ปั้น Warrix สปอร์ตแวร์แบรนด์ไทย สู่ตลาดโลก

จากเจ้าของโรงงานตัดเสื้อผ้าขนาดเล็ก แถมธุรกิจยังเคยล้มมาก่อน แต่ด้วยมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ไม่เพียงจะทำให้ “วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล”  ก้าวผ่านความยากลำบากมาได้ แต่ยังกลายมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทย ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท ที่กำลังก้าวจากแบรนด์ไทยไปสู่ตลาดโลก

“วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทย ผู้บริหารวัยกลางคนที่ยังไฟแรง เจ้าของ “แบรนด์วอริกซ์” ภายใต้ “บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด” ได้ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาและผลิตเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีคุณภาพ มีการออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าและวัฒนธรรมไทย ควบคู่กับความทันสมัยมีความเป็นสากลอย่างลงตัว เพื่อให้นักกีฬาและแฟนบอลได้สวมใส่อย่างภาคภูมิใจ

ปัจจุบันแบรนด์ Warrix เป็นเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ของไทยที่กำลังจะขยายจากแบรนด์ระดับชาติมาสู่แบรนด์ระดับโลก และคาดว่าปีหน้าจะได้นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่จะทำสัญญากับพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษ และเจลีกของประเทศญี่ปุ่นในอนาคตอีกด้วย

 •  แบรนด์ Warrix  ต้องใช้เงินลงทุนถึง 400 ล้านบาทในการซื้อไลเซนส์หรือลิขสิทธิ์ทีมชาติไทยมา?

ครับ ถ้าเราคิดในวิธีการปกติ เหมือนกับที่พี่ๆ เขาทำไว้ คือมีเสื้อราคาเดียว ก็จะต้องขายหลายแสนตัว แต่ว่าเสื้อทีมชาติไทยในแบบที่เราใส่อยู่ มีอยู่ 3 ราคาในแบบเดียว คือ เสื้อเชียร์ (Warrix Cheer Jersey) ราคา 390 บาท ที่เน้นเรื่องสวมใส่สบาย ในราคาย่อมเยา เปิดตัวไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และชุดแข่งขันชุดหลักของทีมชาติไทย ซึ่งมี 2 แบบ คือ ชุดแข่งขันสำหรับแฟนบอล (Warrix Replica) ราคา 890 บาท และชุดแข่งขันสำหรับนักเตะ (Warrix Player Grade) ราคา 1,990 บาท” และ 3 ราคารวมกันน่าจะได้ประมาณ 1,300,000 ตัวครับ ซึ่งค่าลิขสิทธิ์ผมคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องจ่าย ก็คิดว่าพอจ่ายอยู่ครับ ส่วนตัวเราไม่ได้คิดถึงกำไรหรอก เราคิดว่าสร้างแบรนด์และทำสิ่งดีๆ มีกำไรมาด้วยก็ดี

• ไม่คิดถึงเรื่องกำไร? แล้วในฐานะคนที่สร้างเสื้อนักรบ คนที่ 12 Warrix ทำไมถึงใจกล้าเอาเงินตั้ง 400 ล้านไปทุ่มทุนขนาดนี้ เราได้อะไรจากตรงนี้บ้าง

จริงๆ การประมูลเสื้อลิขสิทธิ์ทีมชาติไทย หรือโลโก้ราคา 400 ล้านบาท มันเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ ยกระดับแบรนด์สินค้าของเราให้เป็นระดับประเทศ ในเมื่อเรามีความพร้อมในเรื่องคุณภาพสินค้า และเทคโนโลยีในการผลิต เป้าหมายของ Warrix คือเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากเสื้อทีมชาติไทยก็จะนำพาให้สินค้า Warrix ขายเพิ่มขึ้นด้วย ในสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร

อย่างยอดขายปีที่แล้วเทียบกับปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่ากว่า เกือบ 4 เท่า ในปีถัดไปก็คาดว่ายอดขายน่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดว่าความคุ้มน่าจะอยู่ที่การพาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การที่เราเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อที่เราจะไปล่าสัญญาทีมชาติในประเทศที่ 2 ในปีถัดๆ ไป หรือสัญญาทีมฟุตบอลในเจลีก ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่เราต้องการไปล่าสัญญาเหล่านั้น มูลค่ามากกว่าสัญญาทีมชาติไทยอีก เราจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน อย่างตลาดหลักทรัพย์เป็นหนึ่งตลาดทุนที่เราต้องเข้าไปถึง เพราะฉะนั้นการทำเสื้อลิขสิทธิ์ทีมชาติไทย เราจึงไม่ได้มองกำไรเป็นที่ตั้ง เรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำแล้วเราภาคภูมิใจ คือสิ่งที่ยกระดับสินค้าที่แฟนบอลได้ใช้ แล้วก็สามารถทำให้เราไปต่อได้

