“วอริกซ์ สปอร์ต” ชี้ปีนี้ยอดขายผ่านโมเดิร์นเทรด “ทรุด” ดับเบิ้ลดิจิต สวนทางออนไลน์

อัพเดตผลการดำเนินงานวอริกซ์ สปอร์ต ปี 2562 วางเป้ายอดขายทั้งปี 700 ล้านบาท ชี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดในห้างฯ ตลอดปีทรุดลงดับเบิ้ลดิจิต ขณะที่ยอดขายออนไลน์โตเท่าตัว พร้อมกางแผนงานเตรียมตัวเปิด IPO ตั้งบริษัทโฮลดิ้งในสิงคโปร์ ขยายบริษัทลูกเข้าอินโดนีเซีย-ญี่ปุ่น

“วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด เปิดเผยสถานการณ์ตลาดเสื้อผ้ากีฬาของบริษัท ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขาย 700 ล้านบาท รอบ 10 เดือนแรกทำยอดขายแล้ว 500 ล้านบาท โดยเป็นยอดขายจากช่องทางจำหน่ายโมเดิร์นเทรด ร้านค้าดั้งเดิม ออนไลน์ และช่องทางอื่นๆ กลุ่มละ 25% เท่ากัน

ที่น่าสนใจคือ วิศัลย์ฉายภาพว่ายอดขายผ่านโมเดิร์นเทรดหรือกลุ่มร้านค้าในห้างสรรพสินค้าของวอริกซ์ตกลงแบบ ‘ดับเบิ้ลดิจิต’ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่หนักที่สุด ในทางกลับกัน ยอดขายผ่านออนไลน์โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและการปรับระบบภายในบริษัทให้เอื้อกับตลาดออนไลน์สูงขึ้น ทำให้ยอดขายออนไลน์จากเดือนมกราคม 2562 ทำได้ 5 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนถึงเดือนตุลาคม 2562 มียอดขายออนไลน์ 12.5 ล้านบาทต่อเดือน

“คนไปเดินห้างฯ น้อยลง และคนที่ดูของในห้างฯ ยังไปเพื่อเช็กสินค้าเท่านั้น แต่สุดท้ายเขามาตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แทน” วิศัลย์กล่าว

 

ขึ้นระบบ B2B2C ช่วยร้านค้าท้องถิ่น

ส่วนช่องทางร้านค้าดั้งเดิม วอริกซ์ยังมียอดขายทรงตัวตามปกติ แต่พบว่าร้านค้ารายย่อยเริ่มมีกระแสเงินสดหมุนเวียนติดขัด พบปัญหาการชำระหนี้

แต่บริษัทต้องการมีส่วนร่วมให้ร้านค้าท้องถิ่นยังอยู่ได้ จึงวางโมเดลธุรกิจแบบใหม่ “B2B2C” โดยร้านค้าสามารถตั้งเชลฟ์ของวอริกซ์ในร้าน เมื่อบริษัททำการตลาดออนไลน์แบบ geo-marketing พุ่งเป้าไปที่ลูกค้าในท้องถิ่น ระบบจะแนะนำให้ลูกค้าสามารถเข้าไปลองสินค้าจริงที่ร้านค้าได้ หากสินค้านั้นไม่มีสต็อกภายในร้าน ลูกค้าสามารถสั่งผ่านร้านค้าได้ทันที และร้านค้าจะได้รับส่วนต่างกำไรตามปกติ โดยระบบนี้จะเริ่มต้นใช้งานวันที่ 1 ธันวาคม 2562

วิศัลย์ยังเชื่อว่า ยอดขายรวมทั้งปีจะทำได้ตามเป้าหมาย พร้อมเดินหน้าสู่รายได้แตะ 1 พันล้านบาทในปี 2563 รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่พร้อมจะยื่นไฟลิ่งช่วงครึ่งปีแรกปีหน้า หลังที่ผ่านมาเคยเลื่อนแผนออกไป 1 ปีเนื่องจากต้องการจัดระบบโครงสร้างภายในบริษัทให้เรียบร้อยก่อน

 

ตั้งโฮลดิ้งสิงคโปร์ เตรียมบุกอินโด-ญี่ปุ่น

ด้านแผนงานปี 2563 วอริกซ์ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้งในประเทศสิงคโปร์ จากเดิมที่อยู่ระหว่างพิจารณาจะเป็นประเทศสิงคโปร์หรือเกาะฮ่องกง เนื่องจากขณะนี้ฮ่องกงมีความไม่มั่นคงทางการเมือง และสิงคโปร์มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย จะทำให้บริษัทได้สิทธิประโยชน์

การก่อตั้งโฮลดิ้งนี้เป็นก้าวแรกของการบุกต่างประเทศเต็มตัว โดยจะใช้โฮลดิ้งในสิงคโปร์เป็นฐานรับรายได้จากประเทศอื่นๆ ก่อนส่งเข้าไทย เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการเงินและบัญชีเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สินค้าของวอริกซ์ (photo: Facebook@warrixthailand)

ส่วนการเริ่มทำตลาดต่างประเทศ วิศัลย์เตรียมงบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมตั้งบริษัทใน อินโดนีเซีย ช่วงต้นปี 2563 เป็นบริษัทร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ผู้กระจายสินค้าในท้องถิ่น อัตราส่วนถือหุ้น ไทย 66: 34 อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

“ที่เลือกอินโดนีเซียเพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน คือ 280 ล้านคน และประชากรคนที่ติดตามกีฬาฟุตบอลมีมากกว่า 100 ล้านคน อีกทั้งยังไม่มีแบรนด์ท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีสำหรับวอริกซ์” วิศัลย์กล่าว

ปัจจุบัน วอริกซ์ส่งขายออนไลน์ในอินโดนีเซียมูลค่าเพียง 20 ล้านบาทต่อปี แต่เขาเชื่อว่ามูลค่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 5 ปียอดขายจากอินโดฯ จะมากกว่ายอดขายในไทย 2-3 เท่าตัว โดยใช้กลยุทธ์ License Marketing เหมือนประเทศไทย คือการประมูลลิขสิทธิ์สโมสรเพื่อสร้างแบรนด์ในตลาด นำไปสู่ยอดขาย และในอินโดฯ นั้นวอริกซ์ได้รับลิขสิทธิ์สโมสรดังแห่งหนึ่งเรียบร้อยแล้ว จะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม 2563

ถัดมาที่แผนการบุกแดนปลาดิบ ใช้การเจวีกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นเช่นกันแต่ยังอยู่ระหว่างตกลงอัตราส่วนการถือหุ้น คาดว่าจะก่อตั้งได้ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ในเมืองโอซาก้า สำหรับตลาดญี่ปุ่นนี้ วิศัลย์ไม่ได้มองด้านยอดขายว่าจะเติบโตหวือหวามากนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและประชากรไม่ได้เติบโตสูง แต่ต้องการให้เป็นสปริงบอร์ด สร้างชื่อแบรนด์วอริกซ์ให้น่าเชื่อถือก่อนเข้าสู่ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป

เขายังมีแผนจะให้บริษัทในต่างประเทศทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆ เพราะวางโครงสร้างให้บริษัทลูกสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพิงเงินทุนจากบริษัทแม่