เจาะลึกพฤติกรรม Gen Y ทำไมเป็นวัยหนี้ท่วม?

ใครๆ ก็ว่าชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดในเรื่องของการใช้เงิน จริงหรือไม่ (ลองถามใจดู) เนื่องด้วยพฤติกรรมยุคใหม่ที่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน แฟชั่นก็ต้องมา ของอร่อยก็เยอะ ทำให้วัยนี้ที่เริ่มมีรายได้มั่นคงมากขึ้นกว่าช่วงเรียนจบใหม่ มักมีค่าใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นเพิ่มตามไปด้วย และในที่สุดก็กลายเป็นหนี้

เปิดสำรวจพฤติกรรมใช้เงิน Gen Y

เปิดมาด้วยประโยคสะเทือนใจว่า จำนวนคนกลุ่ม Gen Y (ช่วงอายุ 23-38 ปี) ในไทยมีอยู่ 14.4 ล้านคน โดยกว่า 50% (ราว 7.2 ล้านคน) ของชาว Gen Y ทั้งหมดเป็นหนี้และเฉลี่ยภาระหนี้ตัวหัวสูงถึง 4.23 แสนบาท และที่สำคัญคือ “กว่า 1.4 ล้านคน เป็นหนี้แบบผิดนัดชำระ” ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย 7% ของยอด NPL รวม

นี่คือผลงานวิจัยล่าสุดจาก ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี จับมือกับ Wisesight (ไวซ์ไซท์) สำรวจพฤติกรรมทางการเงินของ Gen Y ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 เพื่อหวังจะช่วยกระตุ้นในเกิดการออมเงินที่ดีขึ้น

โดย 3 ทัศนคติที่ก่อให้เกิดหนี้ทั้งที่อาจจะไม่จำเป็นนั้นมาจาก

  • การบริโภคนิยม
  • ตัดสินใจซื้อแบบไม่คิด
  • ความสุขที่ซื้อด้วยประสบการณ์
Photo : Pixabay

ฝันอยากมีบ้าน มีรถ ความจริงน่าเศร้า…มีแต่หนี้

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยข้อมูลว่า จากการสำรวจความใฝ่ฝันของชาว Gen Y ที่อยากมีก่อนอายุ 40 ปี นั้นพบว่าอยากมีบ้านมากที่สุดถึง 48% รองลงมาเป็นรถยนต์ 22% และเงินออมทรัพย์-สินทรัพย์ 13%

แต่เมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริงพบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย “ของมันต้องมี” มากถึง 69% สวนทางกับสิ่งที่ฝันอยากมี เช่น บ้าน และรถยนต์ ที่มีสัดส่วนที่ลดลงมากแค่ 12% และ 10% ตามลำดับ รวมทั้งสัดส่วนเงินออมที่มีอยู่เพียง 9% เท่านั้น

ส่วนใหญ่ Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี โดยเฉลี่ยตกคนละ 95,518 บาทต่อปี จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 377,694 บาท โดยใช้ซื้อสินค้ายอดฮิตอย่าง สมาร์ทโฟน 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และนาฬิกา/เครื่องประดับ 2%

รายจ่ายของมันต้องมี พุ่งปีละ 1.37 ล้านล้าน

ถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี

ทำไมชาว GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี”

จากผลสำรวจพบว่า มีเหตุผลหลักๆ เช่น ซื้อตามเทรนด์กลัวเอาท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%)  แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics

อยากมีเงินเก็บเป็นล้าน แต่ออมเงินได้ไม่กี่พัน

กลุ่ม GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนปกตินั่นเอง

และเมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่

ใช้เงินก่อนออม VS ออมเงินก่อนใช้

หากแบ่งแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่

  1. กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี”

โดยพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม เมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

2) กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้”

กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม คือพอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

โดย TMB Analytics ฝากคำแนะนำถึงชาว GEN Y ว่าจะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกคือ ลดเงินที่ใช้กับ“ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% เพราะหากเลิกทั้งหมดคงจะดูหักดิบเกินไป และต้องทำควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เช่นหากเก็บไว้ 10 ปีจะซื้อรถยนต์ได้ 20 ปี เซ้งร้านขายกาแฟที่ทองหล่อได้ และ 30 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมย่านห้วยขวางได้ เป็นต้น

พลังของ Influencer กับแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40

พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์เก็บข้อมูล ว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น อันดับ 8 ของโลก

สำหรับจำนวนผู้ใช้โซเชียลในประเทศไทย พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น  3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y

จำนวนโพสต์โดย Influencers ในช่วง 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม 2562) มีจำนวน 545,000+ ( facebook 72% , Instagram 15% , Twitter 10%, Youtube 4%) โดยมี Engagement ที่เกิดขึ้น 1.3 พันล้าน (facebook 67% , Instagram 22% , Twitter 3%, Youtube 7%)

“การทำแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกันดังนี้ คนที่ติดตาม กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ก็จะเป็นเป้าหมายเรื่องการเก็บเงิน มีบ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิต ด้านกลุ่มคนที่ติดตามบล็อกเกอร์สายเที่ยว ก็จะมีเป้าหมายเรื่องเที่ยว เรื่องการใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยมีการวิเคราะห์ทั้งหมดจาก 14,140 คอมเมนต์”

โดยเพจ I ROAM ALONE ผู้ติดตามกว่า 20 % เลือกเป้าหมายการใช้เงินไปที่การเที่ยว ตามมาด้วยเพื่อความสุข 12% ส่วนเพจ F.HERO เลือกเป้าหมายเป็นมีบ้าน 21 % ตามมาด้วย ปลดหนี้ 16% เป็นต้น