• เสื้อนักรบคนที่ 12 (We are the 12th warrior) มีเอกลักษณ์โดดเด่นยังไงบ้าง

ชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยจากวอริกซ์ ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดนักรบคนที่ 12 หรือ We are the 12th warrior เพื่อสื่อถึงความสำคัญของเหล่ากองเชียร์ มี 2 สี คือ 1) สีดำ เป็นชุดเหย้า มีชื่อว่า “ไชยานุภาพ” และ 2) สีขาว เป็นชุดเยือน มีชื่อว่า “ปราบไตรจักร” ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ของช้างศึกไทย ‘เจ้าพระยาไชยานุภาพ’ ซึ่งเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร และ ‘เจ้าพระยาปราบไตรจักร’ ซึ่งเป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งแม้จะตัวเล็กกว่า แต่ก็มีใจสู้ มุ่งมั่น ยืนหยัดรวมพลัง ร่วมรบในสงครามกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจนได้ชัยชนะ เช่นเดียวกับแฟนบอลและนักเตะช้างศึกไทยที่จะรวมใจและสู้ไปด้วยกัน และที่สำคัญนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลไทยที่เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยสีดำจะทรงพลัง หลอมรวมใจคนไทยเป็นหนึ่งเดียว และปลุกพลังใจและเลือดนักสู้ในตัวคนไทยได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เสื้อช้างศึกวอริกซ์ตัวนี้ ถ่ายทอดปรัชญาและหัวใจของความเป็นไทยผ่านการดีไซน์ในแต่ละรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน เน้นความดุดันแข็งแกร่งดุจนักรบสมัยก่อนที่ออกรบด้วยเลือดนักสู้ พร้อมกับสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจติดตัวที่สร้างพลังใจและความฮึกเหิม นำมาถ่ายทอดลงในเสื้อช้างศึกวอริกซ์ ได้แก่

– ผ้าประเจียดผูกแขน ลักษณะเป็นผ้าพันกันเป็นเกลียวแน่น ใช้ผูกมัดแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง สื่อแทนความสามัคคีของเหล่านักรบ ถูกนำมาออกแบบเป็นลายสานเกลียวเชือกวางบนแขนเสื้อ เพื่อสื่อความหมายเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งนักเตะและกองเชียร์ที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน

– แถบชายผ้าถุงแม่ เป็นสิ่งติดตัวของนักรบในสมัยก่อน ที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้นักรบมีแรงที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันแผ่นดินเกิดและเป็นสิ่งแทนใจให้นึกถึงแม่ผู้เป็นที่รัก ถูกนำมาออกแบบวางไว้ที่ชายเสื้อ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักเตะ ตลอดจนให้ข้อคิดและเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความกตัญญู

– ลวดลายไทย เพื่อแสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยเสื้อวอริกซ์เพิ่มความพิเศษด้วยลายถักทอแนวไทยประยุกต์ มีประกายโดดเด่นสะดุดตา เน้นน้ำหนักลวดลายไทยประยุกต์ให้เฉียงไปทางด้านขวาและเน้นให้เห็นชัดเฉพาะบริเวณที่อกด้านขวาทำให้เกิดมิติดูเหมือนแสงสะท้อนที่สวยงาม

ที่พูดมาข้างต้นเห็นว่าความฝันของ Warrix นั้นไม่ได้เห็นแค่เสื้อที่มีทีมชาติไทยอย่างเดียว อาจจะไปเจลีก พรีเมียร์ลีกเลยหรือ

แน่นอนครับ สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้ ประเทศต่างๆ ที่พูดมาข้างต้นเป็นการทำการตลาดที่ล่วงหน้าหมดเลย เขามีการพัฒนาในเรื่องของการค้าขาย เรื่องธุรกิจ ลิขสิทธิ์เรื่องกีฬาที่แอดวานด์มาก ต้องเจรจา ต้องคุยล่วงหน้าหลายปี เราฝันแล้วเราก็ต้องทำฝันนั้นให้เป็นจริงครับ

 • แสดงว่าเราไม่ได้มองว่าเสื้อ Warrix หรือโรงงานที่ผลิตเสื้อ Warrix เป็นแค่อุตสาหกรรมสิ่งทอ

ไม่ใช่เลยครับ ถ้าบอกว่าสิ่งทอ เราต้องเป็นคนรับจ้างผลิต แบบสมัยก่อน พอค่าแรงขึ้นปุ๊บก็ปิดโรงงาน เราทำธุรกิจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ธุรกิจไลเซนส์ สมัยก่อนอาจเปรียบเทียบลิขสิทธิ์หนัง ลิขสิทธิ์เพลง ที่ผู้ผลิตอยู่ต่างประเทศ แต่ตัวแทนจำหน่ายเมืองไทยเป็นคนที่ซื้อลิขสิทธิ์มา มาทำแผ่นซีดีขาย มาทำให้เพลงขายดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือการประมูลสิ่งเหล่านี้มา หรือลิขสิทธิ์ของทีมชาติอื่นๆ มา ตลาดมันเป็นตลาดที่กว้าง เราได้ลิขสิทธิ์เหล่านี้ เราก็ต้องมาทำสินค้า ที่มีกำไรเพียงพอจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ได้ และมีเหลือกำไร มันอาจจะไม่ใช่สินค้าที่ผลิตทั้งหมด เช่น รองเท้าหนัง เสื้อสูท เราก็อาจสามารถหาโรงงานผลิตสินค้าดีๆ ที่ผลิตสูทตัวนึง 50,000 บาท มาให้นักฟุตบอลใช้ แล้วเราก็ยังมีสินค้าที่มาขายด้วย

• คิดว่าตัวเองได้เปรียบไหมในเรื่องของการได้ลิขสิทธิ์ไลเซนส์มา เพราะเรามีผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ มีโรงงานเป็นของตัวเอง มีผ้าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

จริงๆ มีส่วนที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ ส่วนที่ได้เปรียบ คือแน่นอนว่าเราจะผลิตสินค้าเร็วๆ หรือเราจะทำสินค้าที่ควบคุมคุณภาพสินค้าสูงๆ เราได้เปรียบเพราะเราทำเองหมดเลยทุกขั้นตอนในโรงงาน ตั้งแต่นำเข้าเส้นด้ายมาทอผ้าเอง เย็บเอง ปักเอง พิมพ์เอง จะได้งานที่เร็ว และมีคุณภาพดี แต่ในแง่ของสิ่งที่เราจะโตไปกว่านั้นคือ บริษัทจะต้องโตกว่ากำลังผลิตที่โรงงานมี ในยอดขายถ้าเราเติบโตขึ้น เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณสัก 500 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งโรงงานเราโตไม่ทัน เราก็สามารถไปจ้างผลิตโรงงานที่เขามีมาตราฐานเทียบเท่ากับแบรนด์ชั้นนำของโลก เราก็สามารถจ้างได้ หรือสินค้าที่เราไม่ผลิตเลยจริงๆ อย่างรองเท้า เราก็ต้องจ้างผลิต ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าเราจะมองก็เป็นทั้งการได้เปรียบ และเสียเปรียบนะครับ

• พอมันอยู่ในรูปที่เราต้องระดมทุนแบบตลาดหลักทรัพย์ หลักการหรือวิธีการที่จะทำอุตสาหกรรมหรือทำธุรกิจนี้ มีความเหมือนและความต่างกันยังไงบ้าง

สิ่งแรกที่เราต้องทำเลยก็คือ เราต้องทำให้บริษัทมีระบบการบริหารงานที่โปร่งใส เริ่มจากการประมูลสัญญา เราไม่จ่ายใต้โต๊ะเลย แต่เราเอาเงินที่เรายินดีจะสนับสนุนทั้งหมดใส่เข้าไปในเอกสารที่ยื่นการประมูล เพื่อให้เงินทั้งหมดเข้าไปพัฒนาองค์การฟุตบอลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

หลักการที่สอง เราจะต้องมีการบริหารจัดการภายในเป็นอย่างดี งานต้องมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้บริษัทเราสามารถสร้างยอดขาย ให้คุ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อทีมชาติไทยให้เราพิสูจน์ตัวเราเองว่าเราทำได้แน่นอน ทีมฟุตบอลในต่างประเทศ ทีมชาติในต่างประเทศ เขาก็จะมั่นใจในแบรนด์สินค้าของเรา ที่ทำให้เราสามารถไปเสนอตัวในการรับใช้แฟนบอลในประเทศอื่นๆ ได้อีก เหมือนจะเป็นฝันที่ใหญ่มากเลยนะแต่เราต้องคิดต่าง

• แต่ก่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอที่บ้านเราเติบโตมาก แล้ววันหนึ่งมันก็ถดถอยลง เรียกได้ว่าแทบจะติดลบในสายตาคนอื่น ไม่ทราบว่ามองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

โลกมันเปลี่ยนไป เราก็มองว่าสิ่งทอไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้ทำสิ่งทอ เราทำเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา แล้วทรัพย์สินทางปัญญามีค่าที่ประเมินไม่ได้ อยู่ที่เราจะสร้างให้มันมีขนาดใหญ่โตขนาดไหน อย่างเช่นเสื้อทีมชาติไทย คนประเมินว่า วันแรกที่ประมูล 400 ล้านบาท ผู้ใหญ่ที่หวังดีต่างๆ นานา โทร.มาเลย กลัวเจ๊ง ต้องขายกี่ตัว แต่จริงๆ พิสูจน์มาแล้ว 3 เดือน เราก็ขายเสื้อไป 3 แสนกว่าตัวแล้ว แฟนบอลสามารถเข้าถึง จับต้องได้ง่าย ไป 7-11 หมื่นสาขามีหมด แล้วเราก็ผลิตของออกมาดีพอสมควร ผมคิดว่าแฟนบอลจะยังไง บอลจะแพ้ชนะยังไง อนาคตสมาคมฟุตบอลต้องเดินต่อไป

• มองการขยายช่องทางการจำหน่ายไว้อย่างไร  เห็นว่ามีการขยายทั้งร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีลเฟเว่น และออนไลน์  

มีทั้งในส่วนที่เป็นร้านค้า ตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่แล้วดั้งเดิมของเรา ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าทุกยี่ห้อ และเพิ่มของการค้าขายออนไลน์ แล้วเราเข้าใจถึงพฤติกรรมของแฟนบอลคนไทยเป็นอย่างดี เช่น แฟนบอลในจังหวัดนครราชสีมา แฟนบอลจังหวัดศรีสะเกษที่อยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ชลบุรี ตามนิคมอุตสาหกรรม เขามีความต้องการอะไร ยังไง เราต้องเรียนรู้ และรับฟังคำติชม จนเราเข้าใจแฟนบอล และเรารับฟังความเห็นของแฟนบอล ก็ทำให้เราผลิตสินค้ามาตอบสนองความต้องการของแฟนบอลได้ค่อนข้างพึงพอใจครับ

เราแก้โจทย์การตลาดตามทฤษฎีพื้นฐานเลยว่า ในยุคที่ผมเรียนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การตลาดบอกว่า 4P (Product Price Place Promotion) สิ่งที่เราวิเคราะห์ตัวเราเอง 10 ปีที่ผ่านมา แฟนบอลชาวไทยซื้อเสื้อได้ที่กี่จุดจัดจำหน่าย เราพบว่าไม่กี่ร้อยจุด คนไทยเพิ่มมา 15,000 จุดได้ เราก็ไปคุยกับ 7-11 ซึ่ง 7-11 มีประมาณ 10,000 สาขา บวกกับช่องทางการจำหน่าย 7-11 24 ชั่วโมง ที่ 0-2 711-7600 เป็นคอลเซ็นเตอร์โทร. 24 ชั่วโมง แฟนบอลก็สั่งของได้ทั้งกลางวัน กลางคืน 24 ชั่วโมง ไปซื้อของ ไปรับของได้ที่เซเว่นใกล้บ้าน นั่นก็เป็นการทำลายอุปสรรคในเรื่องของช่องทางจำหน่าย ออกหมดสิ้นเลย รวมถึงการขายออนไลน์ด้วย อย่าง lazada หรือLine@ (ไลน์แอท) เราก็ขายตรงนี้ได้ตัวเลขที่น่าสนใจพอสมควรเหมือนกัน

จะบอกว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับเพราะทีมชาติญี่ปุ่นก็มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ รับของที่แฟมิลี่มาร์ทในญี่ปุ่น มีมาแล้ว เขาก็ขายได้เยอะด้วย เราก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

 • พอเราเข้าช่องทางนี้มันก็ทำให้ง่ายขึ้น แบบนี้แล้วเสื้อฝั่ง Warrix ที่เราทำตอนนี้กำลังการผลิตเราเพียงพอไหม

เสื้อฟุตบอลล็อตแรกเราผลิตไป 5 แสนกว่าตัว เสร็จตั้งแต่ช่วงมกราคม กุมภาพันธ์แล้ว ส่วนที่กำลังทำเติมเป็นส่วนของเสื้อซ้อมรุ่นใหม่ๆ ที่เราต้องออกเสื้อซ้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสื้อที่เราขาย เสื้อแข่งผลิต เราก็ผลิตแบบเดิม ในปีนี้ ปีหน้าอาจจะมี อาจจะนะครับ ไม่ใช่สิทธิ์ของเรา เป็นสิทธิ์ของสมาคม เปลี่ยนโลโก้ และเรื่องของการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ คงเสนอขายในปีหน้า ในไลน์ผลิตที่เห็นตรงนี้ก็น่าจะเป็นเสื้อกีฬาฟุตบอล สิ่งที่เห็นก็น่าจะเป็นอย่างหนึ่งของเสื้อของทีมฟุตบอลของสโมสรชัยนาทที่เราทำ ซึ่งเป็นคุณภาพที่ดีมาก เป็นลักษณะของดีไซน์ที่ทันสมัย คุณภาพผ้าก็ดี เป็นสิ่งที่ทีมชาติไทยเราได้ใช้ของดีๆ สโมสรที่เราสนับสนุนก็ได้ใช้ของที่ดีๆ

• แล้วเราจะยังใช้ระบบประมูลเหมือนเดิมหรือไม่

ใช้ครับ เรามีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จะเป็นตัวเงิน หรือเป็นของ ก็อยู่ที่รูปแบบสัญญาแต่ละสัญญา ที่เห็นอยู่ไลน์ถัดไปก็จะเป็นของสโมสรอุดร อุดรธานีเอฟซี ก็จะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์เหมือนกัน ที่เรายื่นไปสนับสนุนทีมฟุตบอลสโมสรอุดรธานี แฟนบอลก็เยอะมาก

เห็นว่าเสื้อฟุตบอลไทยของ Warrix ที่ทำมามีหลายแบบ ดีไซน์เอาไว้แบบละเอียด ทุกแบบนี่ใส่รายละเอียด ใส่เรื่องราวลงไปเยอะมากเลยใช่ไหมคะ

เต็มที่เลยครับในการผลิต ก่อนที่จะมาเย็บแบบนี้มันจะต้องถูกพิมพ์ ถูกปักมาให้เรียบร้อย แต่พอพิมพ์ปักเรียบร้อย เราก็เอามาประกอบเป็นตัว รายละเอียดตรงนี้ก็จะเอามาตัดเย็บในไลน์ผลิต สิ่งที่ต้องทำคือ พิมพ์ผ้า พิมพ์โลโก้ฟุตบอล ด้านหลังก็เป็นตรามหามงกุฏ อันนี้เป็นสิ่งที่เราเตรียมตกแต่งสินค้าก่อนเย็บ ก่อนประกอบเป็นตัว

สิ่งที่เราทำคือในความเป็นสากลเขาทำกัน ก็คือ เสื้อที่นักฟุตบอลใส่ทุกชิ้นต้องมีน้ำหนักเบา โลโก้ดูเหมือนกัน แต่โลโก้ที่นักฟุตบอลใส่กับตัวที่แฟนบอลใส่ หรือตัวที่เป็นเสื้อเชียร์จะมีน้ำหนักต่างกัน ตัวที่นักบอลใส่จะมีน้ำหนักเบามาก เบาที่สุด เพราะเขาใส่ไปชั่ง  ต้องเป็นเท่านี้ กี่กรัม ต้องมีการระบายเหงื่อเท่านี้เท่านั้น ต้องผ่านการทดสอบนห้องแล็บ แต่ตัวที่แฟนบอลใช้ เราสามารถรับได้ ถ้าน้ำหนักมากขึ้น มีความคงทน ซักแล้วทนมากขึ้น วัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ต้นทุนเหล่านี้แพงมาก แต่ละชิ้น เทียบเท่ากับเสื้อฟุตบอลในประเทศยุโรปเลย ของที่ขายเป็นทีมชาติในประเทศยุโรป ก็มาจากเมืองไทยทั้งนั้น เราก็เลือกของดีๆ มาใส่ของทีมชาติ

รายละเอียดพวกนี้ ต้องมีเรื่องราวครบทุกอย่างแม้แต่ตราพระมหามงกุฏด้านหลัง อันนี้ก็จะให้เห็นว่ามีสีเงินกับสีทอง สีทองคือตัวที่นักฟุตบอลใส่ ก็คือเหมือนได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 แต่สีเงินเราทำไว้สำหรับแฟนบอลใส่ ให้แฟนบอลได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของการให้เกียรตินักฟุตบอลของเรา

อย่างอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าทีมออกแบบเสื้อ ผมเรียนเชิญอาจารย์ชาริญ ละมาไพร ท่านเป็นนักออกแบบอาวุโสของเมืองไทยเลยนะครับ ก็มีคนคอมเมนต์มากมาย แบบเสื้อที่ผมทำ มีการเซอร์เวย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ แฟนบอล เซอร์เวย์ต่างๆ แต่ก็ยังดีที่แบบไม่หลุด ก็เลือกคนที่เซอร์เวย์ คนวิจารณ์ต่างๆ มากมาย แบบเสื้อมันอย่างนั้นอย่างนี้ คุณภาพมันอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านอาจารย์ชริญบอกผมว่าผมต้องเชื่อตัวเอง แบรนด์นี้มันมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของผม มาจากสัญชาตญาณของผม ผมเลือกอะไรคิดถ้วนถี่แล้ว เราต้องเลือกสักอย่างหนึ่ง สุดท้ายผมก็เลือกเรื่องราวช้างศึกของพระนเรศวร ผมเลือกเรื่องราวของการกู้บ้านกู้เมือง ให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น เลือกเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องของการกตัญญูต่อมารดา อย่างเช่น ตัวชายเสื้อนี้ที่ให้นักฟุตบอลที่ผมจะทำการตลาดต่อจากนี้มาสื่อเรื่องของการให้เกียรติผู้หญิง

• ฟังมาทั้งหมดรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่โลโก้ แล้วแบบนี้คิดว่าเรื่องในเสื้อของเราถึงเยาวชนด้วยเลยหรือไม่

ยังไม่มากครับ เราจะมีกิจกรรมที่เกิดจาก Warrix เมมเบอร์การ์ด ในเสื้อทุกตัวจะมีบัตรสมาชิก  ไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์เราได้ เราจะมีกิจกรรมที่ให้ชาริล ชัปปุยส์ พาแฟนบอลไปเที่ยวที่สุพรรณบุรี เราจะมีกิจกรรมที่จะให้กวินไปทำกิจกรรมร่วมกับแฟนบอล หรือนักฟุตบอทีมชาติไปสอนเยาวชนว่าสุภาพบุรุษคืออะไร แล้วผมก็ให้โจทย์ไป พรีเซนเตอร์เราจะช่วยคิดมาว่าสุภาพบุรุษกับลูกผู้ชายต่างกันอย่างไร ซึ่งต่างกันเยอะเลยนะครับ เพราะสุภาพบุรุษจริงๆ แล้วไม่ใช่คนที่เอาชนะ แบบที่ได้มาทุกวิถีทางนะ เราต้องมีชัยชนะอย่างสง่างาม ต่อให้เราต้องแพ้ เราก็แพ้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ก้มหัวให้กับความอยุติธรรม ส่วนลูกผู้ชาย ต้องชนะเท่านั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ ให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมาโดยไม่สนใจจริยธรรมก็ได้ สำหรับผู้ชายบางคนนะครับ แต่สำหรับผู้ชายบางคนที่ไม่ใช่แบบนั้น เราจะให้เกียรติเขาว่าคือสุภาพบุรุษ

ระหว่างลูกผู้ชาย กับสุภาพบุรุษ การมองสุภาพสตรี หรือผู้หญิงก็ต่างกัน เรามองผู้หญิงคนหนึ่งแบบที่ให้เกียรติเขา มองความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย วิธีการประพฤติ ปฏิบัติ การให้เกียรติผู้หญิง คำว่าการกระทำของคนเป็นสุภาพบุรุษ จะแตกต่างกับของคนที่เป็นลูกผู้ชายอย่างมาก นี่คือสิ่งที่นักฟุตบอลควรนำไปสอน

แล้วเราก็ได้ผู้พันเบิร์ด (วันชนะ สวัสดี) พระนเรศวรของเรามาเป็นต้นแบบในการสอนความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นคุณพ่อ ความเป็นผู้นำ ความเป็นทหาร ก็มาสอนเยาวชนด้วย สอนแฟนบอลที่อยากจะเรียนรู้ข้อคิดต่างๆ การใช้ชีวิตของผู้พันเบิร์ด

เรื่องราวของเสื้อหนึ่งตัว มันไม่ใช่แค่เสื้อที่เปียกเหงื่อแล้วซัก มันคือเรื่องราวของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเปลี่ยนโค้ช เปลี่ยนนายก เปลี่ยนนักฟุตบอลกี่รุ่น แฟนบอลก็ยังคงอยู่กับสโมสรต่อไป ที่ผมบอกว่าแฟนบอลคือประธานสโมสรของทีมชาติไทย

ผมคิดว่านักกีฬาฟุตบอลเป็นต้นแบบของเยาวชน แล้วนักกีฬาที่เราได้มาเป็นพรีเซนเตอร์ต้องสอนว่า การเป็นสุภาพบุรุษในสนามและนอกสนาม ให้เกียรติผู้หญิงต้องทำยังไง ผู้หญิงคนแรกที่ต้องให้เกียรติ ให้ความศัทราและเคารพก็คือแม่ แล้วก็ต้องสอนเรื่องของความสามัคคี การเล่นเป็นทีมคืออะไร เรื่องของความเป็นชาติคืออะไร ถ้าคนในชาติสามัคคี ก็สามารถจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ เศรษฐกิจไม่ดีอะไร ภาวะการเมืองต่างๆ มันก็เป็นสิ่งที่มีบทเรียนสอนเราในอดีตอยู่แล้ว เอาประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ ให้เยาวชนฟัง ออกมาเป็นเสื้อตัวนี้ เป็นสิ่งที่เราเลือก และทำให้เกิดขึ้น

• แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันที่เรารู้ว่าทำธุรกิจมาถูกทางแล้วอาจจะต้องเคยประสบพบเจอกับปัญหาอุปสรรคมาบ้าง ไม่ทราบว่าเราผ่านมาได้ยังไง

ชีวิตเราเกิดมา ผมเชื่อว่ามีชีวิตเดียว ไม่มีหลายชีวิต ใช้ให้คุ้ม แล้วสิ่งต่างๆ ที่เราทำเรามองว่าศักยภาพของเรามีเท่าไหร่ เราก็ต้องให้มันออกมา เราก็ต้องสร้างความฝันให้เป็นจริง มีผู้ประกอบการเยอะแยะมากมายเลยที่มีฝัน แต่ไม่กล้าทำ แต่สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การกระทำโดยขาดสติ คิด วิเคราะห์ วิจัย สำรวจข้อมูล อย่างถ้วนถี่ แล้วเราร่วมกันพิจารณาแล้วว่าเรารับความเสี่ยงได้ เราก็ต้องกล้าที่จะทำมัน สิ่งที่ทำก็จะต้องพิสูน์ออกมา ถ้าเราไม่ทำ จะไม่เกิด

ยอมรับนะครับว่าเรามีช่วงเวลาที่ทุกข์ใจ ผมทุกข์ใจมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นมาตั้งแต่ที่บ้านธุรกิจล้ม สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่สอนเราให้เราเข้มแข็งขึ้น ผมเรียนรู้และถูกสอนในโบสถ์ ผมเป็นคริสเตียน ถูกสอนมาตลอดว่า ชีวิตเราต้องอยู่ด้วยความหวัง และทัศนคติบวก ถ้าเรามีทัศนคติบวก แม้สถานการณ์เลวร้ายก็มีโอกาสอยู่ในนั้น แล้วถ้าเราคิดบวก ทัศนคติบวก เราคิดถูก การกระทำจะถูกด้วย เราเลือกที่จะใฝ่ดี ถ้าเราใฝ่ดี เราตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ผมเชื่อว่าโอกาสสำเร็จมันมีมากกว่าล้มเหลว

 • คิดอย่างไรกับการที่คนชอบพูดว่า เวลาเราทำธุรกิจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นลิขสิทธิ์ เป็นการออกแบบ แบบใหม่ๆ เวลาก่อนเราจะคิดหรือทำ กว่าเราจะไปได้มันยาก มันเหนื่อย แต่เวลาคนก๊อบปี้กลับง่ายมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเรา คิดว่ามันจะทำให้เป็นอุปสรรคของเราไหม

แน่นอนครับ ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยนะครับ ผมคิดว่าคนทำธุรกิจถูกต้อง เราก็เหนื่อยกว่าคนทำที่เขาทำไม่ถูก โดยเฉพาะกฎหมายบ้านเราที่ตัวกฎหมายเขียนไว้สวยหรู แต่ทางปฏิบัติยังทำไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก หน้าที่ของเราคือมีหน้าที่แข่งกับตัวเอง เรามีหน้าที่ทำสินค้าออกมาในกลุ่มแต่ละราคา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน อย่างเช่นเสื้อตัวเชียร์ 390 บาท เสื้อเด็กของทีมชาติไทย 290 บาท ของปลอมเหนื่อยเลยนะ จะทำแข่งออกมาแบบนี้ ถ้าเราทำสินค้า 890 บาท 1,000 บาท แน่นอนว่าของปลอมก็อยู่ได้อย่างสุขสบายใจ สิ่งที่เราทำ เราก็แข่งกับตัวเอง ทำสินค้าคุณภาพดีที่สุด ในต้นทุนที่เราแข่งขันได้มากที่สุด แล้วก็แฟนบอลก็เลือกเองว่าจะซื้ออะไร

• ในฐานะคนทำธุรกิจ เรามีการแบ่งโซนยังไงระหว่างเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัว

ผมใช้น้ำหนักส่วนมากอยู่กับงาน 2 ใน 3 ของเวลาที่ตื่นนอน เวลาส่วนตัวก็มีเวลาเรื่องของดูแลสุขภาพ ชีวิตส่วนตัวก็จะน้อยหน่อย เบาหน่อย

ผมว่าการบาลานซ์ในชีวิต มันมาจากปรัชญาการใช้ชีวิต ปรัชญาการใช้ชีวิตที่ผมยึดถือมาตลอด ฟังดูแล้ว ถ้าคนไม่ได้มาคุยกันจะไม่เข้าใจนะ คนที่หิวเงินจะไม่มีวันอิ่มเงิน ทุกอย่างที่ทำมันจะตั้งมั่นอยู่บนความโลภ เอาเงินเป็นที่ตั้ง เอากำไรเป็นที่ตั้งสูงสุด สำหรับเรา ลูกน้องที่ทำกับเรา เราจะบอกเขาเลยว่า กำไรไม่ใช่เบอร์หนึ่งนะ บางอย่างทำแล้วขาดทุนเพื่อต้องรักษาคำพูด รักษาเครดิต เราก็ต้องทำ บางอย่างเป็นการทำเพื่อให้เราได้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินก็ต้องทำ ผมคิดว่า ถ้าเอาหลักการนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิต มันก็จะต่างไปอีกว่า ถ้าทำงานอย่างเดียว หาเงิน สุดท้ายมันก็จะแลกกับสุขภาพ แลกกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับเพื่อน กับครอบครัว สุดท้ายได้เงินมาก็ตายไป เอาเงินไปไม่ได้ ผมว่ามันก็มีหลักการในการใช้ชีวิตที่ส่งผลกับการทำธุรกิจครับ

• ถามถึงเรื่องโรงงานหน่อยค่ะว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารจัดการระบบงานคืออะไรคะ

ระบบการบริหารจัดการ ผมว่าเป็นเรื่องการทำให้คน ปัจจุบันก็เกือบ 1,000 คน สามารถทำงาน แล้วก็เห็นเป้าหมายร่วมกัน สามารถส่งมอบงานได้ทันเวลา มีคุณภาพ แฟนบอลทุกคนเวลารับเสื้อไป เสื้อตัวนี้หลายๆ คนบอกว่าเป็นเสื้อที่แพงที่สุดในบ้าน อันนี้ก็เป็นความภูมิใจของแฟนบอล เราก็ต้องส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา

เราอยู่กับทีมงาน เราไม่ได้อยู่ด้วยเงิน เราอยู่ด้วยใจ พนักงานหลายคนถามว่า ชวนมาทำงานได้ไง ผมก็บอกว่า ผมเอาใจไปแลกใจมา ถ้าใครจะเอาลูกน้องผมไป ต้องเอาใจเขาไปให้ได้ก่อน แน่นอนเรื่องของผลตอบแทน เรื่องของสวัสดิการ เราก็ทำดีที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ แบรนด์ใหญ่ๆ ถามว่าเขาจะมาทำแบบเราไหม ผมก็เชื่อว่าทั้งอาจจะอยากทำและไม่อยากทำ แต่เราก็ไม่ได้กลัว สิ่งที่เราสร้างมาคนอื่นจะสามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน บางคนอาจจะทำได้ดีกว่าเราก็ได้นะ ไซส์เขา ความรวดเร็วในการผลิตของเขา ความคล่องตัวในการปรับตัวจะเหมือนเราหรือเปล่าไม่รู้ สามารถทำงานเร็วๆ บอกต้องการของวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้บอลเตะประเทศนู้น 9 โมงเช้า คืนนี้เที่ยงคืนให้ไปส่ง คนอื่นทำได้ไหมเราไม่รู้ แต่เราทำได้

• ท้ายนี้คิดยังไงกับธุรกิจไลเซนส์ที่เราทำอยู่ตอนนี้ ถือว่าเป็นธุรกิจประกอบการยุคใหม่ที่เติบโตมากน้อยยังไงบ้างในเมืองไทย

ในเมืองไทยผมคิดว่าคนยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่องธุรกิจไลเซนส์ หรือเรื่องของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์เสื้อผ้ากีฬา หรือลิขสิทธิ์ในธุรกิจต่างๆ ผมเองผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นโลกที่เปลี่ยนไป ถ้าเราก้าวทันโลก เราก็นำโมเดลธุรกิจเหล่านี้มาพูดคุย ค้าขาย และทำให้เกิดธุรกิจกับสโมสรฟุตบอล ซึ่งวิธีการเดิมๆ อาจจะดีอยู่ ในบางเรื่อง แต่ว่าเรื่องใหม่ๆ ที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า ธุรกิจแบบนี้ มันดี มันเวิร์กในต่างประเทศ เราก็คิดว่ามันน่าจะเวิร์กสำหรับคนไทยด้วย

สั่งซื้อสินค้าวอริกซ์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ได้แก่ เซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศ ผ่านระบบ 24 Shopping, (Call center: โทร. 0-2711-7600) Super Sports, Ari, Lazada, Thai Ticket Major, ร้านตัวแทนจำหน่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศ, Face Book: facebook.com/warrixofficial, Line ID: @warrix.co.th และ Website: www.warrix.co.th

สัมภาษณ์ : กมลพร วรกุล
เรียบเรียง : วรัญญา งามขำ


ที่มา : https://manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000049660