพราะเคมีตรงกัน ราคาเหมาะสม และมีความใจใหญ่พอ
อีกทั้ง ฟู้ด แฟคเตอร์ มี Infrastructure พร้อม ทั้งเรื่องโรงงาน โลจิสติกส์ R&D และเป็นบริษัทคนไทยด้วยกัน พูดคุยกันง่าย จากที่แต่ก่อนเคทีฯ ไม่มี R&D มาก่อนเลย
3. ครอบคลุมธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ–ปลายน้ำ
การมีร้านซานตา เฟ่เข้ามาจะช่วยทำให้ธุรกิจอาหารครบวงจรขึ้น จากเดิมที่มีโรงงาน มีแบรนด์อาหาร การเติมร้านอาหารเข้ามาช่วยทำให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง อีกทั้งยังเข้ามาเสริมเรื่องธุรกิจซัพพลายเชนด้วย
สำหรับแผนในอนาคตเพื่อสร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ ครัวกลาง (Central Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) หลังจากธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร, กลุ่ม Food innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่ม Bevchain logistics การบริหารจัดการและการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น
4. ใช้หน้าร้านเป็นเวิร์กช้อปทดลองสินค้า
นอกจากร้านอาหารจะเป็นพื้นที่สำหรับขายอาหารแล้ว ยังเป็นเหมือนพื้นที่รีเทลไว้ขายสินค้าในเครือด้วย แน่นอนว่าจะได้เห็น “ซอสต๊อด” ภายในร้านซานตา เฟ่ อย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นจะเป็นการขายเป็นเมนูพิเศษ วางขาย 7 สาขา ยังไม่มีวางขายเป็นขวดเหมือนกับขายในโมเดิร์นเทรด
“หน้าร้านถือเป็น Research Center ที่ดี เป็นที่วางสินค้าที่ดี ทำให้ดูผลตอบรับของลูกค้าได้ ถ้าลูกค้าชอบก็มาซื้อใหม่ การทำธุรกิจอาหารเป็นศาสตร์และศิลป์ ไม่มีอะไรลงตัว ต้องมีการทดลองไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม เช่น น้ำดื่ม เบียร์ ข้าวบรรจุถุงพันดี ฯลฯ พร้อมร่วมคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันกับกลุ่มบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด และยังมี Food innovation Center ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงพร้อมพัฒนาเมนูและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับร้านซานตา เฟ่ สเต๊ก และเหม็งนัวนัว
5. สร้างการเติบโตไปถึง 4,000 ล้าน
ปัจจุบันธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจอาหารที่ปิติดูแลอยู่ ยังมีรายได้รวมกันราว 4,500 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้ทั้งหมด การได้ซานตา เฟ่เข้ามาเสริมจะช่วยอัพสเกลการเติบโตของรายได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว
ซึ่งในปีนี้ซานตา เฟ่น่าจะมีรายได้ 1,800 ล้านบาท และมีการตั้งเป้าว่าธุรกิจอาหารจะมีรายได้ 4,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี และถ้ารวมธุรกิจซัพพลายเชนด้วยจะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท